เอ็นไอเอเปิดประชันไอเดีย “นวัตกรรมจัดการขยะพลาสติก” รับเทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว

เอ็นไอเอเปิดประชันไอเดีย “นวัตกรรมจัดการขยะพลาสติก” รับเทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว

เอ็นไอเอติดเครื่องปี 63 เฟ้นหา“นวัตกรรมจัดการขยะพลาสติก” เน้นนำแก้ไขปัญหาและประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคมโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านโจทย์สำคัญ 5 ด้าน พร้อมสร้างความมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะพลาสติก เปลี่ยนขยะให้มีค่ารับเทรนด์ "เศรษฐกิจสีเขียว"

เปลี่ยนขยะให้มีค่าขานรับเทรนด์บีซีจี

นายคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ไทยกำลังประสบปัญหาขยะพลาสติกที่มีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมควบคุมมลพิษประมาณการว่าขยะพลาสติกในไทยมีประมาณปีละมากกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็น 12% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ถึงแม้ว่าบางส่วนจะถูกกำจัดหรือนำกลับไปใช้ประโยชน์ แต่ก็มีอีกราว 1 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล ด้วยเหตุนี้ทำให้ภาครัฐได้ออกมาตรการลดและยกเลิกการใช้พลาสติกซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อลดปริมาณขยะภายในประเทศ โดยจะมีมาตรการที่เห็นเด่นชัดคืองดแจกถุงพลาสติกที่นับว่ามีการใช้ในปริมาณมากเนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งจะเริ่มดำเนินการมกราคม 63 นี้ นอกจากนี้ยังมีขยะพลาสติกประเภทอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี อีกทั้งในบริบทกรุงเทพฯเนื่องจากเป็นแหล่งพื้นที่ที่มีการใช้ขยะพลาสติกมากที่สุดแต่แม้จะมีการรีไซเคิลไปบางส่วนก็ยังมีขยะพลาสติกอีกประมาณกว่า 50% ที่ยังไม่ได้รับการบริหารจัดการ

ซึ่งที่ผ่านมาเอ็นไอเอมีโครงการที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน (City & Community Innovation Challenges ) เพื่อแก้ไขปัญหาและประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคมเมืองและชุมชน ซึ่งเป็นการเปิดรับข้อเสนอโครงการนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในหัวข้อ เมืองแห่งนวัตกรรมสีเขียว และการเปิดรับข้อเสนอโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“โดยผลจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มีนวัตกรรมด้านการจัดการขยะพลาสติกที่เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่เราจะเน้นในเรื่องขยะชุมชนเป็นหลัก โดยจะมีเทศบาลที่คอยขับเคลื่อนในเรื่องของการรวบรวมขยะพลาสติก อาทิ นวัตกรรมเครื่องอัดขยะพลาสติกในครัวเรือนที่ถูกติดตั้งเป็นจุดในจังหวัดน่าน เพื่ออำนวยความสะดวกและใช้งานง่ายภายในชุมชน และนวัตกรรมการแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อชาวบ้านจังหวัดกาญจนบุรีนำขยะมาบริจาคก็จะมีการนำมาแปรรูปเป็นน้ำมันเพื่อใช้ในการฌาปนกิจศพไร้ญาติของทางวัด นับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม ในอนาคตหากระบบซัคเซสและมีวัดอื่นๆอยากจะนำร่องใช้โมเดลนี้ก็สามารถขยายผลและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ขยะได้ และนวัตกรรมการบริหารจัดการขยะชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างจากเศษขยะพลาสติกชุมชนมาใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้างที่มีมวลรวมน้ำหนักเบา อาทิ อิฐบล็อก ที่มีสัดส่วนการผสมขยะพลาสติกประมาณ 60% ผ่านการวิจัยและพัฒนาและทดสอบ การกัดกร่อน การดูดซึมน้ำระดับมาตรฐานพร้อมใช้งาน อีกทั้งยังสอนให้ชุมชนผลิตเป็นอาชีพเสริมได้  หรือแม้กระทั่งแอพพลิเคชันรีไซเคิลเดย์เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลในการคัดแยกขยะ รวมถึงเชื่อมโยงกลุ่มผู้รับซื้อของเก่ากับผู้ที่ต้องการขายของเหลือใช้ที่จะช่วยให้สะดวกสบายมากขึ้น”

157737038082

เดินหน้าคิกออฟปี
63

นายคุณาวุฒิ  กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ในปี 2563 เอ็นไอเอมีแนวคิดเดินหน้าต่อยอดโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ด้วยการเฟ้นหานวัตกรรมนวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติก(Plastic Waste Management Innovation) ภายใต้แนวคิดทั้ง 5 ด้านได้แก่ นวัตกรรมการจัดเก็บขยะพลาสติก นวัตกรรมการคัดแยกขยะพลาสติก นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก นวัตกรรมการกำจัดขยะพลาสติก และการสร้างความมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะพลาสติก ที่สามารถทดแทนการใช้งานพลาสติก และสร้างประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนตลอดจนโซลูชั่นที่สามารถทำให้เรื่องดังกล่าวมีทางออกที่เป็นรูปธรรม

โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ที่จะต้องเป็นโครงการที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคมเมืองและชุมชน ภายใต้ข้อเสนอแนวคิดการพัฒนาในหลากหลายมิติ จากนั้นจะมีการตัดสินแนวคิดที่ดีและมีโอกาสในการขยายผล ซึ่งองค์กรที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อนำไปดำเนินการจริงในพื้นที่ ตามหลักเกณฑ์ที่ สนช. กำหนด ภายในระยะเวลา 12 เดือนของการดำเนินงานจะได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะในการขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคมและธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 3-28 กุมภาพันธ์ 2563

และสำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะพลาสติกที่จำเป็นต้องถูกนำมาใช้ และจะทวีบทบาทมากขึ้นในเทรนด์โลกที่ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำไปเป็นไกด์ไลน์ในการคิดค้นนวัตกรรมได้นั้น อาทิ 1.นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง (Upcycling) การนำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยไม่สร้างขยะกลับคืนสู่วงจรขยะพลาสติกอีกครั้ง 2.พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์และแบคทีเรียตามธรรมชาติโดยสามารถผลิตจากวัตถุดิบที่สามารถผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ 3. นวัตกรรมเพื่อการจัดการไมโครพลาสติก และ4.การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นพลังงาน

157737040487

ใต้กรอบเงินทุน 1.5
ล้านบาท

ด้านนายอำพล  อาภาธนากร ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สนช. กล่าวว่า โครงการในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของจุดเริ่มต้นการระดมความคิดเห็นที่จะเริ่มจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงการใช้ประโยชน์ของขยะที่มีอยู่และตกค้างในสิ่งแวดล้อมมาสร้างประโยชน์ ทำให้นวัตกรรมให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการใหม่ รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนโมเดลบีซีจีในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวได้เป็นอย่างดี โดยมีเงื่อนไขคือจะต้องเกิดความร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชน พื้นที่ มหาวิทยาลัย และองค์การส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งบิสซิเนสโมเดลที่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนและก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยจะมีทางเอ็นไอเอเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยให้คำแนะนำ แมชชิ่งตัวเทคโนโลยี และสนับสนุนเงินทุนในด้านต่างๆ ต่อโปรเจคไม่เกิน  1.5 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณกรอบการลงทุนเบื้องต้นทั้งหมด 15 ล้านบาท โดยจะไม่จำกัดจำนวนโปรเจคพร้อมเปิดกว้างทั้งสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม ภาครัฐ มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการรายใหญ่

อีกทั้งเอ็นไอเอยังได้ร่วมกับ บริษัท ฟินิกซิคท์ เทคโนโลยีจำกัด – สินวัฒนา แพลตฟอร์มการระดมทุนสาธารณะที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ร่วมจัดโครงการด้านการบริหารจัดการขยะพลาสติก ผ่านการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบ ซึ่งเป็นการดึงดูดบุคคลทั่วไปที่มีแนวคิดและไอเดียการออกแบบนวัตกรรมที่มุ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว  

ขานรับเทรนด์ระดมทุนแบบใหม่

หงส์สิน เควก ซีอีโอสินวัฒนา บริษัท ฟินิกซิคท์ เทคโนโลยีจำกัด – สินวัฒนา กล่าวว่า เราถือเป็นแพลตฟอร์มการระดมทุน หรือ คราวด์ฟันดิง 1 ใน 2 บริษัทที่กลต.อนุมัติให้มีการทำคราวด์ฟันดิงในประเทศไทยได้ โดยครั้งนี้ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโมเดลของโครงการเอ็นไอเอ เนื่องจากบางผู้ประกอบการมีไอเดียแต่มีเงินลงทุนไม่มากนักอาจจะใช้การระดมทุนจากสินวัฒนาได้  โดยสินวัฒนามีความตั้งใจอยากให้เกิดแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิงในเอเชีย และทำให้เติบโตจนเป็นช่องทางที่แพร่หลาย สำหรับไว้ใช้ในการติดต่อกันและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกทางการเงิน ในครั้งนี้เราเหมือนเป็นอีกทางหนึ่งที่ซัพพอร์ตในแง่ของเงินทุนให้กับผู้ทำโปรเจคที่ต้องการเงินทุน ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและใช้ในการขอระดมทุน โดยไม่จำกัดกลุ่มเป้าหมายเป็นได้ตั้งแต่นักวิจัย หรือบุคคลทั่วไป สตาร์ทอัพ หรือธุรกิจที่กำลังขยายตัว ทั้งแบบจำลอง ไอเดีย ก็สามารถทดลองใช้แพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ โดยจะช่วยให้สามารถประเมินตลาด รู้ตำแหน่งทางการตลาด ได้รับข้อเสนอแนะ ผลตอบรับและการรับรองจากมวลชน เปรียบเสมือนดั่งสะพานที่เติมเต็มช่องว่างทำให้แพลตฟอร์มสามารถนำไปประยุกต์ใช้และทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น