ผลวิจัยชี้ 'ล็อคดาวน์' อีกหลายครั้งถึงปี 65 กว่า 'โควิด' หมดโลก

ผลวิจัยชี้ 'ล็อคดาวน์' อีกหลายครั้งถึงปี 65 กว่า 'โควิด' หมดโลก

ผลการศึกษาล่าสุดชี้ การปิดเมือง หรือ “ล็อคดาวน์” เพียงครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะยับยั้งโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส หรือโรคโควิด-19 และอาจต้องเปิด-ปิดเมืองหลายครั้งไปจนถึงปี 2565 กว่าจะเอาชนะไวรัสมรณะนี้ได้

ผลการศึกษาจากการทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐซึ่งตีพิมพ์ในวารสารไซเอินซ์ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า โควิด-19 จะเป็นเหมือนไข้หวัดตามฤดูกาลที่มีอัตราการติดเชื้อสูงในช่วงฤดูหนาวว่า มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเพียงครั้งเดียวน่าจะไม่สามารถหยุดยั้งจำนวนผู้ป่วยในสหรัฐได้เมื่อคำนึงถึงศักยภาพด้านสาธารณสุขที่มีอยู่อย่างจำกัด

การใช้มาตรการเป็นครั้งคราวคือสิ่งจำเป็นในยามที่ยังไม่มีวิธีรักษา สิ่งสำคัญคือต้องตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึงเพื่อให้รู้ว่าสถานการณ์ไปถึงจุดที่จะต้องใช้มาตรการซ้ำหรือไม่

ผลการศึกษาระบุว่า การเปิด-ปิดเมืองหลายครั้งช่วยให้โรงพยาบาลมีเวลาเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเปิดเมือง นอกจากนั้น การปล่อยให้มีการติดเชื้อไปถึงจุดหนึ่งก็จะทำเกิดการสร้างภูมิต้านทานหมู่ (Herd Immunity) หลังจากนั้นเมื่อมียารักษาและวัคซีนป้องกันจึงจะผ่อนปรนระยะเวลาและความเข้มข้นของการปิดเมืองได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของการทำแบบจำลองนี้คือ ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าผู้ป่วยที่หายแล้วจะมีภูมิต้านทานอยู่ในร่างกายนานเพียงใด แต่ที่แน่ชัดแล้วคือ โรคโควิด-19 จะไม่หายไปหลังการระบาดระลอกแรก เห็นได้จากการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ที่ระบาดระหว่างปี 2545-2546 มีผู้ป่วย 8,000 คนทั่วโลก เสียชีวิตเกือบ 800 คน