ชำแหละเกณฑ์มาร์เก็ตแคปหุ้นไอพีโอ พบเทรดต่ำจองอื้อ-เซียนหุ้นหนุนเลิก

 ชำแหละเกณฑ์มาร์เก็ตแคปหุ้นไอพีโอ พบเทรดต่ำจองอื้อ-เซียนหุ้นหนุนเลิก

หุ้นที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือ "หุ้นไอพีโอ" ที่เข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์มูลค่าตลาด หรือ "มาร์เกตแคป" นั้น ทำนักลงทุนเกิดอาการผวา

เพราะจากประวัติที่ผ่านมา "หุ้น" ที่เข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบันมีจำนวน 12 บริษัท 

ในจำนวนนี้มีถึง “8 บริษัท” ที่การซื้อขายวันแรก “ต่ำกว่า” ราคาไอพีโอ สร้างความเสียหายกับนักลงทุนจำนวนมาก หลายคนถึงกับขยาดการลงทุนในหุ้นที่เข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์ดังกล่าว เพราะกว่าที่ราคาหุ้นจะกลับมายืนเท่าราคาจองหรือสูงกว่าราคาจองได้ส่วนใหญ่ใช้เวลา 3 เดือนถึง 1 ปี 

นอกจากนี้ยังพบว่า บางบริษัทราคาไม่เคยสูงกว่าราคาไอพีโอเลย ทำให้ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณภาพของหุ้นไอพีโอและเรียกร้องให้มีการยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าวเป็นระยะ โดยหุ้นที่เข้าด้วยเกณฑ์นี้ จะเป็น "หุ้นขนาดใหญ่" แม้จะ "ไม่มีผลกำไร" ก็สามารถเข้าจดทะเบียนได้ เพราะเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะหุ้นไอพีโอ 2 ตัวล่าสุด ที่เข้าจดทะเบียนตามเกณฑ์ดังกล่าว ราคาหุ้นที่เข้าเทรดวันแรกร่วงลงถึง 20-30% ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น 

ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) อยู่ระหว่าง เปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) การ "ยกเลิก" เกณฑ์รับหลักทรัพย์ที่พิจารณา Market Capitalization ทั้งใน SET และ mai เพื่อให้บริษัทที่จะจดทะเบียนได้ต้องเป็นบริษัทที่มีกำไรมาแล้ว และเป็นการเพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียน และประโยชน์ของผู้ลงทุน เพราะหลังจากการใช้เกณฑ์ดังกล่าวตลาดหลักทรัพย์พบว่า 12 บริษัทเข้าด้วยเกณฑ์นี้ เกือบ50% ขาดทุนต่อเนื่องหลังเข้าจดทะเบียน สะท้อนคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน 

ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทที่จะระดมเงินจากประชาชนในวงกว้างและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง ผลประกอบการดี จึงเห็นควรยกเลิกเกณฑ์ Market Capitalization ที่อาจเป็นช่องทางให้บริษัทที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนและมีความเสี่ยงสูงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน

“นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนรายใหญ่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนแนวเน้นคุณค่า (VI) กล่าวว่า เห็นด้วยในการยกเลิกหุ้นไอพีโอที่เข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคป เพราะ ที่ผ่านมาหุ้นไอพีโอที่เข้าด้วยเกณฑ์ดังกล่าว สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในหุ้นนั้นต้องการผลตอบแทนที่ดี 

โดยผลตอบแทนที่จะคาดหวังได้ คือ เงินปันผล เพราะผลตอบแทนด้านส่วนต่างราคาหุ้น (แคปปิตอลเกน)นั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้นบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนควรที่จะมีกำไรมาก่อนซึ่งเป็นการสะท้อนว่าธุรกิจของบริษัททิศทางที่ดี และสามารถจ่ายเงินปันผลได้ จึงเหมาะสมที่จะนำเข้ามาให้นักลงทุนเข้าลงทุน

“ส่วนตัวมองว่าแม้จะเป็นหุ้นไอพีโอขนาดใหญ่จะยังไม่มีกำไรนั้นเข้ามาก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อนักลงทุน ซึ่งหากบริษัทไหนยังไม่มีกำไรก็ไม่ควรที่จะรีบร้อนเข้ามาจดทะเบียน ควรรอให้มีกำไรก่อนเพื่อพิสูจน์ธุรกิจมีทิศทางดี สามารถจ่ายปันผลเพียงพอเหมาะสมกับราคาหุ้นที่มาเสนอขายให้มหาชน แต่หากบริษัทที่มีผลขาดทุน จะเข้ามาลงทุนควรเป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น สาธารณูปโภคเห็นชัดเจนมีโอกาสกำไรนั้นสามารถทำได้ แต่กิจการปกติควรรอให้มีกำไรก่อนจะดีกับนักลงทุนมากกว่า”

“วัชระ แก้วสว่าง” หรือ เสี่ยป๋อง นักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า ควรยกเลิกการรับหุ้นไอพีโอด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคป เพราะมีหุ้นไอพีโอที่เข้ามาจดทะเบียนด้วยเกณฑ์ดังกล่าว ปรากฎว่าผลดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหาย จึงมองว่าบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนนั้นควรที่จะเป็นบริษัทที่มีผลกำไรติดต่อกันมาสักระยะก่อนเพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจลงทุนเพราะอย่างน้อยยังเคยมีกำไร

นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในหุ้นนั้นต้องการรผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอ หากบริษัทมีกำไรที่ดี ก็จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ จึงทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจลงทุน และยังเป็นการช่วยไม่ให้ราคาหุ้นผันผวนมากแม้ภาพรวมตลาดหุ้นจะแกว่งตัวแรง ดังนั้นจึงมองว่าควรให้บริษัทที่กำไรแล้วเข้าจดทะเบียนจะดีมาก และยังเป็นการส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในหุ้นไอพีโอ