จุฬาฯ เสนอแก้ละเมิดลิขสิทธิ์ แนะควรบังคับคดีโดยเอกชน

จุฬาฯ เสนอแก้ละเมิดลิขสิทธิ์ แนะควรบังคับคดีโดยเอกชน

ศูนย์วิชาการแห่งจุฬาฯ เสนอวิธีแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ใช้วิธีบังคับคดีโดยเอกชน ลดการทำงานของภาครัฐสร้างระบบนิเวศน์ในการผลิตคอนเทนต์ เผยแพร่ที่ปลอดภัยและสมบูรณ์บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพลดภาระทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตคนไทย ส่งผลให้มีการเข้าถีงโซเชียลมีเดีย สื่ออันทรงพลังที่มีคุณอนันต์และโทษมหันต์หากใช้แบบไม่ระวัง “โครงการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการละเมิดลิขสิทธิ์ต่ออุตสาหกรรมของสื่อออนไลน์ในไทยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและกฎหมาย (COPYRIGHT & VIDEO SHARING PLATFORM หรือ VSP)”

จัดทำโดยศูนย์วิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าการละเมิดผ่านการแชร์วิดีโอออนไลน์ การไลฟ์และตัดต่อผลงานผู้อื่น การวิจารณ์งานลิขสิทธิ์ยังสุ่มเสี่ยง และกระทบเศรษฐกิจกว่า 90,000 ล้านบาท อัตราจ้างงานลดลงเฉียด 40,000 อัตรา

ผลการศึกษาพบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งกว่า 78.5% จากเวลาทั้งหมดถูกใช้เพื่อการรับชมเนื้อหาเพื่อความบันเทิงจากแพลตฟอร์มวิดีโอต่างๆ (VSP : Video-sharing platforms) และปัจจุบันผู้บริโภคจะมีทางเลือกที่รับชมวิดีโอจากแพลตฟอร์มวิดีโอถูกกฏหมาย เช่น Netflix หรือ LINE TV และอีกมากมาย แต่ยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มที่เอื้อให้ผู้ใช้บริการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นได้ง่ายทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนา

ผศ.ดร. พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมจัดทำโครงการฯ เปิดเผยว่าผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม พบความเสียหายของการละเมิดลิขสิทธิ์บน VSP ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2017 อยู่ระหว่าง 58,575 to 92,519 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.35 ถึง 0.55 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

รวมทั้งยังกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมคอนเทนต์สูงสุดรวมกว่า 44,782 ล้านบาท เพราะแทนที่รายได้จากการรับชมจากช่องทางที่ถูกกฎหมายจะเข้าในระบบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งการผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นการสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรม กลับไปอยู่ในมือผู้ละเมิดลิขสิทธิ์

ทั้งนี้ ยังสร้างความเสียหายต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่มูลค่าของการผลิตเนื้อหาทั้งวงจร รวมถึงแพลตฟอร์มที่มีการดำเนินการซื้อขายคอนเทนต์อย่างถูกต้อง ส่งผลกระทบกับการจ้างงาน พบอัตราจ้างงานลดลงเป็นจำนวน 24,030 ถึง 37,956 ตำแหน่ง เป็นเรื่องอันตรายสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการ “ใจ” และความคิดสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเป็นอย่างยิ่ง

ผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมจัดทำโครงการฯกล่าวว่า เนื่องจากกระบวนการทางกฎหมาย บังคับคดีโดยรัฐและการมุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายอาญาเป็นหลัก ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนในการขอหมายศาล ต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาเสียก่อน จึงเกิดความยุ่งยากให้กับทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะดำเนินการเอาผิดผู้กระทำละเมิด

ทัั้งนี้ เสนอให้สามารถใช้กระบวนการในลักษณะเดียวกันกับการแจ้งเตือนให้เอาเนื้อหาออก (notice & takedown) โดยเฉพาะการแจ้งเตือนไปยัง VSP หรือเจ้าของแพลตฟอร์มนั้นๆ ที่ควบคุมดูแลเนื้อหาโดยตรง เพื่อกระตุ้นให้ VSP มีความรับผิดชอบที่จะต้องเอาเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออก ภายหลังถูกแจ้งว่าละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว (editorial control) ตลอดจนกระตุ้นมาตรการฟ้องร้องดำเนินคดีระหว่างเอกชนกับเอกชนให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

“วิธีการบังคับคดีโดยเอกชนนั้นจะช่วยให้เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการบังคับคดีโดยรัฐอีกต่อไป นับเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ในการผลิตคอนเทนต์และเผยแพร่ที่ปลอดภัยและสมบูรณ์ ทั้งยังสร้างบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ และการจัดการดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ภาครัฐก็ควรออกมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตคอนเทนต์ไทย ทั้งในแง่ของภาษีและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อยับยั้งการกระทำผิดด้านละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศ และเพิ่มแรงขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์ผลงานของนักคิดและผู้ผลิตคอนเทนต์คุณภาพ ส่งผลให้เชิงบวกกลับสู่อุตสาหกรรมของสื่อออนไลน์ในไทยต่อไป”ผศ.ดร.ปิยะบุตร กล่าว