ส่งออก-ภัยแล้ง-โคโรน่า วิบากกรรมเศรษฐกิจไทย

ส่งออก-ภัยแล้ง-โคโรน่า วิบากกรรมเศรษฐกิจไทย

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ชี้ ปัจจัยผลกระทบเศรษฐกิจไทยปี 2563 เพิ่มมากขึ้นทั้งภัยแล้ง ความล่าช้างบประมาณ 2563 เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และโคโรน่า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ประเมินผลกระทบจาก 5 ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ประกอบด้วย 1.ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กระทบท่องเที่ยว 2.การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่มีผลต่อความต้องการสินค้าไทยลดลง 3.ปัญหาภัยแล้ง 4.ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) และ 5.ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดว่าทั้ง 5 ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจไทยรวมถึงกัน 226,700 ล้านบาท และได้มีผลกระทบต่อการขยายตัวจีดีพีลง 1.3% แต่ยังไม่ปรับลดประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ตั้งไว้ 2.8% เพราะต้องรอดูมาตรการรัฐบาลที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อน

สำหรับรายละเอียดของปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยแบ่งเป็น 

ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่มีผลกระทบท่องเที่ยว หากสามารถควบคุมการระบาดและท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้ในเดือน มี.ค.2563 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 2.41 ล้านคน แบ่งเป็นจีน 1.84 ล้านคนและประเทศอื่น 0.57 ล้านคน รวมมูลค่าเสียหายต่อเศรษฐกิจ 117,300 ล้านบาท กระทบจีดีพี 0.67% แต่ถ้าหากสถานการณ์ลากยาวไปถึงเดือน พ.ค.นี้ จะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวภายใน 5 เดือนหลังจากนั้น และจะทำให้มีความเสียหาย 189,200 ล้านบาท กระทบจีดีพี 1.08%

ที่ผ่านมาทางการจีนได้ออกมาตรการที่เข้มข้นในการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เช่น การปิดเมือง การยกเลิกเที่ยวบินและรถโดยสาร การยกเลิกกรุ๊ปทัวร์ที่จะไปท่องเที่ยวต่างประเทศ การยกเลิกกิจกรรมฉลองตรุษจีนและขยายวันหยุดช่วงตรุษจีน

สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีจุดเริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562

ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563  โดยหากมีความล่าช้า 6 เดือน หรือสามารถเบิกจ่ายได้เดือน เม.ย.นี้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อจีดีพี 77,500 ล้านบาท ทำให้จีดีพีลดลง 0.44% แต่หากล่าช้ากว่าปกติ 8 เดือน หรือเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 167,000 ล้านบาท หรือกระทบจีดีพี 0.96%

ผลกระทบจากไวรัสโคโรนาทำให้ความต้องการสินค้าไทยลดลง โดยมีการประเมินว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา จะทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีจีนในปี 2563 ลดลง 0.5-1.0% จากเดิมที่คาดไว้ขยายตัวที่ระดับ 5.9% หรือขยายตัวอยู่ที่ 4.9-5.4% 

การที่จีดีพีของจีนปรับตัวลดลงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงตามไปด้วย รวมทั้งส่งจะกระทบต่อเนื่องถึงความต้องการของสินค้าไทยลดลง โดยถ้าหากจีนสามารถควบคุมการระบาดได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในวงจำกัดเพียง 15,500 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพี 0.09% 

แต่หากว่าการควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างเป็นมูลค่า 36,700 ล้านบาท และกระทบจีดีพี 0.21%

ภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งหากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลา 1 เดือน และปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ต่ำกว่าปีก่อนประมาณ 10% จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ 10,200 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพี 0.06% แต่หากสถานการณ์เกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน และปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าปีก่อนประมาณ 20% จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 21,800 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.12%

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในรูปแบบของค่าเสียโอกาสใน 4 ลักษณะ คือ ค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพของประชาชน เช่น ค่ากากอนามัย ค่าเครื่องฟอกอากาศ ค่ารักษาพยาบาล  เป็นต้น 

รวมถึงค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว ค่าเสียโอกาสของธุรกิจที่ทำในพื้นที่และค่าเสียโอกาสของภาครัฐในการใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหา โดยประเมินว่า  ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในกรณีที่สถานการณ์ฝุ่น พีเอ็ม 2.5 มีความรุนแรงไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 3,800 ล้านบาท กระทบจีดีพี 0.02 % แต่หากมีความรุนแรงไม่เกิน 1 เดือน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 6,200 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพี 0.04%

“อีกปัจจัยที่ทำให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ยังไม่ปรับประมาณการณ์ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ชัดเจน เพราะอยู่ที่การควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเป็นไปได้ 2 ทางคือ จบเร็วคลายตัวและยืดเยื้อยาวนานก็เป็นไปได้ แต่เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นยอมรับว่าสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากแม้ว่าในอนาคตรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเยียวยาต่างๆเข้าลดปัญหาความเดือดร้อนและพยุงเศรษฐกิจ แต่ความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจต่ำกว่า 2.5%“

ขณะนี้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวดูจากราคาน้ำมันที่อยู่ 59-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิม 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแน่ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในจีนจะทำจีดีพีของจีนลดลงเท่าไร ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะลดลง 0.5-1 % ก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาได้เร็วหรือไม่ การที่จีนมีภาวะเศรษฐกิจที่ลดลงทั้งการซื้อภายในและภายนอก แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเนื่องจากเศรษฐกิจจีนเป็นอันดับ  2 ของโลก

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เช่น ทำตลาดเชิงรุกในตลาดนักท่องเที่ยวอื่นที่มีศักยภาพ ออกมาตรการฟรีวีซ่าในระยะสั้น และเพิ่มประเทศที่สามารถขอวีซ่า VOA ได้

รวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบเหลื่อมปีหรืองบค้างท่อ และเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเบิกจ่ายงบลงทุนเร็วขึ้น รวมถึงการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 

ในขณะที่การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนควรพิจารณาปรับเพิ่มขึ้น เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน และควรผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเอื้ออำนวยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น และบริหารจัดการให้เงินบาทอ่อนค่าใกล้เคียงระดับ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์