สูงวัยรู้ทันโรค รู้ป้องกัน จัดเวลาชอปปิ้งลดติดเชื้อ

สูงวัยรู้ทันโรค รู้ป้องกัน  จัดเวลาชอปปิ้งลดติดเชื้อ

กรมการแพทย์ ระบุว่า 80% ของผู้ป่วยโควิด -19 มีอาการไข้หวัดธรรมดา ไม่รุนแรง 7-15% เริ่มมีอาการปอดอักเสบรุนแรงน้อย ต้องรับยาต้านไวรัส ในประเทศไทยพบคนไข้กลุ่มนี้ราว 9% และกลุ่มที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น ปอดอักเสบรุนแรง 3-5% ไทยมีอัตราการเสียชีวิต 0.4%

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ 8 กลุ่ม ได้แก่ 1.อายุมากกว่า 60 ปี 2. ภาวะอ้วน 3. มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 4. โรคถุงลมโป่งพอง 5. โรคหัวใจวาย 6.โรคไตวายเรื้อรัง 7. โรคตับแข็ง และ 8.โรคเบาหวาน

ดังนั้นจะเห็นว่า ผู้สูงอายุนอกจากจะเป็นกลุ่มเสี่ยงแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่หากป่วย จะนำไปสู่อาการรุนแรงอย่างปอดอักเสบ จึงต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม หลายคนยังมีความจำเป็นในการเดินทางไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งแน่นอนว่าการก้าวขาออกจากบ้านหมายถึงการก้าวเข้าสู่ความเสี่ยงของและเพิ่มโอกาสการสัมผัสเชื้อมากขึ้น

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมป์ฯ และประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติคนที่ 2 กล่าวว่า การปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ผู้สูงอายุต้องดูแลตัวเองไม่ให้ไปติดโรค ไม่ให้เจ็บป่วย เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ต้องรู้ว่าโรคดังกล่าว เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ เป็นเชื้อไวรัส เข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุบริเวณใบหน้า 3 ทาง คือ จมูก ปาก และเยื่อบุตา รวมถึงการติดต่อโดยวิธีไอ จาม ดังนั้น จึงควรเว้นระยะห่างกันประมาณ 1-2 เมตร

158531368816

ถัดมา ติดเชื้อโดยการคลุกคลีใกล้ชิดคนที่ติดเชื้อ หากไม่ป้องกันตัวเอง โอกาสติดโรค 100% สุดท้าย คือ การติดจากการสัมผัสสิ่งของที่อยู่รอบตัว หากคนที่มีเชื้อ ไอจาม น้ำมูก น้ำลายติดอยู่ตามโต๊ะ เก้าอี้ แก้วน้ำ หรือตามก๊อกน้ำ มือจับประตู ปุ่มลิฟต์ หากเราไปจับแล้วเอามาถูปาก จมูก ขยี้ตาก็มีโอกาสติดเชื้อได้

  • ล้างสบู่ก้อนดีกว่าสบู่เหลว

สำหรับวิธีการป้องกัน คือ เลี่ยงเอามือที่ไม่สะอาดสัมผัสใบหน้า ล้างมือบ่อยๆ ใช้แอลกอฮอล์เจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ แต่สิ่งที่ดีที่สุด คือ การล้างมือด้วยสบู่ก้อน ซึ่งดีกว่าสบู่เหลว เพราะสามารถชะล้างสิ่งสกปรกทางผิวหนังได้ เชื้อไวรัสเป็นเชื้อที่มีเปลือกหุ้มด้วยไขมัน หากโดนผงซักฟอก สบู่ จะตายอย่างรวดเร็ว ขณะที่แอลกอฮอล์เจล หากจะฆ่าเชื้อโรคต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ การล้างมือด้วยน้ำ สบู่ก้อน และเช็ดมือให้แห้ง

“ทั้งนี้แอลกอฮอลล์สเปรย์ ไม่จำเป็นอย่าไปใช้เพราะอันตราย เพราะเป็นวัตถุไวไฟ ผู้สูงอายุต้องระวัง บางคนไปใช้ใกล้โทรศัพท์ อาจจะมีประกายไฟ ทำให้เกิดอันตราย ต้องรู้ว่าแอลกอฮอล์ไม่ได้ฆ่าเชื้อดีกว่าน้ำและสบู่ เพราะเชื้อโรคมาพร้อมกับสิ่งสกปรก ดังนั้น หากเราขจัดสิ่งสกปรกออกไปก็เพียงพอ ไม่ต้องใช้สารเคมี” นายแพทย์วิชัยกล่าว

  • ใช้หน้ากากอนามัยเท่าที่จำเป็น

สำหรับเรื่องหน้ากากอนามัย ไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากแพง สามารถใช้แบบทั่วไปได้ ซึ่งเมื่อก่อนราคาไม่แพงเท่าปัจจุบัน ทั้งนี้ หน้ากากอนามัยทั่วไป สามารถซักได้โดยใช้สบู่ธรรมดา หรือผงซักฟอกซัก อย่าขยี้เดี๋ยวจะขาดง่าย และให้บีบเพื่อรีดน้ำ อย่าบิด ซักเสร็จเอาไปผึ่งลม แห้งแล้วสามารถเอามาใช้ต่อได้ ซึ่งแผ่นหนึ่งใช้ได้ราว 2 สัปดาห์ ถ้าเราปฏิบัติตัวให้ดีออกกำลังกาย ทำประโยชน์ รักษาสุขภาพให้ดี ลดภาระ ของสังคม นี่คือ ข้อปฏิบัติทั่วไปเกี่ยวกับการป้องกันโรค

