'ฝ่ายค้าน' ยื่นข้อเรียกร้อง 'นายกฯ' เปิดประชุมรัฐสภา ฟังเสียงผู้แทนปชช.
พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือเรียกร้อง "นายกฯ" ดำเนินการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ หวังรัฐบาลใช้ช่องทางสภารับฟังข้อเสนอ และหนทางแก้ปัญหา กรณีโควิด-19
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือที่ลงนามโดยหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรคถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ดำเนินการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด
โดยระบุถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อการป้องกันและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ผลจากมาตรการของรัฐในการป้องกันและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม
ทั้ง ภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน และประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดคนว่างงานจำนวนมาก ประชาชนขาดรายได้ในการดำรงชีวิต ผู้ประกอบการทยอยปิดกิจการ อันเป็นวิกฤติของประเทศครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรุนแรงในรอบหลายสิบปี จนรัฐบาลได้ประกาศให้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ
เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอันเกิดจากมาตรการต่างๆ คณะรัฐมนตรีได้ตราพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งให้อำนาจกระทรวงการคลัง โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีกู้เงินภายในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคดังกล่าว , พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563
ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ และพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ
ซึ่งในนามหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐมีเป็นจำนวนมากและกระจายไปในทุกภาคส่วนของสังคม การเยียวยาจำเป็นต้องให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และทั่วถึง ในส่วนของการแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงก็จำเป็นต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
รัฐบาลต้องเปิดโอกาสและรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มิใช่เลือกรับฟังเฉพาะกับบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น โดยรัฐสภาถือเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติโดยสมาชิกเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย สมควรอย่างยิ่งที่จะได้นำปัญหาดังกล่าวเข้าพิจารณา เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมรัฐสภา โดยเฉพาะกรณีการตราพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ
ซึ่งตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุม หากรอให้ถึงสมัยประชุมสามัญ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลัง และระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรงจนยากที่จะแก้ไขเยียวยาได้ นอกจากนี้การเสนอพระราชกำหนดให้รัฐสภาพิจารณาก่อน จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้รับคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะของรัฐสภาไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ภาพ -เพจ พรรคเพื่อไทย
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
ครม.อนุมัติ 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา 3,500 บาท ลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'เราชนะ' สรุปใครได้ 3,500 บาท 2 เดือนบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร เช็คที่นี่!
'ออมสิน' เปิดลงทะเบียน 'สินเชื่อเสริมพลังฐานราก' 23 ม.ค.เคยกู้ 'สินเชื่อฉุกเฉิน' ก็กู้อีกได้!