สั่งเกาะติด 'แฟลชม็อบ' ประเมินวันต่อวัน 'อนุทิน' ปัดงัดพ.ร.บ.มั่นคง

สั่งเกาะติด 'แฟลชม็อบ' ประเมินวันต่อวัน 'อนุทิน' ปัดงัดพ.ร.บ.มั่นคง

สมช. สั่งเกาะติด "แฟลชม็อบ" ประเมินวันต่อวันสกัดมือที่3 ด้าน "อนุทิน" ปัดงัดพ.ร.บ.มั่นคง "พปชร.-ปชป." ชงสภาฯ เปิดเวทีรับฟังความเห็น

ความเคลื่อนไหวการกิจกรรมแฟลชม็อบของกลุ่มนิสิตนักศึกษา และ นักเรียนตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ วานนี้ (1มี.ค.) พล.อสมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ให้สัมภาษณ์การดูแลการชุมนุมจัดกิจกรรมชุมนุมว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงมีการจับตากิจกรรมแฟลชม็อบ อย่างใกล้ชิด พร้อมขอร้องให้จัดกิจกรรมอยู่ในสถาบันมากกว่าขยายชุมนุมท้องถนน เพราะเกรงกระทบกระทั่งกับกลุ่มคนที่ 3 ทั้งนี้ประเด็นสมช.ห่วงมือที่ 3 สร้างสถานการณ์

อ่านข่าว-สั่งเกาะติด 'แฟลชม็อบ' ประเมินวันต่อวัน 'อนุทิน' ปัดงัด

สั่งเกาะติด \'แฟลชม็อบ\' ประเมินวันต่อวัน \'อนุทิน\' ปัดงัดพ.ร.บ.มั่นคง

และต้องประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ ดูแลด้วยความละมุนละม่อม ทั้งนี้หากจัดกิจกรรมอยู่ในสถาบันการศึกษาก็ไม่น่าจะมีอะไรทำให้เกิดความวุ่นวาย

“ขอร้องกลุ่มนิสิตนักศึกษา อย่าจัดกิจกรรมนอกสถานศึกษา หรือ ออกมายังท้องถนน เพราะหากออกมาแล้วจะทำให้ควบคุมดูแลความปลอดภัยได้ยากลำบาก โดยเฉพาะการกระทบกระทั่งของกลุ่มคนที่ 3 ที่อาจจะสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายได้ ดังนั้นขอให้จัดกิจกรรมอยู่ในสถาบันตามกรอบที่เหมาะสม อย่าไปหมิ่นสถาบัน อีกทั้งผู้บริหารของสถาบันก็ไม่ได้ไปกดดันอะไร” เลขา สมช.กล่าวและว่า

สำหรับมาตรการในการดูแลความปลอดภัย หากกลุ่มนิสิตนักศึกษาขยายชุมนุมนอกสถาบันนั้น พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จะต้องดูเป็นกรณีไป แต่เจ้าหน้าที่ทหาร และ ตำรวจ จะปฏิบัติงานด้วยความละมุนละม่อมให้มากที่สุด โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ปะทะกัน ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ได้ปิดกั้นการแสดงออกใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้รัฐบาล หรือ หน่วยงานด้านความมั่นคง ไม่ได้มีอำนาจในการกดดัน หรือ แทรกแซงใด ๆ ทุกอย่างต้องว่าไปตามกฎหมาย

สั่งเกาะติด \'แฟลชม็อบ\' ประเมินวันต่อวัน \'อนุทิน\' ปัดงัดพ.ร.บ.มั่นคง

วันเดียวกัน ที่แยกบริเวณราชประสงค์ กลุ่มกวีศิลปิน - NGO นำโดย น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน จัดกิจกรรมชุมนุม “กวีศิลปินไล่หัวหน้าไอโอ” แสดงจุดยืนทางสังคมเรียกร้องประชาธิปไตย และเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหมเคารพเสียงประชาชน ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ตร.คุมเข้มชุมนุมราชประสงค์

