สู้ศึก COVID-19 เชิงรุกด้วย Big Data

ส่องกรณีศึกษาวิกฤติไวรัสโคโรน่าของไต้หวัน ที่ดึงเอาเทคโนโลยี Big Data เข้ามาใช้เชิงรุก จนได้ผลรับที่ดี มีการแพร่ระบาดในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก จากเดิมที่มีการคาดการณ์ว่ามีความเสี่ยงสูง เพราพมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก

ท่ามกลางวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เราได้เรียนรู้วิธีรับมือและบริหารจัดการที่น่าสนใจของหลายประเทศต่อวิกฤตการณ์ครั้งนี้

ไต้หวัน เป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่ง C. Jason Wang และคณะฯ ได้ถอดบทเรียนการบริหารจัดการวิกฤติของไต้หวันผ่านการใช้ Big Data Analytics และเทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ เชิงรุก เผยแพร่ในวารสาร JAMA เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2020 ที่ผ่านมา

ไต้หวันมีพื้นที่อยู่ใกล้และมีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กับจีนสูงมาก มีจำนวนเที่ยวบินระหว่างกันสูง มีประชากรนับล้านที่อาศัยและทำงานในจีน มีนักท่องเที่ยวจีน 2.71 ล้านคนที่เดินทางมาไต้หวันในปีล่าสุด จึงมีการคาดการณ์ว่าไต้หวันมีความเสี่ยงสูงมากที่จะมีผู้ป่วยจาก COVID-19 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ปรากฏว่าการบริหารจัดการที่ดีทำให้จนถึงปัจจุบัน ไต้หวันยังมีการแพร่ระบาดในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก โดยจากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อ 44 รายและมีผู้เสียชีวิต 1 ราย

การที่ไต้หวันตื่นตัวกับโรคระบาดอยู่ตลอดเวลาส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดย ปีหลังการระบาดของโรคซาร์ส รัฐบาลไต้หวันจัดตั้งศูนย์สุขภาพแห่งชาติ (NHCC) ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์จัดการภัยพิบัติที่มุ่งเน้นการตอบสนองต่อการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ พร้อมทำหน้าที่เป็นจุดสั่งปฏิบัติการสำหรับการสื่อสารโดยตรงระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น NHCC ได้รวมระบบบัญชาการกลาง ซึ่งรวมถึงศูนย์บัญชาการการแพร่ระบาดของโรคกลาง ศูนย์บัญชาการภัยพิบัติทางชีวภาพ ศูนย์บัญชาการต่อต้านการก่อการร้ายทางชีวภาพและศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์กลาง

ในกรณี COVID-19 นี้ เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนวันตรุษจีน เป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนและชาวไต้หวันหลายล้านคนคาดว่าจะเดินทางไปพักผ่อนช่วงวันหยุด ในวันที่ 31 ธ.ค.2019 เมื่อองค์การอนามัยโลกแจ้งถึงสาเหตุของโรคปอดบวมที่ไม่ทราบสาเหตุในอู่ฮั่น ประเทศจีน เจ้าหน้าที่ไต้หวันเริ่มตรวจสอบสายการบินและประเมินผู้โดยสารจากอู่ฮั่น เพื่อแจ้งเตือน โดยรวมบุคคลที่เดินทางไปอู่ฮั่นในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ขณะที่มีรายงานผู้ป่วยเป็นระยะๆ จากจีน ไต้หวันได้เปิดศูนย์บัญชาการการแพร่ระบาดของโรคกลาง (CECC) อย่างเป็นทางการภายใต้ NHCC โดยมี รมว.สาธารณสุขและสวัสดิการเป็นผู้บัญชาการ CECC ประสานกับกระทรวงต่างๆ เพื่อเป็นเอกภาพในการทำงาน

ที่น่าสนใจคือไต้หวันใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลประกันสุขภาพของประเทศ รวมเข้ากับฐานข้อมูลการตรวจคนเข้าเมืองและฐานข้อมูลศุลกากร เพื่อเริ่มสร้างข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับวิเคราะห์ สร้างระบบการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์เพื่อช่วยระบุตัวตนของผู้ป่วยจากประวัติการเดินทาง

นอกจากนี้ ยังใช้ QR code เทคโนโลยียุคใหม่ ในการรายงานประวัติการเดินทางออนไลน์และอาการทางสุขภาพ เพื่อจำแนกความเสี่ยงด้านการติดเชื้อของผู้เดินทางตามแหล่งกำเนิดเที่ยวบินและประวัติการเดินทางในช่วง 14 วันที่ผ่านมา โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกกักกันที่บ้านและติดตามอาการผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะอยู่บ้านในช่วงระยะเชื้อฟักตัวโดยการจัดหาอาหาร การตรวจสุขภาพและการให้กำลังใจแก่ผู้ที่ถูกกักกัน

ไต้หวันยังใช้ปฏิบัติการเชิงรุก โดยการค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงจากข้อมูลจากฐานข้อมูลประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วนำมาทดสอบ COVID-19 อีกครั้ง ซึ่งพบ 1 รายจาก 113 ราย มีการจัดหมายเลขสายด่วนโทรฟรี 1922 ทำหน้าที่เป็นสายด่วนในการรายงานอาการที่น่าสงสัยหรือกรณีในตัวเองหรือคนอื่นๆ

จนถึงปัจจุบัน CECC ได้ออกมาตรการอย่างรวดเร็วกว่า 124 มาตรการ รวมถึงการค้นหากรณีผู้ติดเชื้อในเชิงรุก การจัดสรรทรัพยากรต่างๆ การกำหนดนโยบายสำหรับโรงเรียนและการดูแลเด็ก และภาคธุรกิจ

CECC มีบทบาทอย่างแข็งขันในการจัดสรรทรัพยากร รวมถึงการกำหนดราคาหน้ากากและการใช้เงินทุนของรัฐบาลและบุคลากรทางทหารเพื่อเพิ่มการผลิตหน้ากากให้เพียงพอกับความต้องการรวมถึงมีการใช้แผนที่ออนไลน์แบบเรียลไทม์ที่สามารถระบุได้ว่าจะซื้อหน้ากากได้จากที่ไหนได้บ้าง พร้อมกับบอกได้ว่าแต่ละร้านมีสินค้าเหลือกี่ชิ้น

ในด้านการสื่อสารกับประชาชน จะมีการแถลงข่าวประจำวันโดย รมว.สาธารณสุขและสวัสดิการ รวมถึงรองประธานาธิบดีฯ ซึ่งเป็นนักระบาดวิทยาชั้นนำของประเทศ ที่เผยแพร่ข้อมูลเป็นประจำจากสำนักงานประธานาธิบดี ข้อมูลเหล่านี้จะรวมถึงเวลาและสถานที่ที่ควรสวมหน้ากาก ความสำคัญของการล้างมือ อันตรายของการกักตุนหน้ากากอนามัย รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือโรงเรียน ธุรกิจและคนงานที่ประสบความยากลำบาก

ในช่วงวิกฤติ รัฐบาลมักเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ภายใต้ข้อจำกัดและความไม่แน่นอน ซึ่งต้องการความเอกภาพของภาครัฐ การมีหน่วยบัญชาการกลาง รวมถึงการมีข้อมูลในการตัดสินใจที่ถูกต้อง ครอบคลุมและรวดเร็ว นอกจากนี้ รัฐบาลสามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ด้วยการส่งข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้องและโปร่งใสเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกของประชาชน และการกักตุนสินค้า ซึ่งไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดีในการตอบสนองต่อวิกฤติและปกป้องผลประโยชน์ของพลเมืองได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ฐานข้อมูลและเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม