ศบค. เพิ่มตรวจโควิดวันละ 1 แสนราย

ศบค. เพิ่มตรวจโควิดวันละ 1 แสนราย

"ศบค." ปลาบปลื้ม พระบรมราโชบาย "ในหลวง" รับมือ "โควิด-19" เผย ติดเชื้อเพิ่ม 38 ราย ลดลง ดับอีก 1 พบไปสังสรรค์มาเพียบ ย้ำถึงตัวเลขลดการ์ดห้ามตก หวั่นโดนน๊อก เผยอีกเป็น 100 ที่ภูเก็ตกำลังสอบสวนโรค ลั่นพร้อมตรวจเพิ่มเป็นแสนรายต่อวัน ไม่กลัวถ้าเจอเยอะ

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 63 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ และพระราชทานพระบรมราโชบายเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ซึ่งเราจะทำหน้าที่ตามที่มีกระแสพระราชดำรัสมา เพื่อให้โรคที่เราเผชิญลดน้อยถอยลงไป

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 38 ราย ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 3 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,258 ราย ในจังหวัด 66 จังหวัด หายป่วยเพิ่มเติม 31 ราย หายป่วยสะสม 824 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1,408 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 27 ราย ในส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 27 เป็นชายไทย อายุ 54 ไม่มีโรคประจำตัว ก่อนหน้านี้ไปงานเลี้ยงสังสรรค์หลายแห่ง โดยเฉพาะสถานบันเทิงย่านทองหล่อ มีอาการป่วยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. และวันที่ 14 มี.ค.เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชน มีอาการหนักมากขึ้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อเอกซเรย์พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตในวันที่ 6 เม.ย.ด้วยระบบเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งเมื่อดูจากอายุผู้เสียชีวิตตอนนี้ทุกคนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 38 ราย ทำให้หัวใจพองโต และดีขึ้นมากๆ โดยตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้ป่วยรายใหม่เริ่มทรงตัว และหลังจากประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 5 วัน แม้บางส่วนจะอยู่ในช่วงฟักตัว ถือเป็นแนวโน้มที่ดี ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือ ก็ถือเป็นการทำงานของทุกคนที่ทำให้การแพร่ระบาดลดลง เราพึงพอใจ ประเมินว่าเหตุที่ตัวเลขลดลงมาจากปัจจัย 3 ประการ คือ 1.การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศเคอร์ฟิว 2.การควบคุมกันเองในประเทศ การเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย และ 3.การควบคุมบุคคลกลุ่มเสี่ยงให้อยู่ในสถานที่รับรองให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขจะลดลงไม่ใช่ดีใจแล้วเลิก ดูอย่างกรณีในบางประเทศ มีคุณป้าคนหนึ่งออกไปงานบางงาน แต่กลายเป็น ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ ดังนั้น เพียงคนเดียวก็สามารถแพร่กระจายได้เป็นจำนวนมาก

“ดังนั้น การ์ดห้ามตก ตกเมื่อไหร่ก็โดนต่อย โดนกระทุ้ง น็อคได้เลยทีเดียว จึงต้องตรึงแบบนี้ตลอดไป เพราะทั่วโลกยังเป็นแหล่งรังโรค อาจเป็นพาหะมาสู่เรา เราไม่ใช่ให้รังเกียจ แต่ให้ระมัดระวัง ต้องยืนระยะยาวๆ ถ้าตัวเลข 38 ถือว่าดี ลดลงไปกว่านี้จะยิ่งดี ยืนระยะไปเรื่อยๆ เราก็จะชนะ”

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ตัวเลขที่ออกมาเราก็ยังทราบว่า มีกลุ่มบุคคลที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีกเป็นร้อยรายที่ยังไม่ได้ส่งมา แต่ถือว่าตัวเลขที่มีอยู่นั้นดี และวันนี้ต้องชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะตัวเลขที่ลดลงถือเป็นความสามารถของทุกคนที่ช่วยกันจากเลข 3 หลักมาเหลือ 2 หลัก ถ้าจะให้ดีตัวเลขต้องลดลงเรื่อยๆ ส่วน กทม.แม้ตัวเลขจะลดลง แต่ยังสูงอยู่ ในต่างจังหวัดก็ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องช่วยกัน จากแนวโน้มตัวเลขที่ลดลงแสดงว่าเราได้รับความร่วมมือ ถ้าผู้ติดเชื้อน้อยลงแบบนี้ เชื่อว่าผู้บริหารคงไม่ใช่มาตรการที่เข้มกว่านี้ ถ้าเราอยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเรายังมีเสรีภาพอยู่ ช่วยกันกดตัวเลข เราจะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เหมือนเดิม

