สวทช.ปฏิวัติสตรีทฟู้ด เปิดตัว 'รถเข็นรักษ์โลก' ยกระดับพ่อค้าแม่ค้าอาหารริมทาง

สวทช.ปฏิวัติสตรีทฟู้ด เปิดตัว 'รถเข็นรักษ์โลก' ยกระดับพ่อค้าแม่ค้าอาหารริมทาง

“นวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีทฟู้ด” พัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่จะใช้ในการขายอาหารริมทาง สวทช.มีเป้าหมายส่งมอบกว่า 100 คัน ให้กับผู้ประกอบการได้ใช้งานจริงในการประกอบกิจการ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) เปิดตัว “นวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีทฟู้ด” ที่มีการพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรม จนได้รถเข็นที่เป็นนวัตกรรมต้นแบบสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่จะใช้ในการขายอาหารริมทาง ที่มีน้ำหนักเบา มีระบบน้ำดี ถังบำบัดและซิงค์น้ำ ระบบดูดและบำบัดควัน หัวเตาแก๊ส 2 หัว รวมถึงมีตู้เก็บความเย็นพร้อมแท่นรับพ่วงข้าง ตอบโจทย์นโยบาย BCG Economy Model เน้นพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดเป็นกลไกสำคัญต่อยอดเศรษฐกิจมหภาค

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องมีการพัฒนาแบบคู่ขนาน ทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และการพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดถือเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นกลไกสำคัญในการต่อยอดเศรษฐกิจมหภาค สตรีทฟู้ดคือธุรกิจที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของผู้จำหน่ายอาหารในทุกระดับ ตั้งแต่หาบเร่ รถเข็น จนถึงที่เติบโตมีหน้าร้านขายเป็นกิจลักษณะ

158185620864

ข้อมูลในปี 2560 พบว่ามี ธุรกิจร้านอาหารริมทาง หรือ Street Food ของไทยมากกว่า 103,000 ร้านทั่วประเทศ คิดเป็นมูลค่าตลาดสูงกว่า 270,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากขึ้นทุกปี โดยปัจจุบันธุรกิจสตรีทฟู้ดของไทยเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6 - 7 และมีแนวโน้มเติบโตขยายตัวถึงร้อยละ 10 จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก ประกอบกับสตรีทฟู้ดจะมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 10 - 20 ในอีก 5 - 10 ปีข้างหน้า ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการผลักดันธุรกิจร้านอาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ดของประเทศไทย ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบและเป็นประเทศแห่งมหาอำนาจทางอาหาร

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ริเริ่มและคิดค้นหาทางยกระดับสตรีทฟู้ดไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร สุขอนามัยและความสะอาดของร้านและผู้ปรุงอาหาร รวมถึงคุณภาพของการให้บริการ และความอร่อย ให้สอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล โดย อว. เล็งเห็นว่า BCG Economy Model จะสามารถยกระดับสตรีทฟู้ดได้ในหลากหลายมิติ เพราะ BCG จะเป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันสร้างให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในบางสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพได้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบรับกระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร หรือ “Gastronomic Tourism” รัฐบาลได้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ซึ่งจัดเป็น 1 ในรายจ่าย 3 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกชื่นชอบ ซึ่งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะชื่นชอบอาหารไทย และปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มชื่นชอบอาหารสตรีทฟู้ด และอาหารท้องถิ่น (Local Food) ของไทยมากขึ้นทุกปี


ดังนั้น การยกระดับคุณภาพและความสะอาดปลอดภัยของอาหารสตรีทฟู้ดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศ โดยการพัฒนาอาหารในรูปแบบสตรีทฟู้ดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน แต่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไว้ รวมไปถึงการจัดระเบียบจราจร และสิ่งสำคัญคือ ด้านความปลอดภัยของอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว เพราะอาหารเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน และเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชุมชน รวมถึงจะช่วยในเรื่องการสร้างอาชีพ ช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีฯ อว. กล่าว

ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สตรีทฟู้ดอยู่คู่กับเมืองไทยมาช้านาน เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และเป็นอาหารของประชาชนชาวไทยได้ทุกมื้อตั้งแต่อาหารเช้า ถึงอาหารมื้อค่ำ เป็นทั้งอาหารมื้อหลัก อาหารมือรอง เครื่องดื่ม ขนมจากอดีตถึงปัจจุบันสตรีทฟู้ดเป็นจุดขายที่โดดเด่นของประเทศ เมื่อปี 2559-2560 สำนักข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับให้กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยเป็นเมืองที่มีอาหารริมทาง (Street Food) ที่ดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก สตรีทฟู้ดตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องของ ความสะดวก ประหยัด หาได้ง่าย จนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนเมือง จากการสำรวจพบว่าผู้บริโภค 76% ซื้ออาหารสตรีทฟู้ดบริโภคเป็นประจำ โดยสตรีทฟู้ดเป็นไฮไลท์ด้านวัฒนธรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวประเทศไทย ให้มาลิ้มลองอาหารไทยที่มีความหลากหลาย โดดเด่นทั้งในเรื่องของรสชาติ ที่เป็นแบบดั้งเดิม อร่อยแบบไทย ๆ รวมไปถึงการที่ได้เห็นทักษะ ลีลา และเทคนิคที่ใช้ในการประกอบอาหาร ที่นักท่องเที่ยวไม่เคยพบเห็นมาก่อน

