ฉีกทุกกฎ! เปิดไอเดียสุดแปลก 'โดนัลด์ ทรัมป์' รับมือ 'โควิด-19'

ฉีกทุกกฎ! เปิดไอเดียสุดแปลก 'โดนัลด์ ทรัมป์' รับมือ 'โควิด-19'

คนทั่วโลกต่างรู้ดีว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐเป็นเช่นไร หลายครั้งที่คำพูด หรือ พฤติกรรมของเขาจุดชนวนนำไปสู่เรื่องแง่ลบต่างๆ ล่าสุด ในขณะที่ทุกประเทศต่างวุ่นวายอยู่กับการรับมือโรคโควิด-19 ผู้นำฝีปากกล้าก็สร้างความฮือฮาให้ประชาคมโลกอีกครั้ง

เมื่อวันศุกร์ (24 เม.ย.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐมีข่าวดีให้ตลาดหุ้นด้วยการลงนามร่างกฎหมายมาตรการเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 4.84 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากร่างกฎหมายนี้ผ่านการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐแล้ว 

ภายใต้มาตรการเยียวยานี้ ภาคธุรกิจขนาดย่อมจะได้รับความช่วยเหลือวงเงิน 3.7 แสนล้านดอลลาร์ให้จ้างพนักงานต่อไป ขณะที่โรงพยาบาลต่างๆจะได้รับความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายวงเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และมาตรการนี้ยังรวมถึงการจัดสรรเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับการขยายการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย

ถือเป็นข่าวดีของคนอเมริกันทั้งประเทศแต่ในวันเดียวกันนี้ ทรัมป์ก็สร้างความตกใจอย่างมากแก่วงการแพทย์ เมื่อเสนอแนวคิดฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าร่างกายผู้ป่วยโควิด-19 โดยผู้นำสหรัฐ

กล่าวระหว่างการแถลงข่าวสรุปสถานการณ์ประจำวันที่ทำเนียบขาว เมื่อวันพฤหัสบดี (23 เม.ย.) ที่ผ่านมา แนะนำให้นักวิทยาศาสตร์พิจารณาดูว่า การฉีดสารฆ่าเชื้อเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยโควิด-19 จะสามารถฆ่าเชื้อดังกล่าวได้หรือไม่

“มีทางที่เราจะทำการฉีดสารฆ่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายหรือไม่ นี่เป็นเรื่องน่าสนใจที่ควรมีการตรวจสอบ” ปธน.ทรัมป์ กล่าว พร้อมทั้งอ้างอิงผลการศึกษาที่ “วิลเลียม ไบรอัน” ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เคยศึกษาไว้และยังไม่เคยตีพิมพ์ หรือผ่านการตรวจทานจากคนในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ 

หลังจากข้อเสนอของทรัมป์ถูกเผยแพร่ออกไป บรรดาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่างออกมาเตือนประชาชนไม่ให้ดื่ม หรือฉีดยาฆ่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ตามที่ประธานาธิบดีแนะนำ

“นี่เป็นคำแนะนำที่บ้าและอันตรายมาก คุณจะไม่ตายจากโรคโควิด-19 แต่จะตายจากยาฆ่าเชื้อที่คุณฉีดเข้าไป” พอล ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเลียของอังกฤษ กล่าว

สอดคล้องกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ ที่เห็นว่า คำแนะนำของทรัมป์ เป็นคำแนะนำที่น่าตื่นตระหนก และไม่ได้รับการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ แม้แต่บริษัทเรคคิทท์ เบนไชเซอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อเดทตอลและไลซอล ยังออกแถลงการณ์เตือนประชาชนไม่ให้นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทฉีดเข้าร่างกาย

ดร.วิด คุปตา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจ กล่าวว่า การแนะนำให้ฉีดหรือกินสารทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคเข้าร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่รับผิดชอบและอันตราย เช่นเดียวกับ คาซิฟ มาห์มูด แพทย์จากเวสต์เวอร์จิเนียที่ทวีตว่า ในฐานะแพทย์ เขาไม่แนะนำให้ฉีดสารฆ่าเชื้อโรคเข้าปอด หรือใช้รังสียูวีภายในร่างกายเพื่อรักษาโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวถึงกรณีที่เสนอไอเดียให้พิจารณาฉีดสารฆ่าเชื้อเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ภายใน 1 นาทีว่า เป็นเพียงคำพูดเสียดสี ซึ่งตนได้ตั้งคำถามเชิงประชดชันกับผู้สื่อข่าวเพื่อให้คิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากทำเช่นนั้น

