จับตาเศรษฐกิจอังกฤษช่วงนับถอยหลังเบร็กซิท

จับตาเศรษฐกิจอังกฤษช่วงนับถอยหลังเบร็กซิท

จับตาเศรษฐกิจอังกฤษช่วงนับถอยหลังเบร็กซิท โดยช่วงเวลา 11 เดือนที่เหลือนับจากนี้เป็นช่วงที่อังกฤษต้องลุยทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ทั้งกับอียูและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

กระบวนการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ของอังกฤษที่ยืดเยื้อมานานหลายปี เป็นความจริงแล้วในวันนี้ (31 ม.ค.) หลังจากสหภาพยุโรปอนุมัติขั้นตอนสุดท้ายเมื่อวันพุธ (29 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์ เปิดทางให้อังกฤษออกจากกลุ่มที่เคยอยู่มานานเกือบ 50 ปี ถือเป็นความเสื่อมถอยครั้งสำคัญในการบูรณาการยุโรป

บรรยากาศการประชุมสภายุโรปเมื่อวันพุธ การอภิปรายเต็มไปด้วยฉากสะเทือนอารมณ์ ส.ส.หลายคนพากันหลั่งน้ำตา ก่อนลงมติด้วยคะแนนเสียง 621 ต่อ 49 เห็นชอบข้อตกลงเบร็กซิทที่อังกฤษทำกับ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ผลพวงจากการที่ประชาชนลงประชามติถอนตัวออกจากอียูเมื่อกว่าสามปีก่อน

อังกฤษเข้าเป็นสมาชิกอียูในปี 2516 และจะสิ้นสุดในเวลาเที่ยงคืนวันศุกร์ (31 ม.ค.) ตามเวลากรุงบรัสเซลส์ สำนักงานอียูจะถอดธงอักฤษออก เช่นเดียวกับสถานทูตอังกฤษในกรุงบรัสเซลส์ก็นำธงอียูออก

หลังจากวันที่ 31 ม.ค.ถึงสิ้นปี ถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่อังกฤษกับอียูต้องเจรจากันในทุกประเด็น ตั้งแต่การค้าไปจนถึงความมั่นคงเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่

158043630851

“เรากำลังพิจารณาเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีที่ภาษีเป็นศูนย์ โควตาเป็นศูนย์ แต่มีเงื่อนไขว่าธุรกิจอังกฤษและอียูจะต้องแข่งขันบนกติกาที่เท่าเทียมกันต่อไป แน่นอนว่าเราจะไม่ปล่อยให้บริษัทของเราต้องเจอกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม”อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ( อีซี ) กล่าวในที่ประชุม

แหล่งข่าววงการทูตเผยว่า ก่อนประชุมสภา มิเชล บาเนียร์ หัวหน้าคณะเจรจาอียูกล่าวกับทูต 27 ประเทศที่เหลือว่า ความสัมพันธ์ใหม่จะพิจารณาจากข้อตกลงรวมตัวกันแบบหลวมๆ เหมือนอย่างที่อียูทำกับยูเครน

“เราจะไม่ยอมถอยในประเด็นสำคัญ” บาเนียร์กล่าวกับทูต

ด้านไนเจล ฟาราจหัวหน้าพรรคเบร็กซิทที่ครองโควตาที่นั่งของสหราชอาณาจักรในสภายุโรปมากที่สุด กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อออกจากอียูไปแล้วอังกฤษจะไม่ถอยหลังกลับ

ตอนร่ำลาสภา ส.ส.พรรคเบร็กซิทของฟาราจโบกมือลาพร้อมโบกธงชาติอังกฤษขนาดเล็ก ร้องตะโกน “ไชโย” ตรงข้ามกับ จูด เคอร์ตัน ดาร์ลิง ส.ส.พรรคสังคมนิยมจากอังกฤษเหมือนกันกลับหลั่งน้ำตา

ช่วงเวลา 11 เดือนที่เหลือนับจากนี้เป็นช่วงที่อังกฤษต้องลุยทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ทั้งกับอียูและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่เครก เออร์แลม นักวิเคราะห์จากโออันดา ความไม่แน่นอนยังมีอยู่มหาศาลกว่าจะถึงเส้นตายสิ้นปี แม้ตัวเลขชี้ว่า ปลายปี 2562 เศรษฐกิจอังกฤษดีขึ้นเล็กน้อย แต่หนทางยังไม่ราบรื่น

“ถ้ารัฐบาลทำได้ตามที่รับปากไว้ ก็เริ่มฮันนีมูนกันได้ในปี 2564” นักวิเคราะห์รายนี้กล่าว

ตอนที่พรรคอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ชนะเลือกตั้งเมื่อเดือน ธ.ค.นั้น บรรดานักลงทุนก็ใจชื้นได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากจอห์นสันให้คำมั่นว่าจะนำอังกฤษออกจากอียูในวันที่ 31 ม.ค.แต่ไม่กี่วันก่อน มาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กล่าวว่า แม้ความไม่แน่นอนจะลดลงแต่ก็อย่าเพิ่งวางใจเรื่องเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนคาดกันมากว่าบีโออีอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ลงไปอยู่ที่ 0.5% ซึ่งจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ส.ค.2559

158043629692

ที่บีโออีหั่นดอกเบี้ยสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เหลือ 0.25% หลังผลประชามติออกมาว่าให้ออกจากอียู

นอกจากนี้เศรษฐกิจอังกฤษในระยะสั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุการณ์สำคัญด้วย เช่น การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และความเสียหายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

“เรามองว่าเศรษฐกิจจะเริ่มผงกหัวขึ้นช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แต่หลังจากนั้นจะเริ่มลำบาก” โฮวาร์ด อาร์เชอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากอีวายให้ความเห็น

ตัวชี้วัดสำคัญถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอังกฤษก็คือเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นมาช่วงหลังๆ จากที่เคยอ่อนค่าลงหลังผลประชามติเบร็กซิทในปี 2559

นีล วิลสัน นักวิเคราะห์จากมาร์เก็ตส์ดอทคอมมองว่า การเจรจาการค้าระหว่างลอนดอนกับบรัสเซลส์ ที่มีกำหนดเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 3 มี.ค. เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเงินปอนด์และหุ้นอังกฤษในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

ส่วนสหรัฐก็หวังจะบรรลุข้อตกลงการค้ากับอังกฤษภายในสิ้นปีนี้ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเบร็กซิทเช่นกัน