'โควิด-19' ย้ำสัมพันธ์จีน-กัมพูชา

'โควิด-19' ย้ำสัมพันธ์จีน-กัมพูชา

บางสถานการณ์วิกฤติที่กระทบไปทั่วโลก ก็เป็นบทพิสูจน์บางอย่างได้ โดยเฉพาะในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ อย่างเช่น กัมพูชา หนึ่งในตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับจีนอย่างมาก แตกต่างจากความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ

บางครั้งในช่วงวิกฤติ ก็เป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์อะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เราจะได้เห็นการแสดงความมีน้ำใจของประเทศหนึ่งที่มีต่อประเทศหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ได้เห็นการตัดรอนที่ประเทศหนึ่งมีต่อกลุ่มประเทศหนึ่ง กัมพูชา เป็นตัวอย่างที่ดี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ติดตามได้จากรายงาน

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชา ออกแถลงการณ์ห้ามผู้ที่เดินทางมาจากอิตาลี เยอรมนี สเปน ฝรั่งเศส และสหรัฐ เดินทางเข้ากัมพูชาเป็นการชั่วคราว เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.เป็นต้นไป เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากกัมพูชาพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 12 ราย แต่ขณะเดียวกัน กัมพูชา กลับเดินหน้าซ้อมรบกับทหารจีน ซึ่งต้องฝึกซ้อมในรูปแบบต่างๆ กับทหารหลายร้อยนาย

ก่อนหน้านี้ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา  ไม่ค่อยให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิดเท่าใดนัก และมีอยู่ครั้งหนึ่งด้วยซ้ำที่พูดจาล้อเลียนบรรดาผู้สื่อข่าวที่สวมหน้ากากอนามัยเข้าฟังการแถลงข่าว

แต่ตอนนี้ท่าทีของผู้นำกัมพูชาเปลี่ยนไป และหันมาดำเนินการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จริงจังมากขึ้น ด้วยการสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน พร้อมทั้งสั่งห้ามพลเมืองจาก 5 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นเข้าประเทศเป็นเวลา 30 วัน

158446642898

แต่มาตรการเฝ้าระวังของรัฐบาลกัมพูชาที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ครอบคลุมถึงการซ้อมรบภายใต้ปฏิบัติการที่เรียกว่า “โกลเดน ดรากอน” ของทหารจีนและทหารกัมพูชาจำนวนกว่า 3,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นทหารจีนจำนวน 265 นาย และเริ่มในวันอาทิตย์ (22 มี.ค.) เป็นการซ้อมรบที่ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์หนัก ทั้งรถถังและเฮลิคอปเตอร์ และเป็นการซ้อมรบที่กินเวลาไปจนถึงวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งการซ้อมรบระหว่างจีนและกัมพูชาช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้แนบแน่นมากขึ้น ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและชาติตะวันตกไม่ราบรื่นนักเพราะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา

ด้วยปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาที่ไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ทำให้เมื่อวันที่ 12 ก.พ. สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้าที่มีให้กัมพูชา ซึ่งการตัดสิทธิพิเศษทางการค้านี้ จะทำให้กัมพูชา เสียสิทธิพิเศษทางการค้าประมาณ 20% ที่เคยได้รับจากอียูภายในโครงการ “Everything but Arms” (อีบีเอ) ซึ่งอียูอนุญาตให้กัมพูชาสามารถส่งออกสินค้าไปยังอียูได้ทุกรายการโดยไม่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า ยกเว้นอาวุธ

อีบีเอ เป็นโครงการที่อียูให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศยากจนที่สุดในโลกจำนวน 48 ประเทศ โดยสิทธิพิเศษทางการค้าที่กัมพูชาสูญเสียในครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 1 พันล้านยูโร (1.1 พันล้านดอลลาร์) ครอบคลุมการส่งออกสิ่งทอ รองเท้า และน้ำตาล ที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าตามมาตรฐานของอียูจากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งอียู ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ตัดสิทธิพิเศษทางการค้ากัมพูชา เนื่องจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

158446645779

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกัมพูชา เมื่อวันจันทร์ (16 มี.ค.) กระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชา ระบุว่า พบผู้ป่วยผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มอีก 4 คน ที่รวมถึงเด็กทารกชาวฝรั่งเศสวัย 4 เดือน และชาวกัมพูชา 2 คน ที่เดินทางไปมาเลเซียเพื่อร่วมพิธีทางศาสนา ทำใ่ห้ยอดรวมผู้ป่วยโรคโควิดในกัมพูชาอยู่ที่ 12 ราย

ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 4 คน ประกอบด้วย ชาวกัมพูชา 2 คน ที่เดินทางกลับมาที่จ.พระวิหารในวันที่ 3 มี.ค. จากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ชายชาวกัมพูชา 1 คน ที่เดินทางกลับจากฝรั่งเศส และเด็กทารกเพศชายวัย 4 เดือน ที่พ่อของเด็กมีผลตรวจเชื้อเป็นบวก หลังเดินทางกลับมาจากกรุงปารีส

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แนะนำพลเมืองในประเทศว่าไม่ควรเดินทางไปยุโรป สหรัฐ และอิหร่าน หากไม่มีความจำเป็น ส่วนข้าราชการของกระทรวงและหน่วยงานรัฐต่างๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมทุกรูปแบบในยุโรป สหรัฐ และอิหร่าน

ความภักดีต่อจีนของฮุนเซนสะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ของจีน โดยในช่วงนั้น กัมพูชาปฏิเสธที่จะออกมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางกับจีนแม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม เท่านั้นยังไม่พอ ยังทำตัวเป็นข่าวในหน้าสื่อทั่วโลกในช่วงเดือน ก.พ.ด้วยการบินไปกรุงปักกิ่งเพื่อพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในช่วงที่การระบาดยังอยู่ในระยะต้นๆ

ในความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและกัมพูชา มีโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปได้อีกในทุกด้าน จากการที่รัฐบาลพนมเปญ ร่วมเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของแผนยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” หรือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” โดยรัฐบาลปักกิ่ง แสดงความหวังในการขยายกรอบความร่วมมือใน 4 ด้านที่สำคัญกับกัมพูชา คือ การเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล ที่รวมถึงการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ซึ่งการยกระดับความร่วมมือสามารถขยายไปถึงระดับอนุภูมิภาค คือกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และความร่วมมือระหว่างจีนกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน )

และการที่กัมพูชา มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับจีน ก็เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ประกาศนโยบายใหม่ที่เรียกว่า "นโยบายอิสรภาพแห่งชาติกัมพูชา” เพื่อลดการพึ่งพา 2 ตลาดหลักของกัมพูชา คือ ยุโรป และสหรัฐ และหันมาให้ความสำคัญกับการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงและลดขั้นตอนต่างๆ ของระบบศุลกากรตามพรมแดน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน