พาณิชย์ดีเดย์ 9 มี.ค.นี้ จับแหลกขายหน้าอนามัยแพง

พาณิชย์ดีเดย์ 9 มี.ค.นี้ จับแหลกขายหน้าอนามัยแพง

กรมการค้าภายใน เตือนผู้ขาย โก่งราคา “หน้ากากอนามัย” แบบสีเขียว ราคา 2.50 บาททั้งออฟฟไลน์ ออนไลน์ เตรียมส่งจนท.ตรวจสอบทั้งในกทม.และต่างจังหวัด เจอโทษหนักคุก 5 ปี ปรับ 1แสนบาท

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2563 เป็นต้นไป กรมฯ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจออกตรวจสอบการจำหน่ายหน้ากากอนามัย (แบบสีเขียว) ที่ประชาชนใช้สำหรับป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 โดยในกรุงเทพฯ จะมีจำนวน 10 สาย และต่างจังหวัดจะดำเนินการร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบว่ามีการจำหน่ายในราคาสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด คือ ชิ้นละ 2.50 บาทหรือไม่ หากพบว่ามีการจำหน่ายเกินราคา จะดำเนินการจับกุมและส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับทันที

“ขอเตือนไปยังร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือผู้ที่จำหน่ายทางออนไลน์ ให้จำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าไม่ทำตาม จะมีความผิด และถูกจับกุมดำเนินคดีไม่มียกเว้นทุกราย และเฉพาะทางออนไลน์ หากเป็นทางเฟซบุ๊ก จะมีการประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาช่วยตามตัว ส่วนที่ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ขายผ่านทางมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ไม่เพียงแต่เล่นงานคนขาย จะดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มและมาร์เก็ตเพลสที่ปล่อยให้มีการขายเกินราคาที่กำหนดด้วย มีโทษเท่ากัน”นายวิชัยกล่าว

อ่านข่าว-'ธรรมนัส' แจง 4 ข้อ ปัดเอี่ยวกักตุนหน้ากากอนามัย

  158366403041          

นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับการกระจายหน้ากากอนามัยที่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยได้รับมาวันละ 1.2 ล้านชิ้นจาก 11 โรงงาน ยังคงแบ่งสัดส่วนการระบายเช่นเดิม คือ 7 แสนชิ้น ให้กระทรวงสาธารณสุขกระจายให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาลทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชน ส่วนอีก 5 แสนชิ้น กรมการค้าภายในจะเป็นผู้ระบายให้กับประชากร 65 ล้านคน โดยส่วนหนึ่งจะกระจายให้กับการบินไทย เพื่อให้นำไปให้ผู้ที่ให้บริการทั้งในสนามบินและบนเครื่องบินใช้ กระจายให้กับร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อ คือ เซเว่นอีเลฟเว่น มินิ บิ๊กซี โลตัส เอ็กซ์เพรส แฟมิลี่มาร์ท และรถโมบาย 111 คัน กระจายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ทางศูนย์ฯ ได้เร่งจัดส่งหน้ากากอนามัยไปให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล ที่มีปัญหาขาดแคลนเป็นการเร่งด่วนแล้ว โดยจะส่งให้รายที่มีปัญหาก่อน จากนั้นจะทยอยส่งไปให้ทุกที่ ซึ่งปริมาณที่ส่ง สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนการจำหน่ายให้กับประชาชน ก็จะกระจายผ่านช่องทางที่มีอยู่ และจะเน้นผ่านรถโมบายมากขึ้น เพราะวิ่งตรงเข้าถึงชุมชน  ส่วนกระทรวงพาณิชย์ ได้ยกเลิกการจำหน่ายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา

158366404793

นายวิชัย กล่าวว่า  หน้ากากอนามัยมีเพียงพอกับความต้องการของประชาชนแล้วหรือไม่นั้น ก็ต้องตอบตามความเป็นจริง ทุกวันนี้ผลิตได้ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน ได้กระจายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้ที่มีความเสี่ยงในการทำงาน เช่น สนามบิน ศูนย์การประชุม และประชาชน หากคำนวนจากประชากร 65 ล้านคน และในจำนวนนี้ ถือว่ามี 10% ที่จำเป็นต้องใช้แค่คนละ 1 ชิ้นต่อวัน ก็จะมีความต้องการสูงถึงวันละ 6.5 ล้านชิ้น หัก 1.2 ล้านชิ้น ก็ยังขาดอยู่ 5.3 ล้านชิ้น ยังไงก็ไม่พอ ซึ่งกรมฯ ก็ต้องบริหารจัดการตามความเร่งด่วนและความจำเป็น และขอความร่วมมือประชาชน ช่วยซื้อแต่พอใจ อย่าซื้อกักตุน เพื่อให้คนข้างหลังได้มีโอกาสซื้อ แต่เชื่อว่า ในระยะต่อไป น่าจะดีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้เร่งผลิตหน้ากากผ้า เพื่อเป็นหน้ากากทางเลือกให้กับประชาชนได้ใช้

ส่วนสินค้านำเข้า ปกติเคยนำได้เข้าประมาณ 20 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่ปัจจุบันในเดือนม.ค.2563 ที่ผ่านมา นำเข้าเหลือ 1-2 ล้านชิ้นต่อเดือน และในจำนวนนี้เป็นหน้ากากอนามัยแบบสีเขียวแค่ 7-8 แสนชิ้นเท่านั้น ถือว่ายอดลดลงมาก เพราะประเทศที่เป็นผู้ผลิตอย่างจีน ญี่ปุ่น ได้ห้ามการส่งออก ซึ่งก็ต้องหาทางเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ โดยล่าสุดรัฐบาลได้เดินหน้าแก้ไขแล้ว ทั้งการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ หรือสนับสนุนให้มีการลงทุนโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต