ผ่าร่างกฎหมาย '3ฉบับ' ปฏิรูป 'การออม' ประเทศไทย

ผ่าร่างกฎหมาย '3ฉบับ' ปฏิรูป 'การออม' ประเทศไทย

หนึ่งในแผนการปฏิรูปประเทศ คือ "การปฏิรูปด้านสังคม" ผ่านการสร้างระบบให้คนไทยมีเงินบำเหน็จบำนาญไว้ใช้หลังพ้นวัยทำงาน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม แนวทางคือ การสร้างระบบการออมภาคบังคับให้เกิดขึ้น

ขณะที่ปัจจุบันระบบการออมของประเทศมีทั้งรูปแบบบังคับและสมัครใจ แต่ยังมีจำนวนประชากรอีกหลายสิบล้านคนอยู่นอกระบบการออม

“พิสิฐ ลี้อาธรรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอร่างกฎหมายและร่างแก้ไขกฎหมายการเงินจำนวน "3 ฉบับ" ต่อสภาผู้แทนราษฎร มีวัตถุประสงค์ให้กฎหมายเข้ามาปฏิรูประบบการออมของประเทศ เพื่อดูแลประชาชนทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบหลักประกัน ให้มีเงินออมระดับที่เหมาะสมในยามเกษียณ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเสนอและอยู่ระหว่างการบรรจุเข้าวาระการประชุมแล้ว

"เราร่างกฎหมายเสร็จหมดแล้ว เสนอถึงประธานสภาฯแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นรอบรรจุเข้าวาระ กฎหมายนี้เป็นกฎหมายการเงินจะส่งให้รฐบาลไปพิจารณา เพื่อเร่งให้กฎหมายการเงินที่ตกค้างที่อยู่ในสภา 2 ฉบับ คือ กฎหมายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ และกฎหมายสำรองเลี้ยงชีพ เอามาเปรียบเทียบและถกกัน และอาจมีพรรคการเมืองอยากเสนอร่างอื่นมาเทียบกันก็ได้"

ปัจจุบัน ระบบการออมยามเกษียณของประเทศนั้น เป็นระบบที่เรียกว่า "ต่างคนต่างทำ" มีทั้งรูปแบบการออมภาคบังคับและแบบสมัครใจ ทั้งสองรูปแบบมีผู้ออมรวมกว่า 11 ล้านคนเท่านั้น แบ่งเป็น การออมภาคบังคับผ่านกองทุนประกันสังคม 10 ล้านคนเศษ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการประมาณ 1 ล้านคน

ส่วนการออมแบบสมัครใจผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3 ล้านคน ในจำนวนทั้งหมดนี้เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมด้วย และ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ราว 2 ล้านคน จึงยังมีประชาชนอีกจำนวนหลายสิบล้านคนที่ยังไม่มีระบบการออม ขณะที่ อายุขัยของประชากรของประเทศก็ยืนยาวมากขึ้น ดังนั้น การปฏิรูประบบการออมของประเทศให้เป็นแบบภาคบังคับ จึงมีความจำเป็น

“ทุกวันนี้ คนไทยอายุยืนมากขึ้น เกษียณแล้วก็ยังสามารถทำงานได้ แต่รู้ตัวว่าเงินออมไม่มาก ถ้ามีก็โชคดี ถ้าไม่มีก็ลำบาก โดยเฉพาะคนที่ไม่ออม”

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายและร่างแก้ไขกฎหมายการเงินทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานและคณะกรรมการกำกับดูแลการออมแห่งชาติ 2.ร่างแก้ไขกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ 3.ร่างแก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ

“ทุกวันนี้ คนไทยอายุยืนมากขึ้น เกษียณแล้วก็ยังสามารถทำงานได้ แต่รู้ตัวว่าเงินออมไม่มาก ถ้ามีก็โชคดี ถ้าไม่มีก็ลำบาก โดยเฉพาะคนที่ไม่ออม”

สำหรับร่างกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานและคณะกรรมการกำกับดูแลการออมเพื่อยามเกษียณของประเทศนั้น จะทำให้ประเทศมีหน่วยงานหลักที่จะทำหน้าที่กำหนดนโยบายการออมของประเทศ พร้อมกับ กำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออมทั้งหมด ทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการจะประกอบด้วย บุคคลที่มีความรู้ด้านการเงิน ภาษีและเกี่ยวกับการออมยามเกษียณ

ปัจจุบันการออมของประเทศนั้น อยู่แบบกระจัดกระจาย ไม่มีหน่วยงานไหนพิเศษ เช่น ประกันสังคมก็ดูแลเฉพาะแรงงาน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ดูแล แต่ผ่านมา 20 ปี ก.ล.ต.ก็ทำหน้าที่เป็นแค่นายทะเบียน ไม่ขยายจำนวนสมาชิก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็มี 400 กว่ากองทุน เวลาจะย้ายบริษัทก็ย้ายไปอยู่อีกกองหนึ่ง ทำให้เสียค่าใช้จ่าย เวลาคนย้ายจากข้าราชการมาอยู่ภาคธุรกิจ ก็จะย้ายจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มาอยู่สำรองเลี้ยงชีพ ก็ต้องลาออก ไม่ต่อเนื่อง เงินก็ขาดหายไป

เขากล่าวว่า  ที่ผ่านมาตนได้พยายามคุยกับกระทรวงการคลังว่า จะต้องมีองค์กรมากำกับดูแล แต่ร่างกองทุนบำเหน็จบำนาญที่กระทรวงการคลังร่างนั้น ให้อำนาจอยู่กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)และมีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งถือเป็นงานฝาก

