เปิดทริคซื้อ 'เครื่องฟอกอากาศ' ยี่ห้อไหนดี ที่ กรองฝุ่น 'PM2.5' ได้ด้วย

เปิดทริคซื้อ 'เครื่องฟอกอากาศ' ยี่ห้อไหนดี ที่ กรองฝุ่น 'PM2.5' ได้ด้วย

การป้องกันตัวเองจากฝุ่นพิษ "PM2.5" นอกเหนือจากการสวมใส่หน้ากากอนามัยแล้ว "เครื่องฟอกอากาศ" ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ชวนรู้ 5 เทคนิคเลือก "เครื่องฟอกอากาศ" ว่าต้องดูอะไรบ้างก่อนซื้อ

ฝุ่นพิษ "PM2.5" กลับมาเยือนชาวกรุงอีกครั้งในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยล่าสุด.. เช้าวันนี้ (15 ธ.ค.) เว็บไซต์ Airvisual รายงานระดับมลพิษในอากาศในกรุงเทพฯ ระบุว่า มีดัชนีอยู่ที่ 178 AQI สารมลพิษหลักคือ ฝุ่น PM 2.5 ทำให้พุ่งติดอันดับที่ 3 เมืองอากาศแย่ที่สุดในโลก⁣ ขณะเดียวกัน "คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5" ได้ออกมาแถลงข่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่นพิษดังกล่าว โดยหลักๆ เน้นควบคุมดูแล 3 เรื่อง คือ

1.ขอความร่วมมือรถบรรทุกไม่วิ่งเข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน และเพิ่มด่านตรวจจับรถควันดำเกินมาตรฐาน 2.จัดชุดเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราไม่ให้มีการเผาขยะหรือเผาทุ่ง 3.พิจารณาการฉีดพ่นน้ำละอองฝอยเพื่อดักจับฝุ่นในอากาศ 

นี่เป็นเพียงมาตรการเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งประชาชนก็ต้องดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย โดยการสวมใส่ "หน้ากากอนามัย" เพื่อป้องกันทั้ง "โควิด-19" และฝุ่นพิษ "PM 2.5" ไปพร้อมๆ กัน โดยหน้ากากอนามัยแต่ละรูปแบบมีคุณสมบัติที่ต่างกัน ซึ่งก็ควรเลือกใช้ให้ถูกประเภท อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนนำมาเป็นตัวช่วยลดฝุ่นพิษภายในบ้าน ก็คือ "เครื่องฟอกอากาศ"

มีผลสำรวจของเว็บไซต์เปรียบเทียบราคา "ไพรซ์ซ่า" (Priceza) ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2562 ที่เกิดสถานการณ์ฝุ่นละออง มีการซื้อขายเครื่องฟอกอากาศสูงถึงราว 30,000 เครื่องต่อเดือน คิดเป็น 400% เมื่อเทียบกับยอดขายช่วงก่อนจะเกิดวิกฤติฝุ่น คำถามต่อมาคือ ถ้าจะซื้อเครื่องฟอกอากาศสักเครื่อง เราต้องพิจารณาจากอะไรบ้าง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น และสรุปออกมาเป็น 5 เทคนิคเลือกและใช้ "เครื่องฟอกอากาศ" สู้ฝุ่นจิ๋ว PM2.5

157975791396


ปัจจุบันหลากหลายแบรนด์ออกผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศมาจำนวนมาก
มีการนำฟังก์ชั่นและเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาเสริมจุดเด่นให้แบรนด์ คราวนี้ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะเลือกเครื่องฟอกอากาศจากคุณสมบัติอะไรบ้าง เว็บไซต์ iurban ได้สรุปไว้ 5 เทคนิคหลักๆ ดังนี้

 

1. ดูจากความละเอียดฟิลเตอร์ หรือไส้กรองของเครื่องฟอกอากาศ

ฟิลเตอร์หรือไส้กรองอากาศ นับเป็นหัวใจของเครื่องฟอกอากาศเลยก็ว่าได้ เบื้องต้นขออธิบายก่อนว่า มาตรฐานฟิลเตอร์แบ่งออกได้ราว 3 ประเภท คือ 1.EPA มีความละเอียดในการกรอง 3 ระดับ ได้แก่ E 10, E 11 และ E 12 สามารถดักจับฝุ่นที่มีความละเอียดได้ราว 85-99.5% ต่อมา 2.HEPA มี 2 ระดับ ได้แก่ H 13 และ H 14 มีความละเอียดในการดักจับฝุ่นราว 99.95-99.9995% และ 3.ULPA ที่มีความละเอียดในการดักจับฝุ่นมากที่สุด ได้ถึง 99.9995-99.999995%

ซึ่งฟิลเตอร์ที่แพทยสภาแนะนำสำหรับการเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ ก็คือ HEPA เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นสูง สอดคล้องกับข้อมูลของเว็บไซต์ iurban ที่บอกว่า แม้จะมีฟิลเตอร์ที่มีมาตรฐานสูงกว่าอย่าง ULPA แต่ผู้ประกอบการไม่ค่อยเลือกนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ เพราะสำหรับผู้บริโภคแค่ HEPA ก็เพียงพอแล้ว เพราะสามารถดักจับแบคทีเรียแลัเกษรดอกไม้ ที่เป็นสาเหตุของอาการภูมิแพ้ได้โดยไม่ต้องใช้นวัตกรรมอื่นๆ

