‘กสิกร’ ชูกลยุทธ์ลงทุนปี 63 เน้นกระจายเสี่ยง เลี่ยงหุ้นไทย

‘กสิกร’ ชูกลยุทธ์ลงทุนปี 63 เน้นกระจายเสี่ยง เลี่ยงหุ้นไทย

ย้อนกลับไปช่วงท้ายปี 2561 ตลาดหุ้นทั่วโลกเวลานั้นดิ่งลงถึง 15% ภายใน 3 เดือน เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่เริ่มต้นขึ้น เมื่อเข้าสู่ปี 2562 ธนาคารกลางสหรัฐจึงตัดสินใจกลับมาลดดอกเบี้ยอีกครั้ง นำไปสู่การฟื้นตัวของดัชนีหุ้นทั่วโลก

ภาพโดยสรุปคือ ตลาดหุ้นทั่วโลกในปี 2562 ปรับตัวขึ้นถึง 27% ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเพียง 4% เท่านั้น

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส Private Banking Business ธนาคารกสิกรไทย มองว่า ตัวเลขที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงและการลงทุนให้เหมาะสม สำหรับผู้ที่ลงทุนเฉพาะในไทยเมื่อปีก่อน อาจจะรู้สึกว่าไม่สดใสนัก แต่หากตัดประเทศไทยออกไป การลงทุนโดยภาพรวมของทั้งโลกค่อนข้างจะให้ผลตอบแทนที่ดี

“ด้วยภาวะ 'สองต่ำ’ ทั้งการเติบโตและอัตราดอกเบี้ย ทำให้ภาพการลงทุนค่อนข้างน่าอึดอัด แต่หากนักลงทุนไม่รับความเสี่ยงบ้าง คือ ถือแต่เงินสด ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้ผลตอบแทนใดๆ เลย เพราะฉะนั้น นักลงทุนควรต้องรับความเสี่ยงบ้าง แต่เป็นแบบที่มีกลไกป้องกันความเสี่ยงตามมาด้วย”

สำหรับกลไกป้องกันความเสี่ยงที่พูดถึงนี้ ได้แก่ การกระจายความเสี่ยง (อย่างแท้จริง) ไม่ใช่เพียงแค่กระจายการลงทุน แต่ความเสี่ยงไม่ได้ลดลง ขณะเดียวกันนักลงทุนต้องปรับตัวและปรับพอร์ตอย่างรวดเร็ว ติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงอยู่เสมอ หากความเสี่ยงเพิ่มก็ต้องพร้อมจะลดสัดส่วนการลงทุนลง หรือเมื่อความเสี่ยงลดก็อาจจะใช้อัตราทดเข้ามาเสริม

นอกจากนี้ การกระจายลงทุนไปต่างประเทศ ต้องป้องกันความเสี่ยงค่าเงินด้วย อย่าง 3 ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น 16.5% หากไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจุดนี้ ผู้ที่ลงทุนได้ผลตอบแทน 16.5% ในช่วงที่ผ่านมา เท่ากับว่าจะไม่ได้กำไรใดๆ

ทั้งนี้ ศิริพร สุวรรณการ กรรมการผู้จัดการ Private Banking Advisory ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลตอบแทนของ Private Banking ของกสิกรในปี 2562 ที่ผ่านมา ทำได้ถึง 14.3% เทียบกับความเสี่ยงโดยเฉลี่ยที่ 4.3% ได้แรงหนุนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐ และที่สำคัญคือ การกระจายการลงทุนและกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

ในปี 2563 หัวใจของกลยุทธ์การลงทุนจะยังเป็นเช่นเดิม คือ เน้นกระจายความเสี่ยง โดยแบ่งพอร์ตลงทุนเป็น 3 ระดับ คือ เสี่ยงน้อย เน้นควบคุมความเสี่ยงเฉลี่ยไม่ให้เกิน 3% และเสี่ยงมากสุดไม่เกิน 7% บนผลตอบแทนที่คาดหวัง 3.5% เสี่ยงปานกลาง ควบคุมความเสี่ยงเฉลี่ยไม่เกิน 6% และเสี่ยงมากสุดไม่เกิน 12% บนผลตอบแทนที่คาดหวัง 5.5% เสี่ยงสูง ควบคุมความเสี่ยงเฉลี่ยไม่เกิน 9% และเสี่ยงมากสุดไม่เกิน 20% บนผลตอบแทนที่คาดหวัง 7.5%

“ณ ตอนนี้ เราไม่ได้ลงทุนในหุ้นไทยเลย เพราะเมื่อประเมินจากมูลค่า ความเสี่ยง และแนวโน้มผลตอบแทน พบว่าสินทรัพย์อื่นๆ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า อาทิ หุ้นจีนในกลุ่มเมกะเทรนด์ ซึ่งอิงกับเทคโนโลยีและการบริโภคในประเทศ รวมถึงทองคำ และที่สำคัญคือตราสารหนี้ในเอเชีย ซึ่งอยู่ในสกุลดอลลาร์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน”

ตัดกลับมา ณ ภาพรวมการลงทุนปัจจุบัน ตรีพล ภูมิวสนะ กรรมการผู้จัดการ Private Banking Business ธนาคารกสิกรไทย ฉายภาพให้เห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในช่วงของ ‘การฟื้นตัวในกรอบ’ (Contain recovery) โดยมีสองปัจจัยหลักที่เข้ามาสนับสนุน ได้แก่ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่าง ‘ช้าๆ’ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับ ‘ต่ำ’

ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้เกิดขึ้นจากเหตุผลหลายประการ อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่ได้หมดไป แม้จะมีการเจรจากันได้ในเฟสแรก แต่กำแพงภาษีนั้นลดลงเพียง 1% จากที่ปรับขึ้นมา 14-15% หากจะเห็นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อาจต้องเห็นกำแพงภาษีที่ลดลงในระดับ 5-6%

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงท้ายของวัฏจักรการขยายตัว โดยเฉพาะในสหรัฐ ซึ่งแม้ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานจะต่ำเพียง 3% ทำให้ประชาชนยังมีเงินในการบริโภคได้ แต่ขณะเดียวกันจำนวนแรงงานที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปอีกระดับหนึ่งก็มีน้อยลง นอกจากนี้ ค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นตัวฉุดไม่ให้เศรษฐกิจโตกระโดดอย่างในอดีต

“โดยสรุปแล้วเรามองว่าวิกฤตเศรษฐกิจยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ จากสองปัจจัยหลัก คือ อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และอัตราการว่างงานต่ำ แต่หากทั้งสองปัจจัยนี้เปลี่ยนแปลงไป คือ อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวขึ้น และตามมาด้วยการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวขึ้น ก็อาจจะเป็นสัญญาณของวิกฤตรอบใหม่ได้”