“จริงๆควรมีหน่วยงานกลางทำด้านนโยบายเกี่ยวกับการออมว่า ภาษีเราควรให้มากน้อยแค่ไหน งบประมาณรัฐควรสมทบแค่ไหน ตอนนี้ยังลักลั่นกันอยู่ ประกันสังคมก็มีเงินรัฐเข้าไปสนับสนุน กบข.ก็มีเงินคลังเข้าไปช่วย สำรองเลี้ยงชีพก็มีภาษีให้ลดหย่อนในวงเงิน 5 แสนบาท เป็นต้น”

ส่วนร่างแก้ไขกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะเสนอให้แก้ไขรูปแบบการออมจากแบบสมัครใจเป็นการออมแบบบังคับ เพราะรูปแบบสมัครใจออมนั้นไม่ได้ผล ปัจจุบันมีผู้ออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่กระทรวงการคลังเสนอนั้น เสนอให้ตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่เป็นกองทุนกลาง ให้ทุกคนจ่ายเงินเข้ากองทุนเป็นภาคบังคับ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันมีอยู่แล้วประมาณ 400 กอง หากจัดตั้งกองทุนใหม่ จะทำให้กองทุนแบบสมัครใจนั้น ต้องถูกยุบทิ้งหมด

ปัญหาบ้านเรา คือ เมื่อมีกองใหญ่ เรื่องการลงทุนจะมีปัญหามาก เพราะจะมีผลต่อตลาด และกองใหญ่เมื่อลงทุนจะมีผลให้เกิดช่องทางการหาผลประโยชน์ได้ แนวคิดแบบกระทรวงการคลัง คือต้องการรวบอำนาจ มีกองกลางและบอร์ดก็เป็นข้าราชการทั้งนั้น ทั้งที่เงินนี่ไม่ใช่ของข้าราชการ ก็ควรให้คนของเขามาดูแลเอง

“เราไม่อยากเห็นการตั้งกองทุนกลาง อยากให้เห็นกองทุนที่เป็นอยู่นี้ยังอยู่ต่อ แต่แก้กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้เป็นการออมแบบภาคบังคับให้ทุกคนต้องมี แต่ที่คลังเสนอคือมีกองทุนกลางและให้ทุกคนจ่ายเงินเข้าตรงนี้ เราก็เลยคิดว่า ควรแก้”

ปัญหาบ้านเรา คือ เมื่อมีกองใหญ่ เรื่องการลงทุนจะมีปัญหามาก เพราะจะมีผลต่อตลาด และกองใหญ่เมื่อลงทุนจะมีผลให้เกิดช่องทางการหาผลประโยชน์ได้ แนวคิดแบบกระทรวงการคลัง คือต้องการรวบอำนาจ มีกองกลางและบอร์ดก็เป็นข้าราชการทั้งนั้น ทั้งที่เงินนี่ไม่ใช่ของข้าราชการ ก็ควรให้คนของเขามาดูแลเอง

สำหรับร่างแก้ไขกฎหมายการออมแห่งชาตินั้น ตนจะเสนอบังคับให้แรงงงานนอกระบบทั้งหมดเข้าสู่การออมแบบบังคับ จากปัจจุบันกฎหมายจะใช้รูปแบบสมัครใจออม ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ โดยหลังจัดตั้งมาหลายปี ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกเพียง 2 ล้านคน ขณะที่แรงงานนอกระบบมีจำนวนมากถึง 20 ล้านคน

ทั้งนี้ บื้องต้น รัฐบาลอาจต้องสร้างแรงจูงใจการออมให้แก่ประชาชนนอกระบบ โดยอาจจะให้พันธบัตรแก่ประชาชนวงเงินหนึ่ง และให้ประชาชนเข้ามาออมส่วนหนึ่งและต้องทยอยออม แต่จะเบิกมาใช้ได้เมื่อยามเกษียณเท่านั้น ซึ่งแนวคิดนี้ จะทำให้แรงงานนอกระบบมีเงินออมยามเกษียณ

“รัฐบาลจะต้องลดแลกแจกแถม เหมือนชิมช้อปใช้ ทำไมคุณจ่ายชิมช้อปใช้ได้เป็นพันล้าน  แต่แทนที่จะได้เป็นเงินก็เป็นพันธบัตรรัฐบาลไป ให้เขามีเงินในบัญชี แต่เอาเงินมาใช้ได้เมื่อยามเกษียณเท่านั้น ซึ่งแนวทางจะเป็นอย่างไร เราจะเปิดกว้างไว้ โดยให้คณะกรรมการการออมมาเป็นคนคิด”

ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานและคณะกรรมการการออมแห่งชาติ จะเขียนเปิดกว้างให้อำนาจของคณะกรรมการในการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการออมทั้งหมด โดยกรณีถ้าจะมีเงื่อนไขของกองทุนต่างๆที่แก้ไขยาก เราก็จะเขียนกฎหมายให้มีอำนาจแก้ได้ด้วย เช่น ประกันสังคมบอกสมาชิกจะได้รับเงินยามเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี ก็อาจแก้เป็น 60 ปี เป็นต้น โดยเสนอเป็นมติคณะรัฐมนตรี ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขได้เลยไม่ต้องผ่านสภาฯ  เป็นต้น