ปัญหาแรงงาน รัฐต้องแก้เชิงรุก

ปัญหาแรงงาน รัฐต้องแก้เชิงรุก

กกร.ประชุมสรุปว่าวิกฤติโควิด-19 รุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 และประเมินว่าใน มิ.ย.63 จะมีแรงงานตกงาน 7.13 ล้านคน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการฟื้นฟูเยียวยาที่ครอบคลุมและอัดฉีดมากกว่านี้ หากปล่อยนานอาจกระทบธุรกิจขนาดเล็ก กลาง อาจลุกลามถึงขนาดใหญ่

ประเทศไทยวันนี้อยู่ในสถานการณ์วิกฤติเหมือนนานาประเทศที่กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ทว่าหากเปรียบเทียบโดยพิจารณาจากตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ประเทศไทยไม่เลวร้ายเท่าฝั่งยุโรปและอเมริกา เพียงแต่ทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายทุกคนไม่ประมาท และต้องยอมรับว่าจากตัวเลขติดเชื้อวันละหลักร้อยก่อนจะลดลงเหลือหลักสิบ กระทั่งเมื่อวานนี้ (8 เม.ย.) ยอดผู้ติดเชื้อปะทุอีกครั้ง มาอยู่ที่ 111 ราย พบว่า 42 ใน 111 ราย มาจากคนไทยกลุ่มที่เดินทางกลับจากอินโดนีเซียโดยเครื่องบินลำเดียวกัน 76 คน

เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สมควรเกิดขึ้น เนื่องจากก่อนหน้ามีหลายฝ่ายพยายามตักเตือนการอนุญาตกลุ่มคนดังกล่าว เพราะนับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไปประกอบพิธีทางศาสนา มีการเสนอให้กักตัวไว้ที่ต้นทางก่อนจนกว่าจะพ้นระยะเสี่ยง แต่ผู้ที่รับผิดชอบสูงสุดเมินเฉย กระทั่งตรวจพบผู้ติดเชื้อทันที 42 ราย ตามที่คาดการณ์ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศให้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมีการกักตัวทุกราย ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ความพยายามจำกัดวงผู้แพร่เชื้อ ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่

เราขอเรียกร้องให้หัวหน้าหน่วยที่รับผิดชอบมองปัญหาเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ การแก้ไขจึงต้องพิเศษหลายเท่าตัว เราเชื่อว่ายังไม่มีคำว่าสาย เพียงแต่การทำหน้ายืนต้องอยู่บนความรับผิดชอบและรู้ทันปัญหา สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในภารกิจคือมาตรการตรวจโรคหรือสาธารณสุข ต้องฟังคำแนะนำคุณหมอและทำตามอย่างเคร่งครัด การที่ตัวเลขที่พุ่งขึ้นจากกลุ่มคนไทยข้างต้น สะท้อนให้เห็นความหย่อนยานในระบบการทำงาน รัฐบาลต้องสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนฝ่ายการแพทย์ให้มากกว่านี้

ยังมีอีกภารกิจที่ต้องทำคือการฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประชุมได้ข้อสรุปว่าวิกฤตโควิด-19 รุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เนื่องจากต้มยำกุ้งผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจำกัดวงเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และธุรกิจการเงินที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศ ขณะที่วิกฤติโควิด-19 ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะกระจายไปทุกกลุ่ม

กกร.จึงคาดว่าปัญหาแรงงานในรอบนี้ คนตกงานจะมีจำนวนมาก ภาคธุรกิจฐานรากจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจหลักล้านล้าน ไม่ว่าโรงแรม บริการ ธุรกิจท่องเที่ยว โดยประเมินว่าภายในเดือน มิ.ย.2563 จะมีแรงงานตกงาน 7.13 ล้านคน จากแรงงานในระบบประกันสังคม 38 ล้านคน หรือคิดเป็น 18.5% ข้อเรียกร้องของ กกร.ต้องการให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการฟื้นฟูเยียวยาที่ครอบคลุมและอัดฉีดมากกว่านี้ หากปล่อยให้เนิ่นนาน ปัญหาแรงงานจากที่กระทบในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง จะลุกลามไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เราเห็นว่าการดำเนินการของรัฐบาล ต้องออกมาตรการเชิงรุก ต้องกล้าทำใหญ่และทำเร็ว ไม่ใช่แก้ตามอาการหรือตามหลังโรคแบบในปัจจุบัน