มีรายงานว่า การที่ปธน.ทรัมป์ แสดงท่าทีดังกล่าวก็เพื่อแก้เกี้ยวต่อกระแสโซเชียลมีเดียที่โจมตีไอเดียนี้อย่างหนัก

แต่ทรัมป์ไม่ได้แนะนำแค่นี้ ยังแนะให้ใช้การฉายแสงอัลตราไวโอเลต เพื่อรักษาโรคโควิด-19 ด้วย ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดว่า อุณหภูมิที่อบอุ่นขึ้นและความชื้นสูงในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนจะช่วยลดการระบาดของเชื้อไวรัสได้

158783519787

ขณะที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) ออกแถลงการณ์เตือนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่า ห้ามใช้ยาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควินด้วยตัวเอง หลังจากพบผลข้างเคียงที่ทำให้ถึงตายได้

ยาคลอโรควิน (chloroquine) และไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine) เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย หากไม่ได้เป็นการสั่งจ่ายจากแพทย์ในการรักษาที่โรงพยาบาล หรือเป็นการเข้าร่วมโครงการทดลองทางคลินิกอย่างเป็นทางการห้ามใช้อย่างเด็ดขาด ซึ่งคำสั่งของเอฟดีเอมีขึ้นหลังจากมีผู้เสียชีวิตจากการทานยาดังกล่าวและมีปัญหาการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ รวมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วเกินไป

นอกจากนี้ การกินยาคลอโรควิน และไฮดรอกซีคลอโรควิน ยังมีผลข้างเคียง อีกหลายประการ ซึ่งรวมถึงการทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง

คำสั่งของเอฟดีเอเกี่ยวกับเรื่องนี้ สวนทางกับคำพูดของทรัมป์ ที่เคยกล่าวว่า ยาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควิน จะเป็นตัวพลิกเกม ในการต่อสู้กับโควิด-19 เนื่องจากมีผลลัพธ์ในการรักษาเป็นที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม ต่อมามีรายงานการวิจัยออกมาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการใช้ยาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควิน ในการรักษาอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาการเต้นของหัวใจผิดจังหวะอย่างรุนแรงในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาเหล่านั้นร่วมกับยาปฏิชีวนะอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) หรือที่รู้จักกันในนามยา Z-Pak 

นอกจากนี้ เอฟดีเอยังเตือนแพทย์ว่าไม่ควรสั่งจ่ายยารักษาโรคมาลาเรียทั้งสองชนิดนี้ให้แก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ไปใช้ในการรักษาตัวนอกโรงพยาบาล ด้วยเหตุผลที่ว่าการใช้ยาสองชนิดนี้อาจก่อผลข้างเคียงทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วจนอันตรายนั่นเอง

แถลงการณ์เตือนของเอฟดีเอครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่วารสารการแพทย์ของสมาคมแพทย์อเมริกัน (JAMA) เผยแพร่รายงานชิ้นใหม่ในระดับวงใน เมื่อวันศุกร์ (24 เม.ย.) โดยรายงานมีเนื้อหาระบุว่า ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ทีมนักวิจัยได้ยุติการทดลองโครงการหนึ่งที่ศึกษาว่ายาคลอโรควินอาจสามารถใช้รักษาโรคโควิด-19 หลังพบว่าผู้ป่วยมากกว่า 20 คน เสียชีวิตหลังรับประทานยาดังกล่าวทุกวัน และส่วนหนึ่งก็มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ แต่รายงานดังกล่าวยังไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ

แต่เอฟดีเอ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้อยู่แล้วภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ ซึ่งรวมถึงการใช้รักษาโรคมาลาเรียและรักษาอาการภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ ควรใช้ยาต่อไปตามแพทย์สั่ง