ปล่อยตัว “ชัยวัฒน์” คดีบิลลี่ ไม่มีเงื่อนไข หลังครบฝากขัง 7 ผลัด

ปล่อยตัว “ชัยวัฒน์” คดีบิลลี่ ไม่มีเงื่อนไข หลังครบฝากขัง 7 ผลัด

อัยการยังไม่ยื่นฟ้อง มาตรา 157 ต่อศาลวันนี้

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จ.อุบลราชธานี (สบอ.9) อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมพวกรวม 4 คน เดินทางมายังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางตั้งแต่เช้า พร้อมด้วยนายพรชัย พฤกษ์พิชัยเลิศ ทนายความ เพื่อรายงานตัวในวันครบกำหนดฝากขังครั้งสุดท้าย ในคดีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี 2557 โดยได้รอทางอัยการว่า จะมายื่นฟ้องตนและพวกในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ฐานปล่อยตัวนายบิลลี่หลังพบครอบครองน้ำผึ้ง โดยไม่ส่งตัวให้ทางตำรวจ จนกระทั่งหมดเวลาราชการ

นายพรชัย ทนายความของนายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จึงได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายชัยวัฒน์และพวกโดยไม่มีเงื่อนไข พร้อมทั้งยกเลิกข้อห้ามต่างๆในระหว่างการประกันตัว  และอยู่ในระหว่างยื่นเรื่องขอหลักทรัพย์คืน ซึ่งมีมูลค่าคนละแปดแสนบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากพนักงานอัยการไม่ได้เดินทางมายื่นฟ้องข้อหาใดๆในวันนี้ ศาลจึงออกคำสั่งดังกล่าวให้ปล่อยตัว นายพรชัยกล่าว

คดีนี้ สืบเนื่องจาก “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง และผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย จ.เพชรบุรี ได้หายตัวไปหลังจากที่ถูกนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว ในความผิดเกี่ยวกับการนำน้ำผึ้งป่าออกจากเขตอุทยานแห่งชาติโดยผิดกฎหมาย ในวันที่ 17 เมษายน 2557 และอ้างว่าได้ปล่อยตัวไปแล้ว ก่อนที่ดีเอสไอจะแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า เขาได้เสียชีวิตแล้ว จากการตรวจสารพันธุกรรมเทียบเคียงกับของมารดาจากชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะที่พบในเขื่อนแก่งกระจาน ในเขตอุทยานฯ และดำเนินคดีฆาตกรรมและอำพรางศพกับนายชัยวัฒน์และพวกในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หลังการพิจารณาสำนวนฯ จากดีเอสไอ พนักงานอัยการคดีสำนักงานคดีพิเศษ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องและคณะทำงาน ได้ตัดสินใจไม่สั่งฟ้องนายชัยวัฒน์และพวกใน 7 ข้อหาหนักรวมทั้งการฆาตกรรมและอำพรางศพ เหลือเพียงข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าว ก่อนที่จะส่งสรุปการพิจารณาของตนไปยังอธิบดีดีเอสไอเพื่อทำความเห็นว่า จะเห็นด้วยหรือจะเห็นแย้งในประเด็นใดหรือไม่อย่างไร ซึ่ง นับจากวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ดีเอสไอจะมีเวลาทำความเห็น 30 วัน

เบื้องต้น มีรายงานว่า ดีเอสไอได้จัดทำความเห็นแย้งถึงพนักงานอัยการใน 6 ประเด็น รวมถึงข้อโต้แย้งด้านพยานและหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์การตรวจพิสูจน์ดีเอนเอไมโตรคอนเดรียที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเพียงพอที่จะใช้ระบุบุคคลที่เสียชีวิตในกรณีนี้ได้หรือไม่ แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าได้ส่งความเห็นคืนไปให้ทางอัยการแล้วหรือไม่อย่างไร

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้สัมภาษณ์ The Reporters ในช่วงสายของวันนี้ในเบื้องต้นว่า พนักงานอัยการคดีสำนักงานคดีพิเศษ 1 จะยังไม่ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์กับพวก ในความผิดฐานตามมาตรา 157 เพราะอยู่ในระหว่างรอความเห็นจากดีเอสไอ

ในส่วนของนายชัยวัฒน์กับพวก ที่มารายงานตัวฝากขังกับศาล ก็ต้อง “ปล่อยขาด” พ้นจากอำนาจการควบคุมของศาลไปก่อนตามขั้นตอนกฎหมาย แต่หากท้ายที่สุดแล้ว จะต้องมีการมายื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ในภายหลัง ก็สามารถติดตามตัวมาส่งฟ้องได้ เพราะอัยการเห็นว่า นายชัยวัฒน์เป็นข้าราชการมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง  และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี นายประยุทธกล่าว

ทางด้านนายชัยวัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆหลังการปล่อยตัวว่า ทางดีเอสไอมีสิทธิ์ทำความเห็นแย้งในพยานหลักฐาน ส่วนทางตนคงต้องรอว่า ทางอัยการฯ จะพิจารณาและยื่นฟ้องคดีอย่างไร และจะเตรียมพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีต่อไป

หลังจากนี้ ตนขอกลับไปทำหน้าที่หลังได้รับโอกาสให้กลับไปประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี และกล่าวว่าทุกคนในคดีรู้สึกโล่งไประดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องรอว่าทางดีเอสไอจะมีความเห็นแย้งอย่างไร

“ทุกคนก็รู้สึกได้กลับไปหาครอบครัว ได้กลับบ้าน ได้กลับไปที่เดิม วันนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีขึ้น พอมีที่ยืนในสังคม ไปเดินตลาดกับเขาได้บ้าง” นายชัยวัฒน์กล่าว พร้อมทั้งขอบคุณทีมทนาย อัยการที่รับคำร้องของความเป็นธรรม ศาลฯ และผู้มีส่วนช่วยในการต่อสู้คดี และประกันตัว