อุตฯความงามแสนล.ยังรุ่ง ไทยฮับอาเซียนจัดงานบิวตี้

อุตฯความงามแสนล.ยังรุ่ง ไทยฮับอาเซียนจัดงานบิวตี้

ภาวะเศรษฐกิจโลกทรงชะลอ เศรษฐกิจไทยไม่ได้โตมากนัก ทำให้การค้าขายซบเซาตามไปด้วย ทว่างานแสดงสินค้าหรือเอ็กซิบิชั่น หนึ่งใน 4 องค์ประกอบของอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) กลับมองเศรษฐกิจยามยาก

เป็นโอกาสที่ต้องเร่งออกงานเพื่อหาพันธมิตรมาเป็น “คู่ค้าขาย” ทำรายได้ คัดสรรอุตสาหกรรมขาขึ้น หรือเป็น Sunrise

สรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ อินฟอร์มา มาร์เก็ต ประเทศไทย ในฐานะผู้จัดงานแสดงสินค้าคร่ำหวอดวงการเอ็กซิบิชั่นมาร่วม 20 ปี ฉายภาพว่า อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอางในไทยประเทศไทยยังมีแนวโน้มขยายตัว หากเจาะเฉพาะเครื่องสำอางไทยถือเป็น “ฮับ” ในภูมิภาคอาเซียน ทำให้การจัดงานบิวตี้ต่างๆ ยังมีต่อเนื่อง

ขณะที่อินฟอร์มา ก้าวเป็นรายใหญ่การจัดงานแสดงสินค้าเบอร์ 1 ของโลก หลังควบรวมกับยูบีเอ็ม ทำให้ดึงงานใหญ่ๆมาจัดในไทยได้ โดยหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของปีนี้คือ คอสโมพรอฟ ซีบีอี อาเซียน แบงค็อก 2563” งานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลก จากเคยจัดเพียงประเทศอิตาลี, ฮ่องกง, อินเดีย และสหรัฐ เท่านั้น

การเลือกไทยจัดงานเพราะมองศักยภาพ และตลาดขนาดใหญ่ เพิ่มโอกาสดึงเม็ดเงินต่างชาติให้เข้ามาในไทย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของประเทศ ขณะเดียวกันยังเปิดเวทีให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะคู่ค้าจากหลากประเทศทั่วโลก เพื่อขยายตลาดเครื่องสำอางไทยสู่ตลาดนานาประเทศ

“งานนี้คาดการณ์มีผู้ประกอบการกว่า 800 รายเข้าร่วม ทั้งจากแบรนด์และผู้ผลิต(ซัพพลายเชน) และเราแบ่งพื้นที่ออกบูธเป็นไทย 50% ต่างชาติ 50% ขณะนี้มียอดจองพื้นที่กว่า 50% แล้ว เพราะในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว งานเอ็กซิบิชั่นจะมากขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆมองหาโอกาสในการสร้างการเติบโต ซึ่งปีนี้บริษัทจะมีการจัดงานแสดงสินค้าทั้งสิ้น 10 กว่างาน ส่วนงานคอสโมพรอฟฯ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 15,000 คน งานดังกล่าวจะมีขึ้น 17-19 ก.ย.นี้ ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี”

เกศมณี เลิศกิจจา ประธานกลุ่มคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม ประธานกลุ่มเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวว่า ปี 2562 ตลาดเครื่องสำอางในประเทศไทย เติบโตราว 6% มูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นตลาดในประเทศ โดยแนวโน้มปี 2563 คาดว่าตลาดยังโตต่อเนื่อง 5% เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก อีกทั้งราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง เช่น ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ทำให้ลูกค้ายังมองเป็นตัวเลือกสำคัญ

แม้ราคาที่แข่งขันได้จะเป็นจุดเด่น แต่ก็เป็นอุปสรรคในการทำตลาด เพราะหากเทียบคุณภาพที่ไม่แตกต่างจากคู่แข่งในเวทีโลก ไทยควรจะได้มูลค่า(Value)ที่มากขึ้น จึงต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมเครื่องสำอางไทยให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

สิ่งที่ขาดหายไปส่วนหนึ่งเป็นความน่าเชื่อถือของสินค้าไทย ต้องการให้รัฐชูธง Made in Thailand สร้างความเชื่อมั่นให้ตลาด ผลักดันให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยมีความแข็งแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม Thailand Trust Mark คือตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพสินค้าที่เปรียบเสมือนอาวุธในการผลักดันแบรนด์ไทยให้น่าเชื่อถือ มองว่าเกิดขึ้นแค่ในประเทศ แต่ต่างประเทศยังไม่ยอมรับหรือ ไทย Trust แต่ Nobody ในตลาดโลกยังไม่ Trust”

รุ่งระวี กิตติสินชัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ จำกัด ในฐานะผู้ผลิตสินค้าความงามให้กว่า 100 แบรนด์ระดับโลก(Global Brand) มากว่า 30 ปี ย้ำว่า ในอนาคตธุรกิจความงามยังเป็น Sunrise สินค้ายังทำตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคนับวันรักสวยรักงามมากขึ้น ที่สำคัญเริ่มดูแลรักสวยงามตั้งแต่อายุยังน้อย

นอกจากนี้ ยังเห็นการเกิดแบรนด์ใหม่ๆจากบรรดาสตาร์ทอัพ เน็ตไอดอล ศิลปิน นักแสดงต่างๆ ทำให้มีความต้องการจ้างผลิต(OEM)ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

“เราผลิตสินค้าที่ดูแลตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้าให้กับแบรนด์ระดับโลก เห็นความต้องการของลูกค้าเพื่อผลิตสินค้าแบบคัสโตไมซ์ มีส่วนผสมจากธรรมชาติ รับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ต้องมีนวัตกรรม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านช่องทางจำหน่ายมีความหลากหลาย และผู้บริโภครักสวยงามตั้งแต่อายุยังน้อย และการรักสวยงามเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคผู้หญิง จึงมองตลาดเป็น Sunrise ในอนาคต”

พงศ์วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การไปร่วมงานครอสโมฯ ในทุกประเทศ พบเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันตลาดไม่มองหาสินค้าสำเร็จรูปเพื่อจำหน่าย แต่มองหาผู้ผลิต เพื่อพัฒนาและผลิตสินค้าทำตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาได้ร่วมงานคอสโมพรอฟฯ ฮ่องกง พบว่าตลาดเครื่องสำอางจากยุโรป สหรัฐฯค่อนข้างซบเซา