กรมชลฯ เผยน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปี 2558 ถึง 20 ซม. จับมือ กปน. ไล่น้ำเค็มป้องระบบประปานครหลวง

กรมชลฯ เผยน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปี 2558 ถึง  20 ซม.  จับมือ กปน. ไล่น้ำเค็มป้องระบบประปานครหลวง

ยืนยัน น้ำประปากินได้

กรมชลประทานลงพื้นที่ติดตามระบบการบริหารแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันการรุกของน้ำทะเลที่หนุนสูงสุดเข้าระบบประปาในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่สถานีวัดน้ำท่าศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดอยุธยา จนถึงจังหวัดสมุทรปราการวันนี้
โดย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้มีการจัดการ 3 ส่วนหลักๆ เพื่อป้องกันน้ำเค็ม โดยใช้น้ำเหนือ น้ำฝั่งตะวันตกคือน้ำลุ่มแม่กลอง และการบริหารประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ใกล้ปากแม่น้ำ มาใช้ในการผลักดันน้ำเค็ม โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดระหว่าง 13-14 ม.ค. ที่จะหนุนสูงกว่าปี 2558 ในช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งจะมีผลทำให้ระดับน้ำทะเลช่วงดังกล่าว จะอยู่ที่ประมาณบวก 1.70 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล (ม.รทก.) 
ซึ่งกรมฯ จะต้องปล่อยน้ำมาดันน้ำเค็มในอัตราการไหลประมาณ 130 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เพื่อดันน้ำเค็มไม่ให้เกินเกณฑ์ผลิตน้ำประปาที่ 0.5 กรัมต่อลิตร และเกณฑ์เฝ้าระวัง  0.25 กรัมต่อลิตร
ดร. ทองเปลวกล่าวอีกว่า รมว.เกษตรฯ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้กำชับให้บริหารจัดการนำ้ให้ดีที่สุด  ทั้งนี้ กรมฯ ได้ใช้ทัพหลักคือ น้ำเหนือจากเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท  ซึ่งกรมฯ ได้มีการกักน้ำไว้เหนือเขื่อนให้อยู่ในระดับบวก 14.1 ม.รทก. เพื่อให้น้ำยกตัวและจะปล่อยน้ำที่อัตราการไหล 100 ลบ.ม.ต่อวินาทีลงมาในวันที่ 8 ม.ค. นี้เพื่อให้น้ำมาถึงที่หน้าสถานีสูบน้ำลำแลของการประปานครหลวงในช่วงวันที่น้ำทะเลหนุนสูงสุด 14-15 ม.ค. และจะผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองที่คลองพระยาบรรลือมาเป็นทัพรองอีกประมาณ 30  ลบ.ม. ต่อวินาทีผ่านคลองจระเข้สามพันที่กรมฯ ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งการระบายที่ประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 โดยในวันที่ 8 ม.ค. จะเพิ่มการระบายจากแม่น้ำแม่กลอง มาลงแม่น้ำท่าจีนผ่านปตร. พระพิมล เพื่อช่วยดันน้ำเค็มก่อนถึงสำแล  
และในส่วนของทัพเสริม จะใช้การใช้การเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ในการหน่วงน้ำเค็มช่วงนำทะเลหนุนสูง และเปิดปตร.เมื่อน้ำทะเลลงเพื่อเร่งการลงของน้ำทะเล   
จึงเห็นว่า ขณะนี้กรมได้ใช้ระบบบริหารของกรมทั้งหมด เพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้าระบบประปาของการประปานครหลวง   
"ยืนยันว่ามาตรการนี้จะคุมน้ำเค็มไม่ให้เข้าระบบประปาได้และใช้รูปแบบนี้อีกครั้งในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงปลายเดือนม.ค.ระหว่าง 20-21ม.ค. 63" ดร.ทองเปลวกล่าว
นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.กระทรวงมหาดไทยในฐานะกำกับดูแลการประปานครหลวง ได้เดินทางมาสมทบที่สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี โดยกล่าวว่า ได้ขออนุญาตออกจากการประชุมคณะรัฐมนตรีมาก่อนเพื่อมาติดตามการทำงานของกรมชลฯและการประปานครหลวง (กปน.) โดยได้แจ้งต่อนายเฉลิมชัย แล้วว่าจะมาติดตามงานที่สถานีนี้  ซึ่งรมว.เกษตรฯ ฝากให้มหาดไทยดูแลและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบด้วยว่าให้ใช้น้ำประหยัดและไม่ควรทำการเกษตรในช่วงนี้ 
อย่างไรก็ตาม คาดว่าประชาชนเริ่มรับทราบสถานการณ์และจะสามารถบริหารจัดการได้เหมือนปี 58 และขอขอบคุณกรมชลประทานและกปน. ที่มีการงานประสานกันใกล้ชิด ที่จะป้องกันความเค็มเข้าระบบประปาของกปน. เพื่อป้องกันผลกระทบทุกภาคส่วน  
ทั้งนี้ ตนขอฝากให้ กปน.ไปเร่งรัดแผนงานโครงการของกปน.เรื่องการเพิ่มแหล่งน้ำดิบ และการเพิ่มศักยภาพน้ำดิบของปกน.ด้วยเพราะแนวโน้มภัยแล้งจะรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี, นายนิพนธ์กล่าว
นายปริญญา  ยมะสมิต  ผู้ว่ากปน.กล่าวว่า  ได้หารือกับกรมชลฯตลอดและมีระบบแจ้งเตือนในเรื่องความเค็ม  ซึ่งการประปาผลิตน้ำวันละ  4.5 ล้านลบ.ม. ถึง 5 ล้านลบ.ม.ต่อวัน  โดย 70% ใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา  และในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงจะปิดระบบการสูบ  และก่อนช่วงน้ำทะเลหนุนสูง กปน.จะมีการสูบสำรองไว้อีกประมาณ 4 แสนลบ.ม. ซึ่งปริมาณดังกล่าวจะใช้ได้ประมาณ2-3 ชั่วโมง  ทำให้ไม่กระทบต่อผู้ใช้บริการของกปน.
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า แผนจัดหาน้ำดิบของกปน.ทำได้ยาก เนื่องจากต้องใช้พื้นที่ในการทำอ่างเก็บน้ำเท่ากับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ไม่มีพื้นที่ ดังนั้นต้องหันมาพัฒนาระบบผันน้ำจากฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์