Online ชนิดไม่เจอไวรัส

ทางออกในสถานการณ์แบบนี้ มีหลายกิจกรรมปรับตัวสู่วิถีออนไลน์ เพราะเป็นพื้นที่ที่ดูจะปลอดภัยจากไวรัส (Corona) แต่การจะปรับเปลี่ยนก็ต้องมีเทคนิค ไม่ใช่แค่จะยกสิ่งที่เคยทำมา “ออฟไลน์” ขึ้น “ออนไลน์” ได้แบบตรงไปตรงมาเท่านั้น

วันนี้ขอลองถอดบทเรียนจากสิ่งใกล้ตัวคือ งานการเรียน การสอนออนไลน์ที่ขณะนี้มีการปิดสถาบัน การศึกษา ทำให้หลายแห่งต้องปรับตัว ไปใช้ช่องทางนี้กัน 

แม้จะมีการเปิดคอร์สออนไลน์กันมาพักใหญ่แล้ว แต่ส่วนมากก็มักเป็นหัวข้อที่สอดคล้องกับการเรียนแบบไม่ต้องเจอตัวกันได้ สำหรับบางหัวข้อที่ต้องอาศัยการลงมือทำกิจกรรมกลุ่ม และการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนกันเยอะๆ มีข้อคิดสำคัญในการจัดการเรียนออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จดังนี้

อันดับแรก ผู้สอนต้องมานั่งดูหมวดหมู่ เนื้อหาทั้งหมดที่ต้องการนำเสนอแล้ว ทำการแบ่งส่วนออกเพื่อให้เหมาะกับเครื่องมือการสอนชนิดต่างๆ ตั้งแต่การเลคเชอร์แบบจ้องจอ ซึ่งควรตัดสลับกับสไลด์และวิดีโอประกอบ เพื่อไม่ให้น่าเบื่อและก็ไม่ควรนานเกินไป ก่อนที่จะสลับไปสู่กิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนต้องปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เช่น การหย่อนโจทย์คำถามให้มีการพิมพ์ตอบ หรืออาจจะเป็นระบบบันทึกเสียงตอบก็ได้ ไล่เรียงไปจนถึงการใช้ฟังก์ชันที่เปิดให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นในกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน

บางสถาบันพัฒนาแพลตฟอร์มที่พร้อมรองรับตรงนี้แล้ว เช่น การมี discussion board หรือ vdo chat และมีที่ก้าวหน้าไปถึงชนิด VR (Virtual Reality) จนรู้สึกว่าเหมือนนั่งเรียนอยู่กับเพื่อนคนอื่น ส่วนที่ยังไม่ได้ลงทุนมากนัก ก็อาศัยโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยเสริมไปก่อนได้

การเรียนออนไลน์ ควรประเมินถี่ๆ และใช้เว็บแคมสื่อสารสอบถามความก้าวหน้าของผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ


ด้านการจัดช่วงเวลา
มีทั้งชนิดที่นัดหมายให้ผู้เรียน login เข้ามาพร้อมกัน เพื่อเรียนในหมวดเนื้อหาที่ต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็น กับอีกประเภทคือ ผสมผสานกับการเรียนแบบเปิดให้ login ตามเวลาที่สะดวกของตัวเองได้ เพราะต่างคนต่างก็อาจมีภารกิจส่วนตัวแตกต่างกันไป

ด้านการเตรียมการสอน แบบออนไลน์ ต้องทำการบ้านล่วงหน้าไว้ค่อนข้างเยอะ แตกต่างจากการสอนแบบเจอตัวที่หลายครั้งเป็นแบบ Improvise คือปรับไปตาม สถานการณ์สามารถหยิบจับสิ่งที่เป็นความสนใจของผู้เรียนมาเป็นหัวข้อการสนทนาแลกเปลี่ยนในคาบวิชานั้นๆ ได้

