เช็คความพร้อมสาธารณสุขเอเชียรับมือไวรัสโควิด-19 ระบาด

เช็คความพร้อมสาธารณสุขเอเชียรับมือไวรัสโควิด-19 ระบาด

แนวโน้มที่ไวรัสโควิด-19 จะแพร่ระบาดในวงกว้างทำให้ทุกประเทศทั่วโลกจับตามองไปที่ศักยภาพในการรับมือกับการแพร่ระบาดของประเทศต่างๆในอาเซียนและในเอเชีย ขณะที่การดูแลด้านสุขภาพของทุกประเทศในภูมิภาคมีระดับแตกต่างกัน

การเสียชีวิตของชายชาวจีน วัย 44 ปี ที่มีอาการปอดติดเชื้อเพราะไวรัสโควิด-19 ที่โรงพยาบาลซาน ลาซาโร ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้สาธารณชนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับศักยภาพและความพร้อมของรัฐบาลในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วภูมิภาคและทั่วโลก โดยลาซาโร เป็นเหยื่อไวรัสโควิด-19 รายแรกที่เสียชีวิตนอกประเทศจีนและเป็นผู้ติดเชื้อรายที่สองในฟิลิปปินส์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ ไม่ได้ประกาศการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายนี้ในทันทีแต่มาประกาศในเช้าวันต่อมา

หลังจากมีผู้เสียชีวิตเพราะไวรัสชนิดนี้ ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นเนื่องจากงบประมาณด้านสาธารสุขของฟิลิปปินส์ถูกตัดทอนมานานถึง3ปีเต็มภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต

“ในเมื่องบประมาณด้านสาธารณสุขถูกตัด เราจะคาดหวังให้กระทรวงสาธารณสุขทำอะไรได้เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เราไม่เหมือนจีนที่สร้างโรงพยาบาลได้ภายในหนึ่งสัปดาห์”ราเวน ลินแกต นักการตลาดผู้ช่ำชองวัย22 ให้ความเห็น

ด้วยแนวโน้มที่ไวรัสโควิด-19 จะเป็นการแพร่ระบาดในวงกว้าง ทุกประเทศทั่วโลกจึงจับตามองไปที่ศักยภาพในการรับมือกับการแพร่ระบาดของประเทศต่างๆในอาเซียนและในเอเชีย ขณะที่การดูแลด้านสุขภาพของทุกประเทศในภูมิภาคที่มีระดับแตกต่างกันทำให้เกิดคำถามตามมาว่าแต่ละประเทศรับมือกับวิกฤติสุขภาพครั้งนี้อย่างไร และทำอย่างไรเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสอันตรายตัวนี้

158164478296

ลอรี การ์เรตต์ อดีตสมาชิกอาวุโสของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในนิวยอร์ก มีความเห็นว่าไม่มีใครทุ่มเททรัพยากรด้านสาธารณสุขสาธารณะจนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดและมีการเสียชีวิตมากมายขนาดนี้

อ่านข่าว
เจาะเรื่องลับ 'ไวรัสโคโรน่า' และอัพเดตข้อมูลที่ต้องรู้!

คณะกรรมการด้านสาธารณสุขของจีน รายงานว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตเพราะไวรัสโควิด-19 จำนวนกว่า 1,300 คน และมีผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 60,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในจีน ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้ออาจจะสูงกว่านี้ เนื่องจากบางประเทศยังขาดแคลนทรัพยากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะรับมือการแพร่ระบาด

“นี่เป็นบททดสอบครั้งใหญ่สถาบันต่างๆและบรรดานักการเมืองคนสำคัญในภูมิภาค หากไวรัสนี้แพร่ระบาดเข้าไปในภูมิภาคเหมือนที่แพร่ระบาดในจีน ผมคิดว่าภูมิภาคอาเซียนจะดิ้นรนต่อสู่เพื่อรับมือกับสิ่งนี้มากขึ้น”ริชาร์ด โคเกอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านสุขภาพสาธารณะจากลอนดอน สคูล ออฟ ไฮยีน แอนด์ ทรอปิคอล เมดิซีน ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ความเห็น

ส่วนบรรดานักวิจัยจากเมทาไบโอตา บริษัทด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับสุขภาพ ระบุว่า การขาดแคลนเงินทุนอย่างเป็นระบบในภูมิภาคทำให้การมุ่งมั่นที่จะรับมือหรือเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาด้านสาธารณสุขฉุกเฉินดำเนินไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงกว่าการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส เมื่อปี 2546 นอกจากนี้ "คริสตาลินา จอร์จีวา" ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ยังโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ และเว่ยโป๋ ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียสัญชาติจีนที่คล้ายกับทวิตเตอร์ว่า "ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนาแต่เราสนับสนุนความพยายามของจีนในการรับมือกับวิกฤตดังกล่าว ซึ่งรวมถึงมาตรการด้านการเงินและการคลัง เราเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจีนยังคงมีความหยืดหยุ่น"

ด้าน“เกอร์รี ไรซ์” โฆษกไอเอ็มเอฟก็กล่าวสนับสนุนจีนด้วยเช่นกัน โดยระบุว่ารัฐบาลจีนดำเนินมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด พร้อมกล่าวว่า จีน เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรและศักยภาพในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุด วานนี้ (13ก.พ.)มณฑลหูเป่ย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ประกาศเลื่อนการเปิดโรงเรียนและสถานที่ทำงาน เพื่อลดโอกาสในการออกมารวมตัวในพื้นที่ต่าง ๆ ของมณฑล และควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส

เจ้าหน้าที่ของมณฑลระบุว่า หน่วยงานท้องถิ่นทุกภาค ยกเว้นภาคสาธารณูปโภค อุปกรณ์ทางการแพทย์และยา ซูเปอร์มาร์เก็ต และอาหาร จะยังระงับการดำเนินการไว้ นอกจากนี้ มณฑลหูเป่ย์ยังเลื่อนการเปิดโรงเรียนทุกแห่งไปจนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบเพิ่มเติมต่อไป