ส่องปัจจัย WHO ประกาศ 'COVID-19' เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก

ส่องปัจจัย WHO ประกาศ 'COVID-19' เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก

ขณะที่ทั่วโลกกำลังวิตกเรื่องการระบาดของ “ไวรัสโคโรน่า 2019” ที่มีต้นกำเนิดในเมืองอู่ฮั่นของจีน หลายคนอาจสงสัยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้หลักเกณฑ์อะไรบ้างในการประกาศให้ไวรัสนี้เป็น ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

ณ วันที่เขียนเรื่องนี้ (30 ม.ค.) หลายฝ่ายกำลังจับตาการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินเป็นรอบที่ 2 ใน 2 สัปดาห์ของ WHO ที่สำนักงานใหญ่ในนครเจนีวาซึ่งเริ่มคืนวันพฤหัสบดี และน่าจะทราบผลการประชุมประมาณ 01.30 น.ของวันศุกร์ (31 ม.ค.) ตามเวลาไทย

ความสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ WHO จะประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) หรือไม่ หากที่ประชุมลงมติว่า ไวรัสนี้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก ก็จะเป็นการเปิดทางให้ WHO ร่วมงานกับรัฐบาลทั่วโลกได้อย่างเต็มที่ เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์โรคระบาดนี้

“WHO กำลังเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ตลอด 24 ชั่วโมงและเราจะแถลงข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินในวันพรุ่งนี้ (30 ม.ค.) การแพร่ระบาดดังกล่าวทำให้นานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญ บริษัท และชุมชนต่าง ๆ ดำเนินการ ขณะที่ทั่วโลกกำลังร่วมมือกันในการสกัดการแพร่ระบาด และถอดบทเรียนจากการแพร่ระบาดในอดีต” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ทวีตเมื่อวันพุธ (29 ม.ค.)

นอกจากนี้ กีบรีเยซุส ยังกล่าวชื่นชมความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนในการยุติการแพร่ระบาดดังกล่าว และจีนกำลังต้องการการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ขณะที่ในความเป็นจริง ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นับถึงวันที่ 30 ม.ค. ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทะลุ 7,700 คนทั่วโลกแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 170 คนซึ่งทั้งหมดอยู่ในจีน และยังไม่พบผู้เสียชีวิตในประเทศอื่น ๆ

คำถามใหญ่คือ เพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ WHO ต้องใช้หลักเกณฑ์อะไรบ้างในการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หรือตัวย่อว่า PHEIC (Public Health Emergency of International Concern)

  • WHO นิยาม PHEIC อย่างไร?

ปกติแล้ว WHO มี 2 หลักเกณฑ์ในการนิยามการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ อย่างแรกคือการระบาดนั้นต้องก่อให้เกิดความเสี่ยงมากกว่า 1 ประเทศ และอย่างที่สองคือ การแพร่ระบาดนั้นจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการตอบสนอง

คำนิยามอย่างเป็นทางการของ WHO บอกว่า PHEIC หรือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หมายถึง สถานการณ์ที่ร้ายแรง ไม่ปกติ หรือคาดไม่ถึง

ต้นสัปดาห์นี้ WHO แก้ไขในรายงานสถานการณ์ว่า ความเสี่ยงของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อยู่ในระดับ “สูง” ในระดับโลก หลังจากใช้คำผิดในรายงานฉบับก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสบดี (23 ม.ค.) ศุกร์ (24 ม.ค.) และเสาร์ (25 ม.ค.) ที่ประเมินว่าความเสี่ยงระดับโลกของไวรัสนี้อยู่ที่ระดับ “ปานกลาง”

อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกยังคงมองว่า "เร็วเกินไป" ที่จะสรุปว่าไวรัสนี้มีความเสี่ยงทั่วโลกอยู่ในระดับ "สูงมาก" และไม่รุนแรงถึงขั้นต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งนี่เป็นความเห็นก่อนมีการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินในวันที่ 30 ม.ค.

คณะกรรมการฉุกเฉินของ WHO ซึ่งเป็นตัวแทนจาก 196 ประเทศสมาชิก จะประชุมกันเพื่อหารือสถานการณ์โรคระบาด และเมื่อมีการประเมินหลักฐานซึ่งรวมถึงการอัตราการติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์แล้ว การตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศหรือไม่ เป็นดุลยพินิจของผู้อำนวยการใหญ่ WHO

จนถึงตอนนี้พบการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จากมนุษย์สู่มนุษย์อย่างน้อยใน 3 ประเทศนอกเหนือจากจีน ได้แก่ ญี่ปุ่น, เยอรมนี และเวียดนาม ซึ่งกีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ทวีตในวันนี้ (30 ม.ค.) ว่า WHO กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ ขณะที่ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับญี่ปุ่น, เวียดนาม และเยอรมนี เป็นไปด้วยดีมาก

  • WHO ประกาศ PHEIC บ่อยแค่ไหน?

การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก โดยทั่วไปแล้ว WHO จะใช้ความระมัดระวังในการประกาศ PHEIC แต่ละครั้ง โดยพิจารณาถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว

นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ของ WHO จะหลีกเลี่ยงการแทรกแซงการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็น

ในอดีต WHO เคยเผชิญกับกระแสวิจารณ์อย่างหนัก กรณีประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกเร็วเกินไป หรือ ช้าเกินไป

WHO เคยประกาศ PHEIC เมื่อปี 2548 เพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส และโรคไข้หวัดนก หรือ H5N1 เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2000

นับถึงปัจจุบัน WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกไปแล้ว 5 ครั้ง ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่ระบาดทั่วโลกในปี 2552, การระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกระหว่างปี 2557-2559, โรคโปลิโอในปี 2557, ไวรัสซิกาในปี 2559 และการระบาดซ้ำของโรคอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเมื่อปี 2562

สำหรับการระบาดของอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก WHO ใช้เวลานานถึง 1 ปีกว่าจะประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก

  • สถานะ PHEIC มีผลต่อนานาชาติอย่างไร?

เมื่อ WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว จะนำไปสู่การออกมาตรการสาธารณสุข การระดมเงินทุนและทรัพยากร เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดระหว่างประเทศ

มาตรการดังกล่าวสามารถครอบคลุมถึงการออกคำแนะนำเกี่ยวกับการค้าและการเดินทาง รวมถึงการคัดกรองผู้โดยสารในสนามบิน แม้โดยทั่วไปแล้ว WHO ตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อจำกัดทางการค้าจนเกิดความปั่นป่วนก็ตาม

ภายใต้หลักเกณฑ์ปัจจุบันของ WHO ในการจัดการสถานการณ์ดังกล่าว มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดที่ต้นตอ และยังกำหนดให้ประเทศต่าง ๆ มีความโปร่งใสในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการระบาด และมีความพร้อมในการคัดแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อ

-------------------------------

ที่มา:

https://www.dw.com/en/what-constitutes-an-international-public-health-emergency/a-52114823

https://qz.com/1791009/how-who-defines-a-global-public-health-emergency/