เนื้อหาที่นำเสนอนี้ยังต้องสอดคล้องกันไปกับวิธีการประเมินผล ซึ่งการเรียนแบบออนไลน์ควรให้มีการประเมินแบบถี่ๆ สะสม เป็นการติดตามความเข้าใจของผู้เรียน เพราะจะไม่เหมือนการมาในชั้นเรียนที่ผู้สอนมีโอกาสประเมินจากการแสดงออกสีหน้าท่าทางของผู้เรียนว่าติดตามได้แค่ไหน ทางออกหนึ่งที่พอจะช่วยได้ก็คือ การเอาเครื่องมือแบบเว็บแคมเข้ามาใช้ เพื่อให้ได้เห็นหน้าเห็นตากันอยู่เสมอ และในการประเมินผลควรลดจุดอ่อนของการเรียนออนไลน์ที่ผู้เรียนกับผู้สอนห่างเหิน จากกันโดยต้องเพิ่มความพยายามในการให้ feedback หรือสื่อสารสอบถามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ

ข้อคิดจากการเรียนการสอนออนไลน์อาจนำมาปรับกับการจัดกิจกรรมบางอย่าง เช่น ตอนนี้หลายแห่งให้ work from home จะมอบหมายและติดตามงานกันอย่างไรให้ได้ผลดี เช่น แทนที่จะว่ากันไปตามสถานการณ์รายวันแบบที่เคยทำกันในออฟฟิศ ก็อาจต้องออกแบบล่วงหน้าก่อน ว่าช่วงที่บริษัทให้ work from home นี้จะมีเนื้องานอะไรบ้าง แบ่งออกเป็นส่วนงานที่ให้ใครมารับผิดชอบตรงไหน และจะนำงานมารวมกันเมื่อไหร่ หากต้องมีการประชุมก็ควรนัดหมายล็อกตารางกันไว้ล่วงหน้า เพื่อทุกคนจะได้จัดสรรความพร้อมของตัวเอง และแน่นอนที่หัวหน้างานต้องคอยติดตามความเป็นไป โดยมีทั้งชนิดให้ลูกทีมคอยรายงานผลและชนิดที่หัวหน้าคอยโทรอีเมล หรือแชทไปถามไถ่เป็นระยะ

มีเรียนออนไลน์ มีทำงานออนไลน์แล้ว ตอนนี้กลุ่มเพื่อนดิฉันเริ่มมีการคุยกันในห้องไลน์ว่าจะไปงานแต่งออนไลน์กันแล้ว ด้วยเหตุที่บ่าวสาวชักจะไม่แน่ใจว่าจะยัง จัดงานได้ตามที่กำหนดไว้หรือเปล่า เลยเริ่มมีแนวคิดปรับตัวจัดงานในสเกลเล็กเฉพาะครอบครัวและเพื่อนสนิทแล้วทำวิดีโอไลฟ์ ให้แขกได้เข้าร่วมงานแต่งแบบออนไลน์ได้

ถ้าจะเอาข้อคิดจากการเรียนการเรียน การสอนออนไลน์มาใช้ ก็อาจเสริมเรื่องความรู้สึกถึงการได้มีปฏิสัมพันธ์กัน โดยให้แขกสามารถเขียนอวยพรออนไลน์ แชท คุยกับบ่าวสาวได้บางช่วง ที่สำคัญเพื่อเป็นการแสดงตัวว่ามาเข้าร่วมงานแล้วก็อย่าลืมโอนเงินของขวัญเข้าช่องทางออนไลน์ด้วยล่ะ เพื่อนบอกว่าจัดงานแบบนี้ประหยัดดี แถมแขกก็สบายใจไม่ต้องเกรงใจไปร่วมแบบหวาดโควิด-19

คิดๆ ดูแล้วเรายังมีทางไปอีกเยอะในสถานการณ์แบบนี้ ผ่านเหตุการณ์ไปแล้ว ยังอาจจะได้เห็นว่าชีวิตไม่ได้มีแค่เท่าที่เคยเป็นมา