มองกันยาว ๆ กับโปรเจค รัฐหนุนตั้ง โรงงาน 'หน้ากากอนามัย'

มองกันยาว ๆ กับโปรเจค รัฐหนุนตั้ง โรงงาน 'หน้ากากอนามัย'

มีการคาดการณ์ว่า วิกฤตโควิด -19 ในประเทศไทยจะจบลงได้ภายใน 2 เดือนจากนี้ ดังนั้นปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนก็น่าจะคลี่คลายไปพร้อมกับโควิด-19 หรือไม่ เพราะหน้ากากไม่ใช่แค่กันโรคโควิด-19 แต่ใช้เพื่อกันฝุ่น กันเชื้อโรคอื่นๆด้วย ที่คาดว่าจะมีมากขึ้นจากนี้

ท่ามกลางวิกฤตไม่เพียงการมองหาวิธีการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่ควรมองหาโอกาสใหม่ๆจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวด้วย วิกฤตหน้ากากอนามัยขาดแคลนอันเป็นผลต่อเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 กำลังจะเปิดช่องทางแห่งโอกาสใหม่ของการลงทุน 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่าจากการแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแก้ไขและวางแผนรองรับสถานการณ์ในอนาคต

โดยปัจจุบันการผลิตหน้ากากในไทยทำได้ประมาณวันละ 1.2 ล้านชิ้นขณะที่มีความต้องการใช้ในประเทศประมาณ 5 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งความต้องการหน้ากากอนามัยที่มากในระดับนี้ต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นโดยการสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานแห่งใหม่ในประเทศ

158382723415

ทั้งนี้ การลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยภาครัฐสามารถทำได้ทั้งการสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ลงทุนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก็ได้โดยต้องมีการให้สิทธิประโยชน์ทั้งในเรื่องของการลงทุนทั้งเรื่องของการให้สิทธิ์ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบ และการจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อสนับสนุนการตั้งโรงงานแห่งใหม่ ส่วนการนำเข้าเครื่องจักรก็สามารถที่จะช่วยจัดหาและอำนวยความสะดวกได้เช่นการนำเข้าจากไต้หวันเพื่อเริ่มการผลิตให้เร็วที่สุด

ขณะที่ในระยะต่อไปหากความต้องการหน้ากากในประเทศมีน้อยลงและผลิตได้เพียงพอแล้วก็ค่อยมาดูแผนเรื่องการส่งออกหน้ากากไปยังประเทศอื่นๆที่มีความต้องการใช้ซึ่งก็จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยแนวโน้มความต้องการใช้หน้ากากอนามัยยังมีมาก และต้องมองในอนาคตต้องจัดสรรให้พอเพราะเมื่อการระบาดของโควิดในไทยเข้าอยู่ในระยะที่3 ความต้องของหน้ากากอนามัยก็จะมากขึ้นอีก 

158382725545

"ตอนนี้ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมสมมุติว่าเรามีเวลาอีก 2 เดือนก็ต้องมานั่งคิดว่าต้องทำอะไรบ้าง หน้ากากที่จะจัดสรรให้แพทย์ พยาบาลซึ่งเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับโรคมีพอหรือไม่ ที่เหลือจะจัดสรรให้ประชาชนอย่างไรให้เพียงพอ”

นอกจากนี้ ได้หารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการออกมาตรฐานหน้ากากเพื่อรองรับการผลิตหน้ากากในประเทศเพราะวัสดุที่นำมาผลิตหน้ากากมีความหลากหลายซึ่งมาตรฐานจะทำให้ผู้บริโภคทราบว่าหน้ากากแบบใดมีมาตรฐานแบบใดเหมาะสมกับการใช้งานในลักษณะใดและสามารถใช้ป้องกันเชื้อโรคได้หรือไม่ ต้องเป็นมาตรฐานที่ยอมรับและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน

กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2563 เรื่องข้อแนะนำคุณลักษณะผ้าที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดเชื้อโคโรนา-19  

โดยคุณลักษณะของผ้าแนบท้ายประกาศได้ผ่านการจัดทำโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หากผู้ผลิตรายใดมีความประสงค์จะใช้คุณลักษณะของผ้าตามประกาศนี้ สามารถระบุในผลิตภัณฑ์ได้ว่า “ผลิตโดยใช้คุณลักษณะผ้าตามคำแนะนำของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม”

นอกจากนี้ ผู้ผลิตที่ประสงค์จะให้มีการตรวจสอบว่าผ้าที่เป็นวัตถุดิบว่ามีมาตรฐานตามประกาศฉบับนี้หรือไม่ สามารถส่งผ้าให้มีการตรวจสอบได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยมีค่าใช้จ่ายตามที่สถาบันกำหนด และประกาศนี้เป็นคำแนะนำการใช้วัตถุดิบในการผลิตเท่านั้น มิใช่การกำหนดมาตรฐาน เป็นการบังคับตามกฎหมาย

บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง ผลการจับกุมผู้ค้าหน้ากากอนามัยที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ว่ากระทรวงฯ ได้จัดส่งสายตรวจออกตรวจสอบแบ่งเป็นกรุงเทพฯ 74 ราย ส่วนต่างจังหวัดอีก 28 ราย ในความผิด 2 ข้อหาคือ มาตรา 28 ไม่ปิดป้ายแสดงราคา ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และความผิดตามมาตรา 29 และ 30 คือการค้ากำไรเกินควรและกักตุนสินค้า ซึ่งมีโทษหนักจำคุก 7 ปี ปรับสูงสุด 1.4 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนการจับกุมผู้ค้าออนไลน์ ทั้ง facebook Line Instagram จับกุมไปทั้งหมด 14 ราย

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันนี้ คือวันที่ 9 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป กระทรวงจะได้ดำเนินการตรวจสอบและจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายเกินราคาที่กฎหมายกำหนดไว้คือชิ้นละ 2.50 บาท