ไทยเร่งวิจัยวัคซีนป้องกัน 'โควิด-19'

ไทยเร่งวิจัยวัคซีนป้องกัน 'โควิด-19'

11 หน่วยงานจับมือเป็น “ทีมไทย”เริ่มวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 คาดหากระยะโรคระบาด วัคซีนทดลองได้ผลระยะแรก มีความปลอดภัย-จัดการเชื้อได้ อาจขยายใช้ในกลุ่มเสี่ยงก่อน

      เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า มีการลงนามความร่วมมือเพื่อการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 และการวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศ ร่วมกับผู้แทน 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ทำให้มีทีมไทยแลนด์เพื่อพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรค COVID-19 และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
         นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือเพื่อการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 และการวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศ ว่า การพัฒนาวัคซีนจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้และกระบวนทัศน์จากทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการแยกเชื้อ เพาะเชื้อ การเจาะเลือด การดูแลผู้ป่วย รวมถึงการขึ้นทะเบียนกรณีมีการพัฒนาวัคซีนสำเร็จ แม้ว่าการดำเนินการในเรื่องนี้จะต้องใช้เวลาแต่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของสถาบันฯ ที่มีภารกิจเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างความมั่นคงทางวัคซีนทั้งในยามปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ในการวิจัยวัคซีนตอบยากว่าเมื่อไหร่จะได้วัคซีนเพราะแสดงว่าวัคซีนนั้นต้องได้ผลและมีพร้อมให้ประชาชนใช้ แต่หากเป็นการวิจัยให้ได้คำตอบในระดับสัตว์ทดลองว่าได้ผลหรือไม่นั้นใช้ระยะเวลา9-12 เดือน
          ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกาที่มีการให้ทุนเอกชนนั้นใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเสร็จ ทดลองในสัตว์อีก2-3 เดือน ดังนั้น ภายใน 6 เดือนน่าจะถึงการทดลองในคน สำหรับประเทศไทยในยุคที่มีการระบาดของโรคอยู่นั้น หากทดลองระยะในหลอดทดลองแล้วพบว่ามีความปลอดภัยและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าสามารถจัดการกับเชื้อได้ผล ก็อาจจะขยายผลไปใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้เลย แต่ถ้าเป็นภาวะปกติต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งปีครึ่งถึง2ปี
          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในการพัฒนาวัคซีนนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสโคโรน่า2019ได้เป็นประเทศแรกของโลก หากไม่นับประเทศจีน ซึ่งจะทำให้มีวัตถุดิบไปใช้ในการพัฒนาวัคซีน นอกจากนี้ สามารถเลี้ยงเซลล์ที่มีเชื้อไวรัสนี้และวัดปริมาณไวรัสได้ และมีศูนย์สัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐานสูงสุดระดับโลก จึงสามารถทดลองวัคซีนในสัตว์และวัดภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นได้ และจะหาวิธีวัดภูมิคุ้มกันในคนหลังได้รับวัคซีนด้วย