ปตท. ผนึกญี่ปุ่น ดันแผนฮับ 'แอลเอ็นจี' ภูมิภาค

ปตท. ผนึกญี่ปุ่น ดันแผนฮับ 'แอลเอ็นจี' ภูมิภาค

“พลังงาน” ดัน ปตท.จับมือ ญี่ปุ่น เสริมความร่วมมือธุรกิจแอลเอ็นจี สู่เป้าหมายผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางซื้อ-ขายก๊าซฯ ภูมิภาค คาดชัดเจนครึ่งปีแรก พร้อมหนุน กฟผ.ร่วมมือด้านไฟฟ้า

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการได้เข้าร่วมการประชุมหารือเชิงนโยบายความร่วมมือด้านพลังงานไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 หรือ JTEPD ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่30 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงานนั้น ได้มีการหารือเชิงนโยบายระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศทั้งด้านนโยบายพลังงานทั้งไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

โดยด้านก๊าซธรรมชาติ ได้หารือสาระสำคัญเรื่องส่งเสริมการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาดและมีราคาถูกลงจากอดีตมาก ซึ่งทั้งทางญี่ปุ่นและไทยเอง ก็เป็นผู้นำเข้า LNG ในปริมาณมากเช่นกัน

ดังนั้น จึงมองหาความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นระหว่างกันในอนาคต ว่าจะเสริมสร้างศักยภาพการจัดหา LNG ร่วมกันอย่างไร โดยเรื่องนี้ กระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในฐานะรัฐวิสาหกิจของไทย ที่ปัจจุบันมีประสบการณ์จัดหา LNG ภายใต้สัญญาระยะยาว ป้อนความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ดำเนินการเจรจากับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น เพื่อสร้างประโยชน์จากการจัดหา LNG การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมโอกาสการซื้อขาย LNG ผ่านการทำธุรกิจซื้อมาขายไป หรือ เทรดดิ้ง LNG รายย่อยในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป

“ความร่วมมือระหว่างปตท.กับ ญี่ปุ่น ในเรื่อง LNG จะช่วยผลักดันให้ไทยไปสู่เป้าหมายศูนย์กลางซื้อขาย LNG ในภูมิภาค หรือ LNG Trading Hub ของอาเซียน ซึ่งการจะเป็น HUB ไม่ได้มองแต่ความมั่นคงด้านซัพพลายก๊าซในประเทศ แต่ยังหมายถึงการกระจายโอกาสการพัฒนาไปช่วยประเทศอื่นๆ ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตด้วย” แหล่งข่าว กล่าว

ขณะที่ ความร่วมมือระหว่าง ปตท.กับ ญี่ปุ่น จะเป็นลักษณะใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผลการเจรจา และการจัดทำแผนธุรกิจร่วมในอนาคตต่อไป เบื้องต้น สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ เช่น การกำหนดปริมาณการสั่งซื้อร่วมกัน ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการต่อรองราคาในการสั่งซื้อวอลุ่มขนาดใหญ่ และการจัดทำการตลาดร่วมกันในธุรกิจซื้อขาย LNG เป็นต้น คาดว่า จะมีความชัดเจนในครึ่งแรกของปีนี้

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ส่วนความร่วมมือด้านไฟฟ้า ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้เจรจาความร่วมมือกับญี่ปุ่น ทั้งการลงทุนในการขยายสายส่งไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนมากขึ้นรวมทั้งด้านเทคโนโลยีพลังงานสมัยใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบพลังงานของประเทศที่จะก้าวไปสู่ยุคของพลังงานสะอาดแห่งอนาคต อาทิ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.ได้เริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการขนถ่ายLNG (Reload System) เพื่อขนถ่าย LNG จากคลังสู่เรือขนาดเล็ก เพื่อเตรียมขนส่งเชิงพาณิชย์ตามแผนในไตรมาส 3 ปีนี้ รองรับนโยบาย LNG Trading Hub ภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้น มีแผนจะส่งออกไปจีน แต่เนื่องจากติดปัญหาไวรัสโคโรนา ทำให้จีนชะลอการนำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า เป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้น และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็เชื่อว่าจีนจะกลับมามีความต้องการใช้ LNG ตามแผน

รายงานข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการ กฟผ. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 ได้เห็นชอบแผนการจัดหา LNG แบบตลาดจร (Spot) เพิ่มเติม ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี2563-2565 แบ่งเป็น ปี2563 ปริมาณไม่เกิน 0.6 ล้านตันต่อปี, ปี2564 ปริมาณ 1.9 ล้านตันต่อปี และปี2565 ปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี