สธ.ยันยังไร้วาระประกาศ 'โควิด-19'ระบาดระยะ 3

สธ.ยันยังไร้วาระประกาศ 'โควิด-19'ระบาดระยะ 3

สธ.ยืนยันผู้ป่วยที่แม่สอดไม่ติดโควิด-19 ย้ำประชุมผู้เชี่ยวชาญไร้วาระระบาดระยะ 3 เผยอาจเจอผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศเกิดขึ้นได้ หลังปรับเกณฑ์เฝ้าระวังเข้มข้น เตรียมระบบพร้อมเปิดหอผู้ป่วยพิเศษรองรับทันทีภายใน 48 ชั่วโมง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19(COVID-19)ว่า ผู้ป่วยยืนยันติดโควิด-19สะสมในประเทศไทยคงที่ 35 ราย กลับบ้านแล้ว 21 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 14 ราย โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาการดีขึ้น รอผลการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ)เป็นลบ แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ ส่วน 2 รายที่อาการหนัก ในรายที่ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด อาการดีขึ้น ตอบสนองต่อแพทย์ได้มากขึ้น และรายที่มีวัณโรคร่วมด้วย อาการดีขึ้น ระบบหายใจดีขึ้น แต่ทั้ง 2 รายยังจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และเป็นการร่วมกันดูแลของทีมแพทย์จากหลายสถาบัน ขอให้มั่นใจว่าทุกวิธีการและนวทางรักษาที่มีจะนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยเต็มที่

ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 22 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,453 ราย คัดกรองจากสนามบิน 68 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 1,385 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,121 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 332 ราย

“ ขอให้ประชาชนมีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง มีไข้ ไอ มีน้ำมูก มีการทางระบบทางเดินหายใจ และมีประวัติเดินทางไปพื้นที่ระบาดของโรค ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยรีบพบแพทย์ทันที หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง”นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าว

ผู้ป่วยที่แม่สอดไม่เป็นโควิด-19
นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า กรณีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังชาวจีน ที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลแม่สอดด้วยอาการโรคระบบทางเดินหายใจนั้น ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 แห่งได้ผลเป็นลบ ไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังรักษาต่อตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติจากมีโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิม ขณะนี้ทุกด่าน ทั้งบก เรือ อากาศ ด่านธรรมชาติ ยังคงเข้มงวดการเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางอย่างต่อเนื่อง และได้มีการสั่งการให้ระดับพื้นที่มีความเข้มข้นยิ่งขึ้นในการตรวจสอบ ซึ่งในระดับพื้นที่ประสานความร่วมมือการทำงานร่วมกันทั้งฝ่ายปกครอง ความมั่นคง สาธารณสุข และการตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อให้ผ่านเข้าออกประเทศได้เฉพาะด่านถาวร ที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นเท่านั้น


ไม่มีวาระระบาดระยะ3
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่าเตรียมประกาศการระบาดเข้าสู่ระยะ3 นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่ออันตรายที่รองนายกฯเป็นประธาน และมีคณะกรรมการอีก 30 ท่าน ซึ่งจะประชุมในช่วงเวลา 14.30 น.วันนี้(24 กุมภาพันธ์ 2563) ไม่มีวาระของการประกาศโรคโควิด-19ในประเทศไทยมีการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่อย่างใด มีเพียงวาระการพิจารณาจะประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่เท่านั้น 

อาจเจอผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการดำเนินการเฝ้าระวังเข้มข้นมาตลอด มีการขยายนิยามการเฝ้าระวัง ด้วยการปรับเกณฑ์ให้มีความไวขึ้นตามสถานการณ์มาโดยตลอด คือ เพิ่มพื้นที่เสี่ยง เพิ่มอาชีพเสี่ยง เพิ่มกลุ่มอาการปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุและในบุคลากรทางการแพทย์ รวม 4 ครั้ง เพื่อให้ตรวจจับผู้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรควันละราว 100 ราย มีการตรวจเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน เป็นความตั้งใจที่จะค้นหาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการขยายกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการทำให้มีโอกาสเจอผู้ป่วยมากขึ้น

“หลังมีการเปลี่ยนนิยามจะมีคนไทยเข้ามาตรวจมากขึ้น ทั้งพนักงานขับรถ คนที่ที่งานอยู่ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก นักเรียน นักศึกษาที่กลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรค และบุคลากรสาธารณสุข จะเห็นว่าการปรับนิยามมุ่งที่จะค้นหาผู้ที่มีโอกาสรับเชื้อในประเทศไทยมากขึ้น นอกเหนือจากที่มีการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ และอีก 1 สัปดาห์จากนี้ น่าจะมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยที่เป็นคนไทยถ้าหากมีการติดเชื้อในประเทศไทยเกิดขึ้นจริงๆ ก็หมือนกับสถานการณ์ที่เห็นในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเร็วมาก จากการที่มีผู้ป่วย 1 คนแพร่เชื้อให้คนในสถานที่เดียวกันและเมื่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลมาก ก็มีการติดเชื้อในโรงพยาบาลเกิดขึ้น แต่ในประเทศไทยยังไม่พบความปิดปกติ แต่ก็ไม่แน่จะต้องตามดูเป็นระยะๆ”นายแพทย์โสภณกล่าว

เปิดหอผู้ป่วยรองรับใน 48 ชม.
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวด้วยว่า ในการเตรียมการความพร้อมกรณีที่อาจจะเกิดการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3หรือกรณีมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นนั้น ได้มีการเตรียมพร้อมทรัพยากรต่างๆ โดยหากพื้นที่ใดที่มีผู้ป่วยอยู่ในระดับ 30-40 คนก็จะมีการพิจารณาเปิดหอผู้ป่วยรองรับพิเศษเป็นการเฉพาะภายใน 48 ชั่วโมง โดยขณะนี้ในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีการเตรียมความพร้อมไว้ 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันบำราศนราดูร และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ส่วนในต่างจังหวัดมีการเตรียมพร้อมในระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แต่หากกรณีมีผู้ป่วยมากขึ้นอีก พื้นที่กรุงเทพฯก็จะเตรียมสถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครและโรงเรียนแพทย์ในการรองรับ และหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในพื้นที่ใดระดับ 100-200 คนก็อาจจะมีการพิจารณาเปิดโรงพยาบาลสนามในการให้การดูแลผู้ป่วย