รวมถึงในตลาดก็มีการผลิตเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ฟิลเตอร์ต่ำกว่าอย่าง EPA ด้วย โดยตั้งราคาไว้ใกล้เคียงกับ HEPA แต่ยังไม่มีฟิลเตอร์ประเภทใดที่สามารถกรองแบคทีเรียได้เลย

2. ดูจากขนาดห้อง

ต้องบอกก่อนว่าเครื่องฟอกอากาศแต่ละเครื่องเหมาะกับขนาดห้องที่แตกต่างกัน ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้ขนาดห้องก่อนที่จะเลือกซื้อ โดยสูตรการคำนวณง่ายๆ คือ ความกว้างของห้อง x ความยาวของห้อง เช่น ห้องนอนกว้าง 4 เมตร และยาว 4 เมตร = ขนาดห้องคร่าวๆ 16 ตารางเมตร แต่ไม่รวมถึงห้อง 2 ชั้น แบบ Double Volumn จะต้องมีการคำนวณพื้นที่เพิ่มไปอีก

เมื่อเราเลือกขนาดเครื่องได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการสังเกตค่า CADR (Clean Air Delivery Rate) หรืออัตราการเปลี่ยนถ่ายอากาศ หมายความว่าค่านี้จะบอกปริมาณอากาศที่ฟอกแล้ว ไม่ใช่อากาศที่ผ่านเข้าไปโดยยังไม่ได้ฟอก ซึ่งเครื่องจะอ่านค่าออกมาเป็นหน่วยลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ก็จะทำให้เราสามารถเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศได้ง่ายขึ้น โดยใช้ค่าปริมาณอากาศที่ฟอกได้ต่อชั่วโมง เปรียบเทียบกับราคา

ทั้งนี้หากในบ้านมีการแบ่งห้องเป็นสัดส่วนชัดเจน การเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศขนาดเล็กและกระจายตามโซนต่างๆ ดูจะเป็นทางออกที่ดี แต่หากเป็นคอนโดมิเนียม มีเพียงเครื่องเดียวก็เพียงพอ และวางไว้ในห้องที่มีพื้นที่มากที่สุด และถ้าเป็นห้องที่มีการเปิดและปิดบ่อยๆ เช่น ร้านกาแฟ เป็นต้น ควรใช้เครื่องที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น

3. ดูเรื่องของการเปลี่ยนฟิลเตอร์ในอนาคต

สิ่งสำคัญ เมื่อซื้อเครื่องฟอกอากาศมาแล้ว หากใช้ไปสักพัก ฟิลเตอร์ที่เก็บและดักฝุ่นมานาน อาจหมดประสิทธิภาพ หากไม่เปลี่ยน เครื่องฟอกอากาศอาจกลายเป็นพัดลมตัวหนึ่งที่ปล่อยลมออกมาเท่านั้น แต่ไม่สามารถฟอกอากาศได้ ซึ่งผู้บริโภคไม่ต้องกังวลไป เพราะเครื่องฟอกอากาศหลายรุ่นมักจะมีตัวจับเวลาเปิด ปิดเครื่อง เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้รู้ว่าควรจะเปลี่ยนฟิลเตอร์เมื่อใด

4. ดูฟังก์ชั่นเสริมในการฆ่าเชื้อโรค

แน่นอนว่าด้วยสถานการณ์ฝุ่นละอองที่รุนแรงมากขึ้น และเกิดขึ้นต่อเนื่อง และแต่ละครั้งก็กินระยะเวลายาวนาน ส่งผลต่อสุขภาพของหลายๆ คน ทำให้ตลาดเครื่องฟอกอากาศเกิดการแข่งขันสูง ดังนั้นผู้ประกอบการแบรนด์ต่างๆ  ก็หาฟังก์ชั่นเสริมเข้ามาเติมแต่งเครื่องฟอกอากาศของแบรนด์ตัวเองให้กโดดเด่น เพื่อจูงใจลูกค้าให้เลือกซื้อ เช่น การนำไอออนมากำจัดเชื้อโรค หรือการเพิ่มฟิลเตอร์คาร์บอนเพื่อดูดซับกลิ่น รวมถึงการใช้ประจุไฟฟ้า ไทเทเนียม หรือแสงอัลตราไวโอเลท เป็นต้น

แต่ก็มีข้อระมัดระวังสำหรับบางฟังก์ชั่น เช่น การนำโอโซนเข้ามาใช้ฆ่าเชื้อโรค แต่ไม่เหมาะที่จะเปิดเป็นเวลานาน เพราะจะส่งผลต่อเซลล์ในร่างกาย

5. ดูฟังก์ชั่นเสริมอื่นๆ

และในยุคที่เทคโนโลยี หรือดิจิทัล เข้ามาแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา การเลือกเครื่องฟอกอากาศที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ เช่น บางรุ่นสามารถเชื่อมต่อ WIFI ได้ หรือสามารถสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือได้ แม้ว่าเรายังไม่ถึงบ้าน ก็เปิดเครื่องฟอกอากาศรอได้เลย หรือบางรุ่นก็ปรับอัตราการอากาศเองได้อัตโนมัติเมื่อมีปริมาณฝุ่นมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์การพิจารณาอื่นๆ เช่น อัตราการกินไฟ  หรือความเงียบของเครื่องขณะทำงาน รวมถึงการบริการหลังการขาย ศูนย์ให้บริการต่างๆ เป็นต้น

ที่มา : เว็บไซต์ iurban, วารสารศิริราช