ทั่วโลกมุ่งชะลอจุดพีค 'ไวรัสโคโรน่า'ระบาดในประเทศ

ทั่วโลกมุ่งชะลอจุดพีค 'ไวรัสโคโรน่า'ระบาดในประเทศ

สธ.เผยทั่วโลกมุ่งชะลอจุดพีค “ไวรัสโคโรนา” ระบาดในประเทศ แจงแผนไทยพร้อมรับมือ 5 ระดับคุมการระบาด ชะลอจุดพีคให้ช้าที่สุด ลดจำนวนคนป่วยแห่รักษา-ช่วยรพ.พร้อมดูแลรักษา

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 มกราคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์(นพ.)สุขุม กาญจนพิมย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การตรวจยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (แล็บ) เดิมมีห้องแล็บมาตรฐานที่รับรองว่าตรวจได้ 2 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาล(รพ.)จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ขณะนี้มีการพัฒนาและรับรองห้องแล็บเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในการตรวจยืนยันเชื้อชนิดนี้
อีกทั้ง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังพัฒนาห้องแล็บเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในภูมิภาคอีก 14 แห่ง ด้วยวิธีการเรียลไทม์พีซีอาร์ ที่จะรู้ผลใน 3 ชั่วโมง เพราะหากมีการส่งตรวจจากพื้นที่ต่างจังหวัดเข้ามายังกรุงเทพฯ ก็จะใช้เวลาในการเดินทาง ซึ่งเชื้ออยู่ในสภาพแวดล้อม 6-8 ชั่วโมงก็ตาย จึงต้องพัฒนาในระดับภูมิภาคให้ตรวจได้ด้วย ขณะเดียวกันทางกลุ่มโรงเรียนแพทย์หรือมหาวิทยาลัยก็ร้องขอว่าอยากพัฒนาห้องแล็บให้สามารถตรวจได้ด้วยเช่นกัน เช่น ศิริราช รามาธิบดี
ไม่ทราบจำนวนผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง
ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวโน้มความรุนแรงของโรคเป็นอย่างไร นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากข้อมูลที่มีตอนนี้ยังตอบได้ยาก และยังมีหลายกระแส ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากจีนเป็นหลัก ที่รายงานว่าขณะนี้มีผู้ป่วยประมาณ 5 พันคน เสียชีวิตเกือบ 200 ราย อาจรู้สึกค่อนข้างสูง แต่ตัวเลขนี้ก็นับเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรง เหมือนเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะเท่าที่ทราบจีนไม่ได้เฝ้าระวังและติดตามคนไข้อาการอ่อน น้อย หรือไม่มีอาการ ตรวจเฉพาะคนอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยไม่รุนแรงมีจำนวนเท่าไรนั้น ตอนนี้เป็นตัวเลขคาดการณ์ทั้งสิ้น มีบางหน่วยงานคาดการณ์ว่าอาจจะมีประมาณ 1 แสนคน หากอนุมานจากตัวเลขนี้อัตราเสียชีวิตก็จะประมาณ 2 ต่อพัน แต่ทุกอย่างยังเป็นการคาดเดา แต่คิดว่าคงไม่สูง 2-4% เหมือนที่จีนบอกในระยะแรก ก็ขึ้นกับนักวิทยาศาสตร์จะพยากรณ์แม่นแค่ไหน
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการแพร่ระบาดไปอีกนานแค่ไหน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ ใช้เวลาระบาดประเทศใดประเทศหนึ่ง 6-9 เดือน จะเข้าสู่จุดสูงสุดหรือจุดพีคที่มีผู้ป่วยมากที่สุด จากนั้นจะคงที่ รอวันลดลง และจะเกิดการระบาดเป็นช่วงๆ สำหรับประเทศจีนตอนนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น ผ่านมาเพียง 1 เดือนแรก เรื่องนี้เป็นหนังชีวิตแน่นอน อยากให้ใจเย็น อีกนานกว่าสถานการณ์ในจีนดีขึ้น ส่วนการใช้มาตรการปิดเมือง ห้ามคนออกมานอกบ้านนั้นทำแค่ไม่กี่เมือง แต่การระบาดไปมากกว่า 1 จังหวัด ก็จะค่อยๆ แพร่ระบาดในจังหวัดอื่นๆเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่ถ้ามีมาตรการดี ไม่ได้แปลว่าจะหยุดการแพร่ระบาดได้เร็ว แต่เป็นการยืดระยะเวลาก่อนที่จะถึงจุดพีคให้ช้าลง เป็นการชะลอการระบาด
