จากฝุ่นด้านนอกสู่มลภาวะภายใน ภัยจาก 'ตึกพิษ' โรคที่คนเมืองต้องระวัง

จากฝุ่นด้านนอกสู่มลภาวะภายใน ภัยจาก 'ตึกพิษ' โรคที่คนเมืองต้องระวัง

เมื่อภายในอาคารไม่ใช่ที่ปลอดภัยเสมอไป เตือนหลีกเลี่ยงความเสี่ยง 'โรคตึกเป็นพิษ' สิ่งที่คนเมืองต้องระวังในปี 2563

ตลอดปี 2662 ที่ผ่านมา ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 คือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จากแค่แหล่งอุตสาหกรรมถูกขยายสู่ย่านที่อยู่อาศัย จากการเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเปลี่ยนฤดูกาลซึ่งมีความชื้นอากาศสูง สู่วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่พบเจอได้ในแต่ละเดือน

157795113981

ถ้าจะบอกว่าทุกวันนี้คนเมืองกำลังเจอกับสภาวะอากาศที่เป็นพิษคงไม่ผิดนัก และไม่ใช่แค่มลพิษอากาศจากภายนอกเพียงเท่านั้นที่ส่งผลกระทบกับคนเมือง หากด้านในอาคารสูงซึ่งดูแน่นหนา ปลอดภัย และเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ของผู้คนก็กลับมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไม่ต่างกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มโรคที่เรียกว่า Sick building syndrome หรือ "โรคตึกเป็นพิษ"

157795117020
ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า โรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick building syndrome ไม่ได้หมายถึงโรคชนิดเดียว หากแต่เป็นกลุ่มโรคที่แสดงอาการเมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย โดยกลุ่มโรคนี้จะสัมพันธ์กับมลภาวะทางอากาศ

กลุ่มโรค Sick building syndrome เป็นกลุ่มโรคที่วงการแพทย์ในปัจจุบันให้ความสำคัญและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในปัจจุบัน เนื่องจากพบว่าประชากร 1 ใน 3 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประวัติป่วยเป็นกลุ่มโรคนี้ และแนวโน้มผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเมืองมีประชากรหนาแน่น การจราจรติดขัด และอาคารบางแห่งยังเป็นโครงสร้างแบบเก่าที่มีความชื้น ขาดการระบายอากาศที่ดี และใช้สีทาผนังหรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นสารระเหยง่าย (volatile organic compounds)

ต่อให้เกิดฝุ่นพิษที่ด้านนอก แต่อย่าลืมว่ามลพิษภายในอาคารเกิดขึ้นได้ ทั้งจากอากาศที่เล็ดลอดเข้ามา และเกิดจากภายในอาคารเอง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ระบบระบายอากาศไม่ถ่ายเท พรมทางเดินมีไรฝุ่น มีการตกแต่งใหม่ มีการใช้สีทาผนังซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีต่างๆ มีความชื้น รอยรั่วซึมซึ่งทำให้เกิดเป็นเชื้อราตามฝาผนัง ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ อ่อนเพลียง่าย ปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ หายใจไม่สะดวก ฯลฯ

"เราต้องสังเกตอาการตัวเองให้ดี เช่น ทำไมเดินเข้าอาคารนี้แล้วรู้สึกไม่ค่อยดี อยู่นานๆ แล้วรู้สึกเวียนหัว เพลีย แสบคอ คันตา คันจมูก คันผิวหนัง อาการผิดปกติเช่นนี้เกิดจากการที่เราไปใช้ชีวิตอยู่ในอาคารที่มีมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรค"

