สธ. เดินหน้ามาตรการ Social Distancing ลดการแพร่ ลดการเพิ่มผู้ป่วย

สธ. เดินหน้ามาตรการ Social Distancing ลดการแพร่ ลดการเพิ่มผู้ป่วย

สธ. เดินหน้ามาตรการ Social Distancing ย้ำประชาชนต้องเข้าใจการติดต่อของโรค และการป้องกัน เปลี่ยนความกลัว เป็นความรู้ ลดการแพร่ ลดการเพิ่มผู้ป่วย ร่วมรับผิดชอบสังคม

วันนี้ (18 มีนาคม) นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวจากศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ว่า เจตนารมณ์ของการทำเรื่อง การรักษาระยะห่างระหว่างกัน (Social Distancing) คือทำให้เกิดระยะห่าง เพราะโรคนี้ติดกันทางละอองฝอย แต่ส่วนมากคนเราไอแรงที่สุดไม่เกิน 2 เมตร เต็มที่คือ 1 เมตร อีกทางหนึ่ง คือ การสัมผัสผ่านทางน้ำมูกน้ำลาย มีคำถามเข้ามามากว่าทำไมต้องทำมาตรการนี้ เราไม่ได้คิดมาตรการขึ้นมาสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะเรามีผู้ทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติ มีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในการรับมือโรคระบาดต่างๆ และนานาประเทศถูกต้องตามหลักวิชาการ เราคิดอย่างละเอียดรอบคอบแล้วว่าเรามีสัญญานบางอย่างที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงต้องออกมาตรการดังกล่าวออกมา

อีกคำถามหนึ่ง คือ ทำไมไม่ทำก่อนหน้านี้ ต้องเรียนว่า การตัดสินใจเชิงมาตรการ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บางสถานการณ์ อาจยังไม่จำเป็นต้องทำ แต่ขณะนี้เราต้องทำก่อน เราจะไม่ไปรอให้คนไข้พุ่งทะยานถึงจะทำ เราต้องทำเชิงป้องกัน และทำล่วงหน้าไป 1 – 3 ก้าวเสมอ ประชาชนต้องเข้าใจว่าโรคนี้ติดต่อกันอย่างไร และต้องป้องกันอย่างไร นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด ในการเอาชนะโควิด-19

สำหรับมาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล นายแพทย์รุ่งเรือง อธิบายว่า สำหรับคนที่มีอาการไข้ ไม่สบาย คล้ายไข้หวัด ต้องถามตัวเองว่าเรามีประวัติเสี่ยงหรือไม่ เช่น ไปต่างประเทศมา หรือไปสถานที่ตามประกาศ หรือสัมผัสผู้ป่วยยืนยันหรือไม่ หากไม่ใช่กลุ่มเหล่านี้ แปลว่าท่านไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ขอให้ท่านใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ พบแพทย์แถวบ้านก็ได้ในกรณีไม่เสี่ยง

“แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยง มีไข้ ไม่สบาย มีประวัติเสี่ยงทางระบาดวิทยา หากต้องออกไปโรงพยาบาลขอให้ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด อาจเรียกรถของทางราชการให้มารับ หรือไปรถส่วนตัวได้ขอให้ไปรถส่วนตัว เมื่อถึงที่โรงพยาบาลแล้ว จะมีจุดคัดกรอง แยกออกไปดูแลเป็นพิเศษต่างหาก และขอยืนยันว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิการรักษาตรวจฟรี รักษาฟรี แต่ขอให้เข้าเกณฑ์”  

นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าวต่อไปว่า กรณีที่อยากจะขอร้อง คือ คนที่อยากไปตรวจเพื่อความสบายใจ ไม่มีเหตุอะไรที่สงสัยเลย ขอความกรุณาว่าอย่าไปตรวจเพราะท่านอาจจะเกิดความกังวลทางจิต ทำให้ไม่สบายใจไปหลายวัน ระหว่างรอผล ผลออกมาอาจจะเป็นบวกปลอม สร้างความยุ่งยาก ขณะเดียวกัน ถ้าท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเจ้าหน้าที่จะตามท่านอยู่แล้ว หรือหากไม่แน่ใจให้โทรมาที่ 1111 หรือ 1422 สำหรับการติดเชื้อในโรงพยาบาลไม่ต้องกลัว หลายคนถามว่าผู้ป่วยปกติไปโรงพยาบาลราชวิถีได้หรือไม่ สามารถไปได้เลย เพราะเราแยกกันชัดเจน สถาบันบำราศนราดูรเช่นเดียวกัน ขอให้มีความมั่นใจในจุดนี้”

“ผมทำงานเรื่องนี้มา 20 กว่าปี ไม่ว่าจะเป็นอีโบล่า เมอร์ส ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก แต่วันนี้ปัญหาของเราไม่ใช่โควิด -19 แต่พวกเราจะเป็นโรคจิตกันก่อน ดังนั้น ท่านต้องเปลี่ยนความกลัว เป็นความรู้ที่ถูกต้อง มีพฤติกรรมที่ถูกต้อง ต้องเข้าใจก่อนว่าเชื้อแพร่อย่างไร ต้องป้องกันอย่างไร และป้องกันคนอื่นให้ได้ สิ่งสำคัญ คือ รับผิดชอบต่อสังคม เสียสละส่วนน้อยเพื่อคนส่วนใหญ่ เสียสละ 14 วันของเราเพื่อรักษาประเทศชาติ สำหรับ สายด่วน 1422 เป็นระบบคู่สายที่ดีมากยังล่ม ดังนั้น เราจึงมี 1111 ขึ้นมา  สิ่งสำคัญ คือ พี่น้องประชาชน ต้องเปลี่ยนจากความกลัวเป็นความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเสียสละเพื่อพี่น้องประชาชนส่วนรวม”

“สุดท้าย คำถามที่ถามมากในขณะนี้ที่ว่าจะเข้าระยะ 3 เมื่อไหร่ ต้องเรียนว่าอย่าสนใจระยะ 2 ระยะ 3 อยู่เลย ตอนนี้เราอยู่ระยะ 2 สิ่งสำคัญที่สุดคือเราจะลดการแพร่ การเพิ่มผู้ป่วย ให้น้อยที่สุด เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างดีมาก แต่เวลาเราเตรียม เราจะเตรียมความพร้อมทุกอย่างรองรับหากสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ให้พร้อมมากที่สุด ขอให้มั่นใจ” นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าว