อุตฯนำทีมให้การอนุญาโต ไต่สวนคดีปิดเหมืองอัครา

อุตฯนำทีมให้การอนุญาโต ไต่สวนคดีปิดเหมืองอัครา

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมผู้บริหาร ทนายความ ผู้เชี่ยวชาญ กว่า 20 คน ขึ้นศาลอนุญาโตตุลาการที่สิงคโปร์ 3-12 ก.พ.นี้ ไต่สวนคดีปิดเหมืองทองอัคราฯ ระบุ ใช้เวลาพิจารณา 7-8 เดือน เร่งเจรจานอกศาล คาดจะได้ข้อยุติก่อนการตัดสิน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันนี้ (3 ก.พ.) นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำทีมผู้บริหารกระทรวงฯ อดีตผู้บริหารกระทรวงฯ ทีมทนายความ และผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างชาติกว่า 20 คนไปขึ้นให้การต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ประเทศสิงคโปร์ ในกรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบมจ.อัครา รีซอร์สเซส ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ในพื้นที่รอยต่อจ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และจ.เพชรบูรณ์

158073627011 ที่ฟ้องร้องรัฐบาลไทยกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับการประกอบการกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ต้องระงับการประกอบกิจการไปตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งยังเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งการเดินทางครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เข้าสู่อนุญาโตตุลาการ

โดยกระบวนการหลังจากนี้ ผู้พิพากษาจะเบิกความให้ทนายความของแต่ละฝ่ายขึ้นไต่สวนพยานของทั้งฝ่ายไทย และฝ่ายคิงส์เกต ตั้งแต่วันที่ 3 -12 ก.พ.นี้ ซึ่งพยานฝ่ายไทยก็จะเป็นผู้บริหารและอดีตผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารและอดีตผู้บริหารกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รวมไปถึงนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมั่นใจว่าสามารถตอบโต้ทุกข้อกล่าวหาของทางคิงส์เกตฯได้หมด

 รวมทั้งข้อมูลบ่อเก็บกักตะกอนที่เกิดการรั่วซึม ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญยกขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลไทยทำไปก็เพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของคนไทยเป็นหลัก ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้กำชับคณะทำงาน ให้ทำทุกอย่างให้เต็มที่ ให้กระทบกับประเทศชาติน้อยที่สุด และประชาชนในพื้นที่ต้องไม่เดือดร้อนด้วย

“หลังจากที่ศาลอนุญาโตตุลาการไต่สวนเสร็จ จะใช้เวลาอีกประมาณ 7-8 เดือน จึงจะขึ้นตัดสินพิพากษาในคดีนี้ โดยในช่วงเวลา 7-8 เดือน ขณะที่รอคำพิพากษา การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและคิงส์เกต ก็จะยังคงดำเนินการต่อไป"

ทั้งนี้ คาดว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปก่อนวันพิพาษาที่จะเกิดขึ้น เพราะหลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายส่งพยานขึ้นมาโต้ตอบก็จะเริ่มเห็นทิศทางของการดำเนินคดี จะทำให้มีการเร่งเจรจาให้ได้ข้อสรุปก่อนที่ผลการตัดสินจะออกมา

สำหรับ กระบวนการอนุญาโตตุลาการ คือการระงับข้อพิพาทโดยไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน แต่คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย จะเป็นผู้เลือกคนที่จะมาทำหน้าที่เป็น “อนุญาโตตุลาการ” เพื่อตัดสินชี้ขาด ในคดีเหมืองแร่ทองคำจะใช้คณะอนุญาโตตุลาการทั้งหมด 3 คน ฝ่ายไทย เสนอ 1 คน บริษัท คิงส์เกตฯ เสนอ 1 คน และอนุญาโตตุลาการอีกคน เป็นบุคคลที่มาจากทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน และเมื่อพิจารณากระบวนการไต่สวนแล้วเสร็จ คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น

ด้าน บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดดเต็ด ลิมิเต็ด กล่าวว่า บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นในพยานหลักฐานต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงยินดีเจรจาหาทางออกร่วมกันกับรัฐบาลไทยทั้งก่อนและหลังการอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายร่วมกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ประเมินตัวเลขความเสียโอกาสของเหมืองอัครา โดยวัดจากปริมาณสำรองแร่ทอง 8.9 แสนออนซ์ คิดเป็นวงเงินปริมาณ 37,020 ล้านบาท และเงิน 8.3 ล้านออนซ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 3,984 ล้านบาท ซึ่งสามารถผลิตได้ในช่วง 8-10 ปีข้างหน้า รวมมูลค่าทั้งสิ้น 41,004 ล้านบาท แต่ไม่ได้เป็นตัวเลขที่จะมีการฟ้องร้องรัฐบาลแต่อย่างใด เป็นการชี้ให้เห็นว่า บมจ.อัคราฯ ยังมั่นใจว่า พื้นที่นี้ยังมีแร่ทองคำเหลือยู่ที่ยังไม่ขุดขึ้นมา และบริษัทยังคงมีความตั้งใจที่จะดำเนินกิจการในไทยต่อไป รวมทั้งขอยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการทุกอย่างตามมาตรฐานที่เข้มงวด และไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษแต่อย่างใด

สำหรับการไต่สวนของอนุญาโตตุลาการ ได้นัดคู่กรณีมาให้ถ้อยคำนัดแรก ที่ฮ่องกงในช่วงปลายเดือน พ.ย.2562 แต่ได้ยกเลิกไป  เนื่องจากมีเหตุการณ์การประท้วงในฮ่องกง