จากนั้นผู้จัดกิจกรรมสลับกันปราศรัย โดยตัวแทนกลุ่ม Queer เพื่อประชาธิปไตย กล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาสามารถบอกได้ไหมว่าเศรษฐกิจดี ค้าขายอะไรก็รวย ซึ่งไม่จริง เพราะทุกคนกำลังหาเพื่อนร่วมทางที่ต้องการหาผู้ช่วยเหลือ แต่รัฐเผด็จการกลับไม่เคยช่วยเรา เขาพรากสิทธิเราทุกคน นอกจากนี้ในเรื่องสุขภาพ เรื่องเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ต้องการให้รัฐช่วยให้ความมั่นใจ แต่พวกเขากลับไม่เคยออกมาตรการอะไรเลย มีแต่พูดจางี่เง่าเท่านั้น ประเทศเราทำให้เรารู้สึกหมดหวัง แต่วันนี้น้องๆ นักศึกษาออกมาแล้ว เริ่มเห็นความเป็นธรรมในสังคมบ้างแล้ว ทุกคนเริ่มเบ่งบานและออกมาด้วยพลังบริสุทธิ์ แต่พวกคุณก็ยังใช้รูปแบบข่าวปลอมมาดูถูกประชาชน ดังนั้นการที่เราออกมาวันนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกดขี่ไม่ได้อยู่เฉพาะนิสิตนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพวกเราด้วย

ขณะที่มาตรการในการรักษาความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ได้นำรั้วเหล็กกั้นไว้สำหรับเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม ขณะเดียวกันมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในและนอกเครื่องแบบเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ทั่วบริเวณตั้งแต่ก่อนเวลา 15.30 น. นอกจากนี้ยังมีการวัดไข้ พร้อมเตรียมเจลแอลกอฮอล์สำหรับผู้ร่วมกิจกรรมด้วย โดยนอกจากกิจกรรมปราศรัยแล้ว ยังมีการอ่านบทกวี และการแสดงดนตรีร่วมด้วย

“อนุทิน” ปัดงัดพ.ร.บ.มั่นคง

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ค ชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุข จะเสนอนายกรัฐมนตรี ให้ใช้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยยืนยันว่าไม่เคยคิดถึงพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาก่อน

สั่งเกาะติด \'แฟลชม็อบ\' ประเมินวันต่อวัน \'อนุทิน\' ปัดงัดพ.ร.บ.มั่นคง

“ผมไม่เคยคิดสกัดกั้น หรือห้ามการชุมนุมทางการเมือง เพื่อแสดงออกถึงสิทธิ เสรีภาพ ทางความคิด และ การพูด ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนกลุ่มใดๆ ก็ตาม หากการชุมนุมนั้นไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ขัดต่อกฎหมาย”

ทั้งนี้ยอมรับว่าการประกาศให้ covid-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย กระทบต่อการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชน มากพอสมควร แต่เป้าหมายคือ ต้องการควบคุมการระบาดของโรคติดต่อ และป้องกันชีวิต และสุขภาพของประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ใช่การควบคุมหรือจำกัดสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองของประชาชน ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการประกาศโรคติดต่ออันตราย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ทำงานควบคุมโรคติดต่อมาหลายสิบปี เคยให้คำแนะนำว่า ไม่ควรจัดการชุมนุมทางการเมือง เพราะเป็นโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดของ covid-19 ได้

ยันไม่มีเจตนาจำกัดสิทธิชุมนุม

"ผมในฐานะนักการเมือง ไม่มีเจตนาจะแถลงเรื่องการชุมนุมทางการเมือง เพราะทราบดีว่าจะถูกแปรเจตนาเป็นอื่น และถูกกล่าวหาหวังผลทางการเมือง
แต่สอบถามนายแพทย์ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขหลายท่าน ที่เข้าประชุมแล้ว เข้าใจดีว่า ทุกท่านไม่อยากพาดพิงเรื่องการชุมนุมทางการเมือง แต่มีความกังวลมากว่า การควบคุมการระบาดของ covid-19 ที่ประเทศไทยทำมาได้ดี อาจจะมีจุดเสี่ยงและถึงจุดเปลี่ยนได้"