ทั่วโลกมุ่งชะลอจุดพีคการระบาด
"ประเทศใดๆ ก็ตามที่เริ่มมีการแพร่กระจายโรค ถ้าไม่สามารถนำกลับไปสู่จุดที่ไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศได้ ก็จะทำให้การแพร่ระบาดจะค่อยๆ เดินต่อไปอาจใช้ 6-9 เดือน หรือยาวนานกว่านั้นถ้าฝีมือก่อนที่จะจุดพีค สำหรับทุกประเทศและประเทศไทยก็เตรียมการไปในทิศทางนั้น เพราะนับวันสถาบันด้านการสาธารณสุขจะยิ่งออกมาพยากรณ์สอดคล้องกันเรื่อยๆ ว่าทุกประเทศมีความเสี่ยงระดับปานกลางที่จะมีผู้ป่วยแพร่กระจายของโรคในประเทศ แม้กระทั่งสหภาพยุโรป แม้แต่รายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหภาพยุโรป หรือยูโรซีดีซีก็พยากรณ์ว่า ยุโรปอาจมีการแพร่ระบาดได้" นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า การชะลอจุดพีคของโรคจะมีผลดีคือ ชะลอจำนวนผู้ป่วยไปที่ออกันที่โรงพยาบาล แทนที่จะมีวันละพันคนก็อาจจะมีแค่ร้อยคน บุ ทำให้คลากรโรงพยาบาลก็ทำงานง่ายขึ้น ประสิทธิภาพการดูแลรักษาพยาบาลก็ดีมากขึ้น เครื่องมือต่างๆก็จะสามารถรองรับได้ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวย มีข้อจำกัด และหลายโรงพยาบาลก็ผู้ป่วยแน่นมากอยู่แล้ว การชะลอจุดพีคของการระบาดจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดถ้ามีการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งทุกประเทศคิดเหมือนกันทำเหมือนกัน จุดนี้จะมีความสำคัญสูงมาก ซึ่งไม่ใช่ว่าการชะลอออกไปไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ดี แต่เป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นต้องทำให้ได้ มิเช่นนั้นจะเกิดสภาพคนเต็มแน่นโรงพยาบาล มีอุปกรณ์ต่างๆ ไม่เพียงพอ
ไทยเตรียมแผน 5 ระยะ
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการรับมือการระบาดในประเทศไทย มีการประเมินและเตรียมแผนแผนการรับมือเป็นขั้นอยู่แล้ว โดยแบ่งเป็น 5 ระยะ ได้แก่ 1.ไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศ 2.มีการแพร่ระบาดในประเทศแต่เป็นวงจำกัดของบางจังหวัด 3.การแพร่ออกไปเป็นวงกว้างภายในจังหวัด 4.การแพร่ข้ามจังหวัด และ5.การแพร่ระบาดไปทั่ว ซึ่งการแบ่งเช่นนี้เป็นวิธีบริหารจัดการ เพราะหากระบาดในพื้นที่ใดก็จะสามารถขยับทรัพยากรจากพื้นที่ใกล้เคียงไปสนับสนุนได้ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการควบคุมโรคระบาดในแต่ละระยะแตกต่างกัน เช่น หากมีการระบายในวงจำกัดตามระยะที่2 ก็จะต้องพยายามนำไปกลับสู่ไม่มีการแพร่ระบาดตามระยะที่ 1 แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการได้
“อย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่นที่เจอคนขับรถบัสติดเชื้อโดยไม่รู้ที่มาที่ไป ทำให้เกิดการติดเชื้อจากภายในประเทศ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ในส่วนของประเทศไทย สิ่งที่จะต้องคือการตะครุบคนป่วยเข้ารับการรักษาให้ได้เร็วที่สุด ถ้าไม่ได้การระบาดก็จะขยายวงออกไป ส่วนการจะให้ถึงระยะที่ 5 จะต้องชะลอให้ช้าที่สุด เพื่อให้โรงพยาบาลรับมือได้ และปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ติดเชื้อมิเช่นนั้นจะทำให้เกิดการเสียขวัยและไม่มีใครดูแลผู้ป่วย ซึ่งการคุมโรคในแต่ละระดับให้ได้ดีมีอยู่ 3 ปัจจัย คือ ตัวเชื้อ การรักษและทุกคนต้องช่วยกัน”นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว

 อ่านข่าว
เจาะเรื่องลับ 'ไวรัสโคโรน่า' และอัพเดตข้อมูลที่ต้องรู้!