157795145638

"สำหรับคนปกติที่ไมได้มีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ กลุ่มอาการ Sick building syndrome จะหายไปเองเมื่อออกนอกอาคาร และจากการศึกษาพบว่าหากมีการปรับปรุงอาคารอาการในระยะเริ่มแรกก็จะดีขึ้นเช่นกัน แต่สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว คนกลุ่มนี้หลอดลมจะไวและอักเสบง่าย พอเจอสิ่งแวดล้อมที่มีปัจจัยเสี่ยงก็จะกำเริบและรุนแรงขึ้น หรือคนเป็นโรคหอบหืดก็จะกำเริบ ขึ้นอยู่กับคนคนนั้นมีความเสี่ยงในตัวเองมากเท่าใด แต่อย่าลืมว่าแม้คุณจะไม่ได้เป็นโรค ไม่ได้มีครอบครัวเป็นประวัติโรคภูมิแพ้ แต่ถ้าใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่มีความเสี่ยงทุกวันก็จะกลายเป็นผู้ป่วยได้"

ถึงตรงนี้แม้จะเหนื่อยใจกับสภาพแวดล้อม แต่ก็ต้องยอมรับความจริงเรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไปจากเดิม ดังนั้นอย่าคิดว่าทุกอย่างจะกลายเป็นเหมือนเดิมในระยะเวลาอันสั้น หากแต่มนุษย์เมืองเองต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมที่เป็น ทั้งการปรับตัวในชีวิตประจำวันและการรับมือในช่วงสถานการณ์พิเศษ

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโด แม้ระบบอาคารจะถูกออกแบบใหม่เพื่อให้อากาศถ่ายเท แต่ถ้าคอนโดอยู่ในสถานที่ตั้งที่มีดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ต้องมีเครื่องฟอกอากาศช่วย และต้องถูกวางในห้องที่สมาชิกครอบครัวใช้เวลามากที่สุด โดยเปิดทิ้งไว้ล่วงหน้า 30 นาทีเป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกันการจัดห้องนอนก็ต้องโล่งที่สุด ไม่ควรมีพรมซึ่งเสี่ยงต่อการเก็บไรฝุ่น ผ้าม่านต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการมีตุ๊กตาและหมอนจำนวนมาก เพราะเสี่ยงต่อการเก็บกักเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น

157795119696

ที่สำคัญคนเมืองยุคนี้ต้องปรับตัวพฤติกรรมตามหลัก 4Es ตั้งแต่ Eating (การกิน), Exercise (การออกกำลังกาย), Environment (ปรับสภาพแวดล้อมรอบตัว), Emotion (ปรับอารมณ์) ให้ถูกสุขลักษณะ และติดตามข่าวสารอยู่เสมอ หากไปยังสถานที่ใดที่ค่าดัชนีเตือนว่าต้องระวัง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ไม่ควรลืมพกพาหน้ากากอนามัยให้เป็นนิสัย และยิ่งเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่นมากต้องใส่หน้ากากแบบ N95 ซึ่งป้องกันฝุ่น PM 2.5 และเชื้อไวรัสได้ ส่วนในกรณีผู้มีประวัติป่วยเป็นภูมิแพ้ ต้องพกยาติดตัวไว้ตลอด เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะต้องไปเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเมื่อใด

นอกไปจากสภาพอากาศ พฤติกรรมของการอยู่ในอาคาร ยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคประเภทออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมาจากการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ ขาดการออกกำลังกายเพราะพื้นที่ในแนวดิ่งไม่เอื้ออำนวย เช่นเดียวกับการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicable diseases) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากไลฟ์สไตล์วิธีการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การบริโภคอาหาร การขาดการออกกำลังกาย

ตลอดปีที่ผ่านมามลพิษทางอากาศจากภายนอกสร้างความหนักใจให้กับคนเมืองอย่างมากก็จริง แต่ในปี 2563 และปีต่อๆไป ก็น่าจะเป็นโรคจากตึกเป็นพิษอีกอย่าง ที่เราทำให้เราต้องระวังตัวมากขึ้นกว่าเดิม!

ที่มา : คอลัมน์โลกคนเมือง จุดประกาย หน้า 2 ฉบับวันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2562