อย่างไรก็ดีตนจึงต้องแถลงด้วยตัวเองแต่ย้ำหลายครั้งว่า ไม่ห้ามการชุมนุมเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแต่ขอให้เจ้าของสถานที่ และผู้จัดการชุมนุม จัดการชุมนุมอย่างมีความรับผิดชอบ ยืนยันว่าไม่มีเรื่องพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพราะไม่ใช่ภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข

พปชร.หนุนชงสภารับฟังความเห็น

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) แถลงว่า กรณีส.ส.พปชร. เตรียมเสนอญัตติให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ในสภาผู้แทนราษฎร เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ส.ส.ของพรรคเสนอต่อสภาฯ เพื่อดำเนินการรับฟังฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายเห็นต่าง เพื่อให้ได้มีเวทีเอาข้อมูลมาพูดคุยกัน เป็นความตั้งใจของพรรค พปชร.ที่จะรับฟังข้อขัดแย้ง เชื่อว่าคนไทยเราถ้ารับฟังกันให้มาก มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยใช้ข้อเท็จจริงพูดคุยกัน จะลดผลกระทบของความขัดแย้งลงได้ ถือเป็นทางออกที่ดีของทุกความขัดแย้ง

สั่งเกาะติด \'แฟลชม็อบ\' ประเมินวันต่อวัน \'อนุทิน\' ปัดงัดพ.ร.บ.มั่นคง

เช่นเดียวกับนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27ก.พ.ที่ผ่านมา ตนได้ทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้เเทนราษฎร เพื่อขอเสนอญัตติด่วนเรื่องขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงกับสภาฯ ในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ตามที่ในปัจจุบันได้เกิดปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง 36 สถาบัน นัดชุมนุมภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย สถานศึกษา และล่าสุดมีการรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ซึ่งตนคิดว่ากลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาถือเป็นเสียงสวรรค์ เป็นพลังบริสุทธิ์ที่จะผลักดันอนาคต หากยังปิดกั้นหรือแกล้งไม่ได้ยินเสียง การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาประเทศอาจจะถึงขั้นต้องสะดุดหยุดลง

แต่หากสภาฯเปิดพื้นที่โดยมีตัวเเทนนักศึกษา มาร่วมเป็นกมธ.สถาบันละ1 คน จะช่วยส่งเสริมวิถีทางตามวิถีทางประชาธิปไตยระบอบรัฐสภา ที่ไม่ต้องให้พวกเขาลงไปทำการเมืองบนท้องถนน ซึ่งจะป้องกันการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน การกระทบสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น รวมถึงป้องกันอันตรายที่อาจส่งผลกระทบสุภาพของเยาวขนจากการชุมนุมในที่โล่งแจ้งด้วย เป็นต้น.

พท.เตือนรัฐบาลหยุดปิดกั้น

ขณะที่น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่ากรณีที่รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในการควบคุมไม่ให้เกิดการชุมนุม ตนในฐานะผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน เห็นว่าการรับฟังเสียงของประชาชน ที่สะท้อนถึงการทำหน้าที่ของอำนาจทั้งสามฝ่าย เป็นสิ่งที่ต้องรับฟังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสะท้อนความจริงที่ตรงไปตรงมา คือหัวใจ”สำคัญที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้นำเอาข้อบกพร่องไปปรับปรุงเพื่อพัฒนาการทำหน้าที่ของตนเองให้มีประสิทธิภาพ เพราะเสียงของประชาชน คือ เสียงที่ทรงพลังที่สุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ไม่ว่ารัฐบาลจะอาศัยเหตุผลใดก็ตาม มาสร้างเงื่อนไขเพื่อพยายามปิดกั้นการชุมนุมของประชาชนที่แสดงพลังอย่างบริสุทธิ์ โดยเฉพาะนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง กล้าตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา สนใจปัญหาต่างๆ ของประเทศอย่างจริงจัง และออกมาแสดงพลังกันทั่วทุกภูมิภาค ย่อมชัดเจนอยู่ในตัวเองว่าความพยายามในการอาศัยเงื่อนไขบางประการ มาปิดกั้นการแสดงออกซึ่งสิทธิ เสรีภาพของประชาชน กลายเป็นจุดมุ่งหมายหลักของการใช้กฎหมายนี้ มากกว่าความพยายามที่จะจัดการปัญหาตามที่รัฐบาลอ้าง