'กูรู' ชี้เป้าหุ้นส่งออกรับบาทอ่อน จับตา 'โคโรนา-ลดดอกเบี้ย' กดค่าเงิน

'กูรู' ชี้เป้าหุ้นส่งออกรับบาทอ่อน จับตา 'โคโรนา-ลดดอกเบี้ย' กดค่าเงิน

สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องจากปี 2562  ลากยาวมาจนถึงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเริ่มกลับทิศพลิกกลับมา “อ่อนค่า ” ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนม.ค.

  โดยความเคลื่อนไหวของเงินบาทล่าสุด ยังอ่อนค่าแตะระดับ  31.2 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 7 เดือน  จากก่อนหน้านี้เงินบาทเคยแข็งค่าไปถึงระดับ 29.7 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อช่วงสิ้นปี 2562 

ปัจจัยที่ทำเงินค่าเงินบาทอ่อนค่า หลักๆเป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย   ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากจีน  

  "บล.เอเซียพลัส" เปิดเผยว่า เดือน ม.ค. ปี 2563 ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับหลากหลายปัจจัยทั้งจากภายนอกและภายในประเทศมากดดัน ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยสูงสุดในภูมิภาคกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท สำหรับประเด็นโรคไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ที่ระบาด หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของประเทศ และกดดันให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง

จากสถิติในอดีต ช่วงเกิดโรคไวรัสระบาดค่าเงินบาทมักจะอ่อนค่าเสมอ เช่น ช่วงที่เกิดโรคซาร์ส ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไป 1% (ระยะเวลา 6 เดือน) ช่วงที่เกิดโรคเมอร์ส ค่าเงินบาทอ่อนค่า 3.9% (ระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน) และล่าสุดโรคจากไวรัสโคโรนา บาทออ่อนค่ามาแล้วกว่า 3.6% (ระยะเวลาเกือบ 1 เดือน) และ จากสถิติย้อนหลัง 5 ปี ชี้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาท 1% จะส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นเฉลี่ยราว 8.5 พันล้านบาท กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทย ( SET) ขึ้นได้อย่างจำกัด

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า คือ  บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และ มจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)

สำหรับ CPF ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา จากความกังวลไวรัสโคโรนาที่แพร่ระบาดในจีน ซึ่งสัดส่วนรายได้ของ CPF ในจีนราว 24% ของรายได้รวมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ในจีนส่วนใหญ่มาจากอาหารสัตว์เป็นหลักกว่า 20% อีก 4% ที่เหลือเป็นฟาร์มไก่ 

อีกทั้งโรงงานของ CPF ในปัจจุบัน มีการกระจายอยู่ทั่วประเทศจีน และล่าสุดยังไม่มีโรงงานไหนหยุดผลิต ขณะที่แนวโน้มกำไรปกติงวดไตรมาส 1 ปีนี้ จะเติบโตโดดเด่นจากงวดไตรมาส 4 ปี 2562 สาเหตุหลักมาจากราคาหมูในไทยฟื้นตัว เช่นเดียวกับในเวียดนามที่ทรงตัวสูงมาก

ส่วน TU มีสัดส่วนรายได้ในจีนน้อยมากไม่ถึง 1% ของรายได้รวม และยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการทำการตลาดในจีน คาดกระทบจำกัดในแง่ของไวรัสโคโรนา โดยตัวธุรกิจทูน่าและกุ้งฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2563 จากราคาวัตถุดิบที่ทยอยปรับตัวขึ้น อาทิ ราคาวัตถุดิบทูน่าเฉลี่ยเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.1 พันดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 16.7% จากเดือนก่อนหน้า ภาพรวมคาดกำไรสุทธิปี 2563 จะฟื้นตัวถึง 38.6%

ด้าน "กรภัทร วรเชษฐ์" ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ เป็นผลจากทั้งเรื่องของโรคระบาด ซึ่งน่าจะส่งผลให้การเกินดุลการค้าของไทยในช่วงที่ผ่านมาลดลง หรืออาจจะพลิกกลับมาเป็นขาดดุลได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยน้อยลง ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็อาจจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในรอบการประชุมวันที่ 5 ก.พ. นี้

“ประเด็นของโรคระบาด และการประชุมของ ธปท. วันที่ 5 ก.พ. นี้ เป็นสองปัจจัยหลักที่จะต้องจับตา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะต่อจากนี้ ในระยะสั้นมองว่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าไปถึง 31.5 – 31.8 บาทต่อดอลลาร์ แต่การจะไปถึง 33 บาทต่อดอลลาร์ น่าจะยังไม่ได้เกิดขึ้นในตอนนี้ เพราะปัจจัยที่ว่ามานี้เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น”

ทั้งนี้ หุ้นที่น่าจะได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าในระยะสั้น คือกลุ่มที่เน้นการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ที่ได้แรงหนุนจากความต้องการบริโภคสูงขึ้น อาทิ CPF และ TU ขณะที่หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มที่ต้องติดตามต่อในระยะถัดจากนี้ เพราะปัจจุบันยังถูกกดดันจากความต้องการใช้ที่ลดลง เพราะการชะลอการผลิตจากโรคระบาด ส่วนหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าอาจจะได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อยจากต้นทุนที่สูงขึ้น

ขณะที่ "สมชาย กาญจนเพชรรัตน์" กรรมการผู้จัดการอาวุโส บล.เคจีไอ มองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทรอบนี้อาจเป็นเพียงระยะสั้น เพราะสาเหตุหลักของการอ่อนค่า คือ ประเด็นโรคระบาดมักจะเป็นผลกระทบระยะสั้น ซึ่งกดดันให้นักท่องเที่ยวลดลง ซึ่งภายหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายก็มีแนวโน้มว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง

สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าจะได้รับประโยชย์จากการอ่อนค่าในช่วงสั้น คือธุรกิจที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ อย่าง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) รวมถึงหุ้นอย่าง CPF ขณะที่ธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มจะได้รับผลบวกเช่นกัน อย่าง บมจ.พริมา มารีน (PRM) บมจ.อาม่า มารีน (AMA)