158185622965

“สวทช. โดย ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) ได้ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกในเวอร์ชันที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำเร็จแล้วในวันนี้ และยังมีเป้าหมายส่งมอบนวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลก จำนวนไม่น้อยกว่า 100 คัน ให้กับผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดได้ใช้งานจริงในการประกอบกิจการ อีกทั้งยังมีการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการและกระตุ้นให้เกิดการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม โดยวางรูปแบบการพัฒนาแบ่งเป็น 4 โมเดลหลักเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้ประกอบการสตรีทฟู้ด ดังนี้ 1) รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี, ถังบำบัดและซิงค์น้ำ 2) รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี, ถังบำบัดและซิงค์น้ำ +ระบบดูดควัน 3) รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี, ถังบำบัดและซิงค์น้ำ+ ระบบดูดควัน + หัวเตาแก๊ส 2 หัว และ 4) ระบบตู้เก็บความเย็นพร้อมแท่นรับพ่วงข้าง ซึ่งภายใต้โครงการนี้ สวทช. จะทำให้ราคาเป้าหมายของรถเข็นนวัตกรรรมรักษ์โลก เป็นราคาที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้”

ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อถึงการปรับใช้รถเข็นรักษ์โลกกับพ่อค้าแม่ค้าสตรีทฟู้ดว่า การนำความรู้ด้านวิศวกรรมเข้าไปช่วยในเรื่องการพัฒนาและปรับปรุงรถเข็นและเครื่องมือต่าง ๆ เชื่อว่าจะทำให้พ่อค้าแม่ค้าเองสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันความเมื่อยล้าจะลดลง สามารถดูแลอาหารให้มีความสม่ำเสมอ ลูกค้าที่มารับประทาน สามารถได้ของรับประทานที่ดีมีประโยชน์ พร้อมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานลดลง ดูแลเรื่องน้ำทิ้งต่าง ๆ ด้วย รถเข็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นและความรู้ด้านนวัตกรรมอาหารต่าง ๆ จะช่วยสร้างความประทับใจกับการใช้งานจริงของพ่อค้าแม่ค้าได้ ลองคิดดูพ่อค้าแม่ค้าตลอด 7 วัน ไม่เคยได้พักเลย อาจจะมีเหนื่อย ล้า เพลีย ถ้าเราสามารถทำให้ธุรกิจของเขาสามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ เขาจะได้มีโอกาสได้พักผ่อน คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีคนทำได้โดยไม่ต้องปิดร้าน จุดนี้คือ ต้องนำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางวิศวกรรมเข้าไปช่วย เพื่อให้อาหารมีความสม่ำเสมอ ทำกี่ครั้งได้รสชาติดังเดิม สามารถขยายร้านค้าและขยายสาขาได้

เพราะฉะนั้น นโยบายรัฐมนตรีฯ อว. คือ จะนำวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยคุณภาพชีวิตดีขึ้นทั้งพ่อค้าแม่ค้าทั้ง ลูกค้าชุมชนทั่วไป ส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว เชื่อมั่นว่า จะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้ามีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะจะลดของเสียลง ค้าขายได้กำไรขึ้น นอกจากนี้ การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปผ่านเชฟ ซึ่งจริง ๆ เชฟเองใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตรงนี้อยู่แล้ว อย่างกระเพราซาวห้าที่พร้อมจะทำเป็นแฟรนไชส์ เปิดสาขาได้อย่างมากมาย เหล่านี้จะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าสตรีทฟู้ดสบายขึ้น ควบคุมต้นทุนและคุณภาพได้ และลูกค้าเองได้ประโยชน์ ได้ดูแลสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย”

158185625384

ขณะที่ นางปรางมาศ เธียรธนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานลูกค้ารายย่อยและองค์กรชุมชน กลุ่มลูกค้าฐานรากและสนับสนุนนโยบายรัฐ กล่าวเสริมว่า ในโครงการนี้ ธนาคารออมสินจะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยมีงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้รถเข็นนวัตกรรรมรักษ์โลกนี้ ในราคาเพียง 20,000 บาท และยังมีแคมเปญเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นแคมเปญพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อผู้ประกอบการภายในโครงการนี้เท่านั้น จำกัดเพียง 100 รายแรก และคาดว่าในอีกใน 6 เดือนข้างหน้าจะมีบริษัทสตาร์ทอัพเพื่อมาบริหารจัดการรถเข็นรักษ์โลกสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป และวางแผนขอการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในด้านความแข็งแรงและความปลอดภัย เพื่อให้เอกสิทธิ์กับผู้ประกอบการที่ใช้รถเข็นนวัตกรรมรักษ์โลกนี้ ได้มีโอกาสที่มากขึ้นในการหาช่องทำเลตั้งในการค้าขายอาหารริมทาง เช่น ได้มีโอกาสจำหน่ายสินค้าในพื้นที่พิเศษที่เคยเป็นข้อจำกัดของอาหารสตรีทฟู้ด เช่น ในพื้นที่ปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 025646310 -11 หรือ www.decc.or.th/streetfood