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานในช่วงการประกาศเคอร์ฟิว เมื่อคืนวันที่ 6 เม.ย.ถึงเช้าวันที่ 7 เม.ย. คนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี แต่จะเห็นว่ามีคนออกจากเคหสถานเพิ่มขึ้น 1,217 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อนที่มี 919 ราย ซึ่งมีการดำเนินคดี 1,047ราย ตักเตือน 246 ราย รวม 1,293 ราย ตัวเลขดูไม่ดีเลย ท่านช่วยเราหน่อยได้หรือไม่ เพราะตลอด 4 วันที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด ท่านไม่ให้ความร่วมมือ รวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุม ซึ่งไม่ลดลงเลย ขอร้องประชาชนว่ามาตรการจะเข้มข้นขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเลขตรงนี้เหมือนกัน ถ้าตัวเลขรายงานขึ้นมาและเห็นความไม่เรียบร้อยคงต้องมีมาตรการขึ้นมา เพราะการออกนอกบ้านถือเป็นความเสี่ยงทั้งนั้น

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนการดูแลคนไทยที่อยู่ระหว่างเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากมีการขยายเวลาห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 18 เม.ย. จนมีผู้ได้รับผลกระทบหลายคน โดย ศปค.ได้ประชุมอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาคนติดค้าง เท่าที่ได้รับรายงานว่ามีติดค้าง ญี่ปุ่น 15 คน เกาหลีใต้ 60 คน เนเธอร์แลนด์ 1 คน สหราชอาณาจักร 1 คน การ์ตา 14 คน ทางกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะเข้าไปดูแล หากใครตกค้างและไม่มีรายชื่ออยู่ในจำนวนนี้ขอให้แจ้งไปยังสถานทูตไทยประจำเมืองนั้นๆ นอกจากนี้ ได้รับแจ้งว่า ในวันที่ 7 เม.ย. เวลา 20.30 น. จะมีเครื่องบินจากฝรั่งเศสมารับคนชาติตัวเองที่สนามบินภูเก็ต โดยจะมีคนไทย 14 คนมากับไฟต์ดังกล่าวด้วย และวันเดียวกันจะมีอีกเที่ยวบินจากสหรัฐอเมริกา มีคนไทย 60 คน มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิในเวลา 21.45 น. ส่วนในวันที่ 8 เม.ย. เวลา 15.30 น. จะมีเที่ยวบินจากญี่ปุ่น ซึ่งมีคนไทย 22 คน มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยรัฐบาลจะดูแลอย่างดี ตอนนี้ กต.ทำงานหนักมากๆ และจะทำกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่มีคนไทยบางส่วนติดค้างอยู่ที่อินโดนีเซียไม่สามารถเดินทางมากับกลุ่มเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ได้นั้น เป็นเพราะไม่สบาย สงสัยว่าจะติดเชื้อ แต่ยังไมได้บอกว่าเป็นโควิด-19 คนกลุ่มนี้จะต้องรักษาที่อินโดนีเซียให้หายก่อน ถือเป็นมาตรคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและคนอื่นๆ บนเครื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งคำถามตัวเลขที่ลดลง เป็นเพราะเราตรวจได้น้อย หรือมีประสิทธิภาพการตรวจลดลงหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เมื่อเช้าวันเดียวกัน (7 เม.ย.) มีการประชุมโดยผู้ใหญ่หลายคนที่้เป็นนักวิชาการและผู้บริหาร สธ. ก็ตั้งคำถามเช่นนี้ โดยมีการวิเคราะห์ตัวเลข เราไม่ได้เข้าข้างตัวเอง ขณะนี้มีตัวเลขสะสมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 71,860 ราย ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่าพอใจ จะต้องหาหนทางเพิ่มการตรวจให้ได้มากกว่านี้ โดยขณะนี้ กทม. ปริมณฑล และทั่วประเทศ รวมแล้วตรวจได้วันละ 2 หมื่นราย ซึ่งทำเต็มที่แล้ว เราจะพยายามเพิ่มให้ได้มากขึ้นเหมือนกับบางประเทศที่ตรวจได้แสนรายต่อวัน เราจะทำให้ได้ เราไม่กลัวที่ยิ่งตรวจเยอะจะเจอเยอะ เพราะเรามีการเตรียมเตียงไว้หลายระดับ ทั้งเบาและไอซียู

เมื่อถามว่า มีรายงานว่าที่อาคารรับรองสัตหีบ ต้องพักห้องละ 3 คน ไม่สอดคล้องกับการเว้นระยะห้าง จึงเสนอให้เหลือห้องละ 1 คน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การกักตัวถ้าได้ห้องละ 1 คนนั้นดีที่สุด แต่เนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอ จึงต้องจัดให้เป็นคู่หรือ 3 คน อยากให้ลองนึกภาพว่าการมาเป็นกลุ่มจะต้องใช้เจ้าหน้าที่ดูแลกี่คน และถ้าต้องเพิ่มสถานที่แบบเดียวกับสัตหีบอีกสิบแห่งต้องใช้คนเท่าไร ดังนั้น ความเหมาะสมเราก็คำนึง ความสะดวกสบายเราก็คำนึง แต่อดทนกันสักนิด ถ้ามาวันละ 200 คน 5 วัน 1,000 คน จะอยู่ห้องละ 1 คน มันไม่ง่าย แต่เป็นภาระหน้าที่ของพวกเราที่จะพยายามดูแลรายละเอียดทุกอย่าง บางครอบครัวก็ชื่นชม ด้านดีแบบนี้ทำไมไม่เปิดเผยกันบ้าง