บริษัทเอเชียเร่งปรับตัว รับ 'โควิด-19' ระบาดหนัก

บริษัทเอเชียเร่งปรับตัว รับ 'โควิด-19' ระบาดหนัก

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ยังคงสร้างความปั่นป่วนและวุ่นวายไปทั่วโลกขณะนี้ เริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทชั้นนำในเอเชียหลายแห่ง ไปดูกันว่าบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ รับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

เริ่มจาก สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ (เอสไอเอ) ยืนยันว่าได้ระงับการรับสมัครงานในตำแหน่งพนักงานพื้นดิน และพนักงานในส่วนอื่นๆ เป็นการชั่วคราว เพื่อลดต้นทุน หลังจากที่สายการบินได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19

โฆษกของเอสไอเอ บอกว่า สายการบินได้ระงับการรับสมัครงานในตำแหน่งพนักงานภาคพื้นดินทั้งหมด รวมถึงเรียกร้องให้พนักงานสมัครใจลาหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง และสายการบินจะติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆเพิ่มเติมต่อไป แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทำการใดๆที่กระทบกับสายการบินในระยะยาว

“โก๊ะ ชุน ฟง” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เอสไอเอ บอกว่า สายการบินได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 หลังต้องยกเลิกเที่ยวบินมากกว่า 3 พันเที่ยวบินในช่วงระหว่างเดือน ก.พ. ถึงเดือน พ.ค. หรือคิดเป็น 7.1% ของเที่ยวบินทั้งหมด แต่สายการบินจะยังคงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษามาตรฐานของทางสายการบินต่อไป

ความเคลื่อนไหวของเอสไอเอ ไม่ต่างจากเทมาเส็ก โฮลดิง บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ระบุว่า บริษัทจะระงับการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงาน และเรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูงยอมปรับลดเงินเดือน และโบนัสลงโดยสมัครใจ โดยมาตรการนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย.

ทั้งนี้ เทมาเส็ก มีเป้าหมายที่จะกันเงินสำรองไว้สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือชุมชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดของเทมาเส็ก สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคนี้

ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ) ได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลสิงคโปร์ที่รับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างดี

ด้านกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ออกแถลงการณ์วานนี้ (26ก.พ.)ว่า ทีมวิจัยทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัย Duke-NUS Medical School มีความคืบหน้าในการพัฒนาวิธีการตรวจสอบผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการใช้วิธีการตรวจสอบทางวิทยาเซรุ่ม (serological test) เพื่อยืนยันการติดเชื้อ และยังสามารถหาจุดเชื่อมโยงในหมู่ผู้ติดเชื้อได้

วิธีการตรวจสอบทางวิทยาเซรุ่ม ทำให้ทีมวิจัยชุดนี้สามารถตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 2 ราย โดยการตรวจสอบทางวิทยาเซรุ่มนั้น สามารถระบุสารภูมิต้านทาน (antibody) ในตัวอย่างเลือด ซึ่งโดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเราจะผลิตสารภูมิต้านทานออกมาเพื่อตอบสนองกับการติดเชื้อ

กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ผู้ติดเชื้อทั้ง 2 รายถูกระบุว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนในโบสถ์ท้องถิ่นในสิงคโปร์ ซึ่งความสำเร็จในการพัฒนาวิธีการตรวจสอบนี้ เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ หลังจากสิงคโปร์ยืนยันพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายแรก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ เผยตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศปี 2563 เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ว่า จะขยายตัวประมาณ 0.5% โดยปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ระหว่าง -0.5 ถึง 1.5% ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่มองว่าเศรษฐกิจของประเทศปี 2563 จะขยายตัวระหว่าง 0.5-2.5%

“ครั้งก่อนมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ควบคู่กับวงจรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกฟื้นตัวในปีนี้ แต่หลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อจีน สิงคโปร์ และหลายประเทศทั่วโลก” แถลงการณ์จากกระทรวงฯระบุ

นอกจากนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ยังจำแนกถึงผลกระทบจากไวรัสที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศว่า ได้แก่ ภาคส่วนที่เน้นต่างประเทศ เช่น การผลิตและค้าส่ง เสียหายเนื่องจากความต้องการในตลาดหลักรวมถึงจีนซบเซา ภาคการท่องเที่ยวและขนส่งเสียหายรุนแรงจากการที่นักท่องเที่ยวลดจำนวนลงมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนเช่นเดียวกับการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง จากการที่ประชาชนลดการจับจ่ายซื้อของและรับประทานอาหารนอกบ้าน

“ชิเซโด” บริษัทเครื่องสำอางชั้นนำโลกสัญชาติญี่ปุ่น  ก็ปรับตัวรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยเช่นกัน ด้วยการสั่งให้พนักงานบริษัทประมาณ 30% ของพนักงานที่มีทั้งหมดประมาณ 8,000 คน ทำงานจากที่บ้านเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดในญี่ปุ่นจะบรรเทาลง ซึ่งคำสั่งนี้ครอบคลุมประธานบริษัทและบรรดาผู้บริหารคนอื่นๆ แต่ส่วนที่ยังคงมาทำงานต่อไปตามปกติคือ พนักงานฝ่ายผลิตในโรงงานและพนักงานขาย  

ทุกวันนี้ ญี่ปุ่น ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 มากที่สุดในโลก และรัฐบาลญี่ปุ่น ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าล้มเหลวในการยับยั้งการระบาดของไวรัสชนิดนี้ โดยนับจนถึงวันอังคาร(25ก.พ.)ยอดผู้ติดเชื้อบนเรือไดมอนด์ พรินเซสมีจำนวน  691 คน เสียชีวิต 4 คน หายแล้ว 10 คน ส่วนยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่อื่นๆของญี่ปุ่น มีจำนวน  160 คน เสียชีวิต 1 คน รักษาหายแล้ว 23 คน