ภาครัฐ-เอกชน ถกช่วยเอสเอ็มอี ฝ่าวิกฤติโควิด-19

ภาครัฐ จับมือ เอกชน ร่วมประชุมหารือมาตรการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เน้นสร้างฐานรากเข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 63 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเป็นประธานในการประชุมหารือมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาคเอกชนหลายที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายสมคิด กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ดีขึ้นโดยลำดับ ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ด้านเศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่อาจพึ่งส่งออก การท่องเที่ยวที่ยอดนักท่องเที่ยวตกลงได้ จึงหวังได้แต่เพียงเศรษฐกิจในประเทศจาก 2 ส่วน คือ การบริโภคภายในประเทศและการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งภาครัฐเดินหน้าเร่งรัดการใช้จ่ายอย่างเต็มที่ในขณะนี้ และขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศให้ผ่านพ้นช่วง 3-4 เดือนข้างหน้าและช่วยกันประคองให้ผ่านปีนี้ไปให้ได้ ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาทอยู่แล้ว มาตราการนี้เน้นในประเทศฐานราก หรือ "โลคัลอีโคโนมี่" ครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กลับต่างจังหวัดมีการผลิตมีรายได้ ซึ่งกระทรวงอื่น ๆ สามารถเข้ามาร่วม และส่วนนี้ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และเป็นทางรอดของเศรษกิจไทย เพราะขณะนี้เศรษฐกิจต่างประเทศต่างก็ย่ำแย่

158753449497

นายสมคิด กล่าวถึงการส่งออกของไทยว่า ขณะนี้เริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าบางกลุ่มกลับเข้ามาบ้างแล้ว จะต้องช่วยกันดูแลอย่าให้เสียเปรียบประเทศเวียดนาม พร้อมมอบหมายให้ตัวแทนกรมสรรพากรนำเรื่องที่ภาคเอกชนต้องการให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทุกธุรกิจ 3 ปี คือ ระหว่างปี 2563-2565 โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการจะเข้าสู่ระบบ e-filling ว่า จะทำได้หรือไม่

158753452537

นายสุริยะ กล่าวว่า นายสมคิด ระบุว่าขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกประเทศเน้นปกป้องอุตสาหกรรมตัวเอง ประเทศไทยใช้โอกาสนี้จะหันมาให้ความสำคัญเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจฐานรากที่จะให้ความสำคัญได้แก่ การเกษตรที่มูลค่าสูง และนำสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป แปลงเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร เพื่อใช้บริโภคในประเทศและส่งออกได้ด้วย ซึ่งขณะนี้หอการค้าไทยมีการส่งเสริมอยู่แล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จะต้องมีการใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าด้วย