เศรษฐกิจหลังโควิด ในมุมมอง ‘แบงก์ชาติ’

เศรษฐกิจหลังโควิด ในมุมมอง ‘แบงก์ชาติ’

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญภาวะถดถอยขั้นรุนแรง ผู้ว่าการแบงก์ชาติชี้ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนไป โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่เราจะปรับตัวเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหน และหลังโควิด-19 ต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรใหม่

ชัดเจนแล้วว่า “เศรษฐกิจไทย” กำลังเผชิญกับ “ภาวะถดถอย” ขั้นรุนแรง จนเรียกได้ว่าเป็น “วิกฤติเศรษฐกิจ” รอบใหม่ และเป็นวิกฤติที่อาจหนักกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 โดยวิกฤติคราวนี้มาในรูปของ “โรคระบาด” ที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” เป็นการมาแบบที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ล่วงหน้า หลายธุรกิจจึงไม่ทันได้ตั้งตัว ที่สำคัญวิกฤติคราวนี้ไม่ใช่เพียงแค่กระทบพื้นฐานเศรษฐกิจเท่านั้น แต่กำลังเขย่า “โครงสร้างเศรษฐกิจ” ของโลกใบนี้ เพราะ “โควิด-19” บีบให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

อาจมีคำถามว่า หลังวิกฤติโควิดผ่านพ้นไป เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างไร จะเป็นรูป “V Shape” “U Shape” หรือ “L Shape” ซึ่งสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจแต่ละแห่ง มีมุมมองต่อเรื่องนี้แตกต่างกันไป แต่สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” แล้ว ...มองว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในรูป “เครื่องหมายถูก” กล่าวคือ เป็นภาพที่เศรษฐกิจดิ่งลงมาแรง และฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยเฉพาะในช่วงแรกจะมีลักษณะค่อยๆ ซึมขึ้น

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การจะหวังให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบ “V Shape” คงยาก! …เพราะการฟื้นตัวในรูปนี้ ส่วนใหญ่เกิดในกรณีที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบเพียงช่วงสั้นๆ ไม่ส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เรากำลังเห็นหลังโควิด คือ โครงสร้างเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนไป โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่เราจะปรับตัวเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหน ถ้าเราปรับตัวเข้ากับโครงสร้างใหม่ได้เร็ว เศรษฐกิจก็คงฟื้นตัวแบบวีเชฟได้ แต่ถ้าไม่ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวคล้ายกับรูปเครื่องหมายถูก

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ประเมินว่า หลังโควิด โครงสร้างเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปพอสมควร แต่คงไม่ถึงขั้นเกิดการทวนกระแสของโลกาภิวัตน์ (deglobalization) เพียงแต่จะเป็นโลกาภิวัตน์ในรูปแบบใหม่ๆ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจโลกยังไงก็ยังมีความเชื่อมโยงกันสูง ความเชื่อมโยงใหม่อาจมาในรูปของดิจิทัลที่มากขึ้น มีลักษณะเป็น digital based globalization ...ในฝั่งของ “supply chain” ก็เช่นกัน คงเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่พึ่งพากันเองในภูมิภาคมากขึ้น ดังนั้นภาพของ globalization อาจจะกลายเป็น regionalization ก็เป็นได้ โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันออกไป

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น แน่นอนว่าเป็นโจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย โดย ดร.วิรไท บอกว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญหลังวิกฤติโควิด คือ การจัดสรรทรัพยากรใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ทุน คน หรือแม้แต่เครื่องจักร เราต้องมีกระบวนการในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ต้องพัฒนาทักษะของแรงงานให้เข้ากับยุคดิจิทัล ต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เราปรับตัวสู่โลกใหม่ได้เร็วที่สุด เพราะยิ่งช้า ยิ่งมีต้นทุนสูง และยังกระทบต่อความสามารถการแข่งขันในระยะยาวด้วย อีกประเด็นที่ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ฝากไว้ คือ โลกหลังโควิด “ดอกเบี้ย” จะทรงตัวในระดับต่ำไปอีกนาน ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน จึงเป็นเรื่องสำคัญ