ก้มหน้ารับผล ฝืนทนทำงาน งบประมาณโดนตัด

ก้มหน้ารับผล ฝืนทนทำงาน งบประมาณโดนตัด

เกิดอะไรขึ้นในปีนี้กับประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายด้านทั้งภัยแล้ว ฝุ่นจิ๋วPM2.5 และไวรัสโคโรน่าที่จะกระทบกับเศรษฐกิจในระยะต่อจากนี้

แต่ที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว คือกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวส่วนภูมิภาค 8 เขต กว่า 1,700 รายของกรมวิชาการเกษตร ที่ต้องถูกเลิกจ้างและลดอัตราค่าจ้าง อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วยเหตุงบประมาณ 2563

กรมวิชาการเกษตรถูกปรับลดลงกว่างบประมาณกว่า 638 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของที่ขอไป 1,277 ล้านบาท

ลูกจ้างเหล่านี้มีอัตราเงินเดือน ตั้งแต่ 6,000-10,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นผู้ช่วยนักวิจัย พนักงานเดินหนังสือ

กำลังคนเหล่านี้แม้จะดูไม่สำคัญในสายการบริหาร แต่ถือว่าเป็นกำลังสำคัญไม่น้อยทีเดียวเทียบกับการวิจัยแต่ละโครงการที่ต้องอาศัยระยะเวลาที่ต่อเนื่องในการเก็บข้อมูล องค์ความรู้ และประสบการณ์ ซึ่ง 1 ปีที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องหยุด แน่นอนงานวิจัยที่รัฐบาลเคี่ยวเข็ญเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง ก็ต้องหยุดชะงักไปด้วย

ส่วนสาเหตุที่โดนตัดงบประมาณ ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายจประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แจ้งว่าน.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรชี้แจงงบประมาณไม่ชัดเจนนอกจากนี้กรมวิชาการฯ ที่เอางบดำเนินงานไปบำรุงรักษาห้องปฏิบัติการ อีกส่วนไปทำงานวิจัย โดยจ้างนักวิจัยมาใช้งบเช่าห้องปฏิบัติการอีกที เป็นการตั้งงบซ้ำซ้อน เป็นการไม่ชอบมาพากล จึงเป็นที่มาของการตัดงบประมาณ 50%

อย่างไรก็ตามจากเหตุผลทั้งหมดยังเป็นข้อกังขาอยู่ว่า การชี้แจงของเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะดึงงบประมาณหรือมีสาเหตุอื่นอันเนื่องมาจากลมเพลมพัดของนักการเมืองก่อนหน้านี้กรมวิชาการเกษตรที่ยกมือเห็นด้วยกับการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส เพราะเป็นคำสั่งของ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีอำนาจดูแลกรมวิชาการเกษตรโดยตรง แต่สุดท้ายผลสรุปของ 3 สาร ไม่ได้ถูกแบนทั้งหมด ซึ่งเป็นที่มาของฉายามาดามแบนเก้อ

ในระหว่างนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรต้องปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ คำนึงถึงการใช้งบประมาณที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกโครงการและทุกแผนงาน โดยได้ทำหนังสือชี้แจงและทำความเข้าใจให้ทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อพิจารณาทบทวนจัดลำดับความสำคัญ

กิจกรรมเนื้องานที่มีความสำคัญจำเป็นและเหมาะสมในการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 โดยเฉพาะงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) โรงงานแปรรูป โรงรม (GMP) การตรวจสอบปัจจัยการผลิต ศัตรูพืชและออกใบรับรองบริการวิชาการด้านพืช การผลิตเมล็ดพันธุ์ดีตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อจำหน่าย และจ่ายแจกให้แก่เกษตรกรส่วนงานอื่นๆให้พิจารณาปรับลดปริมาณงานตามวงเงินงบประมาณที่ได้รับ

ส่วนกิจกรรมบางชนิดที่สามารถปรับลดได้ให้ดำเนินการทันที เช่น การติดตามประเมินผล การจัดประชุมนอกสถานที่โดยให้ใช้วิธีการประชุมทางไกลผ่านทางจอภาพ หรือ VIDEO Conference แทน เป็นต้น

ไม่ว่างบประมาณปี 63 จะของกรมวิชาการเกษตรจะถูกตัดเพราะเหตุใดแต่การตัดงบประมาณครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบแล้วที่ไม่ใช่เพียงแต่เจ้าหน้าที่แต่รวมไปถึงครอบครัวของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ด้วย ความหวังเล็กน้อยคือในปีงบประมาณ2564 กรมวิชาการเกษตรจะได้งบประมาณส่วนนี้กลับมา และมาทำสัญญาจ้างต่อหากยังมีใจที่จะทำอยู่