'โควิด' ทุบเศรษฐกิจซ้ำรอยต้มยำกุ้ง ครึ่งปีแรกเสียหาย 1.5 ล้านล้าน

'โควิด' ทุบเศรษฐกิจซ้ำรอยต้มยำกุ้ง  ครึ่งปีแรกเสียหาย 1.5 ล้านล้าน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคครั้งแรกเดือน ต.ค.2542 ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ในขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่กลับมาอีกครั้งทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำลงสุดในประสัติศาสตร์

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.2563 อยู่ระดับ 50.3 เป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หรือรอบ 21 ปี 6 เดือน หรือนับตั้งแต่มีการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค.2542 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เทียบกับ วิกฤตต้มยำกุ้ง ที่เกิดขึ้นในปี 2540 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้ส่งผลต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน การจ้างงาน รายได้ และการซื้อสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ี่ระดับ 41.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ระดับ  49.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 59.9 โดยดัชนีปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน ก.พ.2563 

การที่ดัชนีทุกตัวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติหรือที่ระดับ 100  แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละรายการปรับตัวลดลงมากกว่า 10 จุดภายในเดือนเดียวเนื่องจากความกังวลในวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งการปรับตัวลดลงอย่างมากภายในเดือนเดียวทุกรายการเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอด 21 ปี 6 เดือน 

รวมทั้งคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะยังคงปรับตัวลดลต่อเนื่องต่อไปในอนาคตจนกว่าสถานการณ์โควิด- 19 จะคลายตัวลงดังนั้นคาดว่าผู้บริโภคจะชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไป

สำหรับการประเมินว่าสถานการณ์แพร่ระบาดครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภาพรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 หรือตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.นี้ อย่างน้อย 1-1.5 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นความเสียหายภาคการท่องเที่ยว 700,000 ล้านบาท  ภาคการบริโภค 300,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นด้านการค้าชายแดน การส่งออกและอื่นๆ

ทั้งนี้เป็นการคำนวนแบบไม่เป็นทางการจากภาคการบริโภคนั้นซึ่งปกติจะมีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อวัน เมื่อรัฐบาลส่งเสริมให้การทำงานที่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม ไม่สามารถเดินทางไปมาได้ง่าย รวมถึงการปิดห้างสรรพสินค้ายกเว้นในส่วนของการจำหน่ายอาหารทำให้กำลังซื้อคนไทยทั้งประเทศในระยะแรกหายไปอย่างน้อยวันละ 5,000 ล้านบาท 

เมื่อรวม 1 เดือน เท่ากับ 150,000 ล้านบาท แต่จะมีเงินจากนโยบายภาครัฐที่แจกฟรีแก่ผู้เดือดร้อน 5,000 บาทต่อคนเข้ามาช่วยเสริมในไตรมาส 2 ทำให้ครึ่งแรกของภาคการบริโภคหายไปกว่า 300,000 ล้านบาท

ส่วนภาคการท่องเที่ยวนั้นในไตรมาสที่ 1 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวหายไปกว่า 40% หรือกว่า 4 ล้านคนจากปกติจะมีประมาณ 10 ล้านคน และไตรมาสที่ 2 ประเทศไทยเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์แล้วน่าจะทำให้นักท่องเที่ยวหายไปเกือบหมดหรือกว่า 8 ล้านคนจากปกติที่เข้ามาท่องเที่ยว 9 ล้านคน 

ในขณะที่เมื่อรวม 2 ไตรมาสก็จะทำให้ครึ่งแรกปีนี้นักท่องเที่ยวหายไป 12-13 ล้านคน ซึ่งปกติใช้เงินคนละ 45,000-50,000 บาทต่อคน ทำให้เงินหายในระบบประมาณ 600,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย เมื่อรวมกับการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศที่หายไปกว่า 100,000 ล้านบาท รวมเม็ดเงินหายไปกว่า 700,000 ล้านบาท