"รวมทั้ง การดูแลสุขภาพอื่นๆ คือ การกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด ทานพอสมควร ไม่มากเกินไปจนน้ำหนักเกิน ถ้าเราดูแลสุขภาพให้ดี ออกกำลังกายตามสมควร พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย โรคโควิด-19 น่าจะอยู่กับเราอีกนานแรมเดือน มนุษย์จึงต้องใช้เวลาปรับตัวในการสร้างภูมิคุ้มกัน เราต้องใช้ชีวิตและป้องกันตัวเองให้ผ่านเหตุการณ์นี้ไป” นายแพทย์วิชัยกล่าว

  • จัดตารางเวลาซื้อของ

นายแพทย์วิชัย กล่าวต่อไปว่าการเดินทางไปซื้อของ แนะนำให้เลือกช่วงเวลาในการไปซื้อ เช่น คนส่วนใหญ่จะไปซื้อวันเสาร์ ก็ให้เลือกไปในช่วงเวลาที่คนไม่เยอะ ลดการเบียดเสียด หรือบอกลูกหลานให้ไปซื้อ ลดโอกาสไปเจอเชื้อโรค หากเราศึกษาจากประเทศจีน ช่วงปิดอู่ฮั่น พบว่า เขาจัดคิว เช่น ครอบครัวหนึ่งสามารถไปซื้ออาหาร หรือไปธุระที่จำเป็น ในอาทิตย์หนึ่งต้องไปได้วันไหน หากจัดระบบให้ดจะเห็นว่าเขาทำได้สำเร็จ ทั้งนี้ การเตรียมตัวก่อนออกจากบ้านต้องระวังตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย ระมัดระวัง ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงการจับใบหน้า กลับบ้านให้รีบล้างมือ ซักหน้ากากอนามัย อยู่บ้านไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากหากคนในบ้านไม่ได้ป่วย

  • จัดเวลาพิเศษผู้สูงวัย-พิการ

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตบางช่วงมีผู้เข้าไปซื้อของจำนวนมากอาจมีความเสี่ยงรับเชื้อโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ในกทม. ราว 1.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 1 แสนคน หรือร้อยละ 10.8 ที่อาศัยอยู่คนเดียวตามลำพังหรืออยู่ลำพังกับคู่สมรส รวมถึงผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ที่อาจไม่สะดวกในการสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ รวมถึงคนพิการ 88,000 คน ในกทม. ที่มีความจำเป็นต้องซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นกัน จึงอยากขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ พิจารณาจัดช่วงเวลาให้บริการพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ และคนพิการก่อนเวลาทำการปกติ รวมถึงช่องทางอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากความแออัดของผู้ใช้บริการทั่วไป

158531368921

“ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลีย เปิดให้บริการผู้สูงอายุและคนพิการเข้ามาจับจ่ายซื้อของได้ในช่วงเวลาพิเศษ ตั้งแต่เวลา 7.00 – 8.00 น. หรือในสหรัฐอเมริกาห้าง Costco เปิดให้บริการผู้สูงอายุเข้าไปซื้อของได้ตั้งแต่เวลา 8.00-10.00 น. ทุกวันอังคารกับวันพฤหัสบดี ก่อนที่จะเปิดบริการให้คนทั่วไปตั้งแต่ 10.00 น. อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุ และคนพิการควรพิจารณาถึงความจำเป็น รีบซื้อรีบกลับบ้านและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสโควิท 19 อย่างเคร่งครัดด้วย” ภรณี กล่าว

ด้าน ธิดา ศรีไพพรรณ์ เลขาธิการสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมป์ฯ กล่าวว่า ควรมีการเปิดช่วงเวลาพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ โดยหาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในการออกมาซื้อสิ่งของ อาจจะเป็นก่อนห้างเปิดปกติ เช่น ห้างเปิด 10.00 น. ให้ผู้สูงอายุมาซื้อของในเวลา 9.00 น. เพราะคนจะน้อยกว่าเวลาปกติ และต้องช่วยเหลือ ดูแล ผู้สูงอายุให้มีความรวดเร็วมากขึ้น เพื่อลดเวลาผู้สูงอายุในการอยู่รวมกับคนทั่วไป สิ่งสำคัญคือ ผู้สูงอายุต้องเข้าใจในเรื่องของการป้องกันตนเอง เพราะส่วนมากจะมีโรคประจำตัว ทำให้ติดกันง่ายและหายยาก

158531368781

ขณะที่ กาญจนา พันธุเตชะ เจ้าของเพจ ป้าแบ็กแพ็ก หรือ ป้าแป๋ว อดีตข้าราชการ วัย 67 ปี กล่าวว่า หากซูเปอร์มาร์เก็ตพิจารณาเพิ่มช่วงเวลาพิเศษเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการที่มีความจำเป็นต้องไปเลือกซื้อของเอง น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อไวรัสโควิด 19 จากการต้องไปเจอคนจำนวนมาก รวมถึงหากมีบริการส่งของให้สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการได้ด้วยก็จะช่วยเหลือผู้สูงอายุและคนพิการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผู้สูงอายุ และคนพิการที่ต้องมีการป้องกันสุขภาพตัวเองโดยสวมหน้ากาก และใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ หรือล้างมือบ่อยๆ ตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดด้วย