ตัวเลขผู้ติดเชื้อสหรัฐฯเร่งตัว ขณะผู้ติดเชื้อไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 10,000 ราย

ตัวเลขผู้ติดเชื้อสหรัฐฯเร่งตัว ขณะผู้ติดเชื้อไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 10,000 ราย

สหรัฐฯและอังกฤษเข้าสู่ช่วงการระบาดแพร่กระจาย

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อหลายประเทศในยุโรปเพิ่มขึ้นในอัตราที่เริ่มทรงตัวและต่ำกว่า 10% ยกเว้นอังกฤษที่ยังอยู่ในช่วงเร่งตัวที่อัตรา 17% จากวันก่อนหน้า ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ที่อัตรา 17% ของวันก่อนหน้า ทั้งนี้อัตราผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1 แสนรายล่าสุดในเวลาเพียง 36 ชม. โดยเริ่มมีศูนย์กลางที่สหรัฐฯและอังกฤษ โดยประธานาธิปดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ได้เตือนถึงช่วงเวลาเจ็บปวดในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า และเตือนถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่อาจเพิ่มถึง 1 แสนราย ทั้งนี้ดัชนีหุ้นสหรัฐ มีแนวโน้มตอบรับเชิงลบต่อสถานการณ์ระบาด รวมทั้งการปรับประมาณการทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเผชิญช่วงแย่สุดในช่วงไตรมาส 2/63

ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นและมีโอกาสเพิ่มถึง 10,000 ราย ในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า เมื่อ 17 มี.ค.เราได้เตือนถึงการเร่งตัวขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยหลังตัวเลขทะลุผ่าน 100 รายจะมีโอกาสเพิ่มสู่ 1,000 ราย ได้อย่างรวดเร็ว (ทั่วโลกจะอยู่ที่ 9-17 วัน ขณะที่ในไทยใช้เวลา 11 วัน) ทั้งนี้เราประเมินการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อมีโอกาสเร่งตัวขึ้นจากระดับวันละ 120-140 รายเป็น 200-300 ราย เนื่องจาก 1) จำนวนผู้รอผลตรวจที่อยู่ที่ระดับ 8 พันรายจากข้อจำกัดของชุดตรวจ 2) ความสามารถในการตรวจที่เพิ่มขึ้นจากวันละ 500-600 ตัวอย่างเป็น 1,500-2,000 ตัวอย่าง หลังภาครัฐได้รับเครื่องตรวจใหม่ 3) การแพร่กระจายของโรคในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ทำให้ฐานการกระจายตัวของการระบาดกว้างขึ้น

คาดตลาดจะเพิ่มความระวังต่อสถานการณ์ระบาดและการปรับประมาณการ การเพิ่มการยกระดับความเข้มงวดในการควบคุมโรคของกทม.โดยสั่งปิดการดำเนินงานของห้างร้านในช่วงเวลา 24.00-5.00 น. และการประชุมด่วนแบบเต็มคณะของครม.ในช่วงเช้าวันศุกร์ รวมถึงการที่ร.พ.ขนาดใหญ่เริ่มส่งสัญญาณถึงข้อจำกัดของห้องฉุกเฉิน แสดงถึงสัญญาณของการเตรียมยกระดับการรับมือสถานการณ์และตัวเลขผู้ป่วย (รวมถึงอัตราการเสียชีวิต) ที่น่าจะเร่งตัวขึ้นอย่างมาก ประกอบกับการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ และการปรับประมาณการผลประกอบการจะเป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันภาพตลาดมากขึ้น

ติดตามการหารือของกลต.และสภาวิชาชีพบัญชี 3 เม.ย. ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือเรื่องขอผ่อนปรนเรื่องการตั้งตั้งสำรองงบในสถานการณ์พิเศษ การเลื่อนการส่งงบ รวมถึงการที่ทางกลต.อาจยอมรับการส่งงบที่มีการตั้งเงื่อนไขของผู้สอบบัญชีได้ (ซึ่งผู้สอบอาจหมายเหตุถึงการไม่ตั้งสำรอง หรือไม่สามารถประเมินการด้อยค่า เนื่องจากข้อจำกัดการทำงานในช่วงนี้) ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยผ่อนคลายแรงกดดันต่องบการเงินในระยะสั้น

ภาพรวมกลยุทธ์ ภาพรวมวางกลยุทธ์เก็งถึงแค่ก่อนงบออกและกำหนดจุดตัดขาดทุนทุกครั้ง โดยใช้จุดตัดสินใจที่ 1084 ต่ำกว่าระดับดังกล่าวชะลอการเก็งกำไร // หุ้นแนะนำวันนี้ ซื้อ SCC, BPP  / ทยอยสะสม ADVANC, CPF*, CPALL*, EGCO, RATCH, THRE*

แนวรับ 1,084-1,102 / แนวต้าน : 1,127 จุด สัดส่วน : เงินสด 70% : พอร์ตหุ้น 30%

ประเด็นการลงทุน

US PMI ทรุด - IHS markit รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือน มี.ค.ปรับตัวลงสู่ระดับ 48.5 จากเดือน ก.พ.ที่ 50.7 โดยทำสถิติทรุดตัวรุนแรงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค.52 รับผลกระทบ Covid-19

คาดกองทุนบำนญสหรัฐฯ ฉีดเงิน $4 แสนล้าน อุ้มตลาด - เจพี มอร์แกน คาด กองทุนบำนาญของสหรัฐฯ มีแนวโน้มอัดฉีดเม็ดเงินราว $4 แสนล้าน เข้าหนุนตลาดหุ้นวอล์ลสตรีทในช่วง 2 ไตรมาสข้างหน้า เพื่อลดพิษ Covid-19

MTC - ทางบริษัทยืนยันดำเนินทุกขั้นตอนตามกรอบกฎหมายและไม่ได้คิดดอกเบี้ยมากกว่ากำหนด ทั้งนี้ บริษัทฯไม่ได้ถูกแจ้งดำเนินคดีแต่อย่างใด

JAS-W3 คาดไม่ปรับสิทธิ์ – ถึงแม้การประกาศจ่ายปันผลของ JAS ที่ 1.48 บาท/หุ้น สูงกว่ากำไรต่อหุ้น 0.90 บาท แต่ไม่เข้าเกณฑ์ปรับสิทธิ์เนื่องจากต่ำกว่า 80% ของกำไรงบเดียวที่ 1.90 บาท ดังนั้นเราคาดจะไม่เห็นการปรับลดราคาการใช้สิทธิ์ (Exercise price)

ประเด็นติดตาม: 3 เม.ย. – US Employment report, 10 เม.ย. – US CPI เดือน มี.ค.

(* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)