รื้อระบบ 'พักโทษ-ลดโทษ' คุกเกิน 25 ปี ไม่ลด

รื้อระบบ 'พักโทษ-ลดโทษ' คุกเกิน 25 ปี ไม่ลด

อธิบดีกรมราชทัณฑ์สั่งรื้อระบบ “พักโทษ-ลดโทษ” วางแนวคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง ต้องโทษจำคุกเกิน 25 ปี ส่อไม่ได้ลด รมว.ยุติธรรม สั่งสอบข้อเท็จจริง ลดโทษผิดพลาด ด้านเลขาฯศาล ชี้ หากทำผิดซ้ำศาลเพิ่มโทษได้ 1 ใน 3

จากกรณีที่นายสมคิด พุ่มพวง หรือฉายา “แจ็ค เดอะริปเปอร์ เมืองไทย” ผู้ต้องหาฆ่าและเกี่ยวกับทรัพย์สิน 17 คดี โดยมี 5 คดีศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ในข้อหาฆ่าผู้อื่นฯ และลักทรัพย์ โดยระหว่างรับโทษนายสมคิด เป็นนักโทษที่มีความประพฤติดี จึงได้รับการลดโทษ จนกระทั่งพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2562

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายสมคิดได้ก่อเหตุฆ่านางรัศมี มุลิจันทร์ อายุ 51 ปี ที่ จ.ขอนแก่น จนเป็นข่าวโด่งดัง และมีข้อสังเกตว่า เหตุใดนายสมคิดจึงได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้นายสมคิดถูกจับกุมแล้วเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาพักการลงโทษ โดยประเด็นสำคัญที่จะนำมาหารือคือ การกำหนดมาตรการคุมเข้มให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะการกลั่นกรองให้เข้มงวดมากขึ้นก่อนจะปล่อยตัว ว่าเคยก่อเหตุคดีร้ายแรงอะไรมาบ้าง และเข้าข่ายที่จะได้รับการลดโทษ ลดวันต้องโทษหรือไม่ หรือรายใดบ้างที่ควรได้รับการปล่อยตัวไปเลย หรือไม่ปล่อยตัวเลย

“จะนำพฤติการณ์ในคดีมาประกอบการพิจารณา เช่น คดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงต้องโทษตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปไม่เข้าเกณฑ์ลดโทษ หรือลดในสัดส่วนที่น้อยมาก ซึ่งต่อไปต้องมีการออกแบบกฎกติกาการปล่อยตัวผู้ต้องขังในแต่ละครั้งให้ชัดเจน”

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แถลงถึงการออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการคณะพิเศษเพื่อพิจารณาออกระเบียบเพื่อจัดกลุ่มนักโทษที่ก่อคดีร้ายแรงต่อเนื่อง โดยจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีนักโทษที่ก่อคดีร้ายแรงต่อเนื่องอยู่ประมาณ 100 คน และพิจารณาถึงการออกมาตรการควบคุมและติดตามตัว ภายหลังถูกปล่อยตัวไปสู่สังคม

สำหรับทางปฏิบัติดังกล่าว เชื่อว่าจะสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนและสังคมได้ หลังจากที่เกิดกรณีนายสมคิด ซึ่งแนวคิดการใส่เครื่องติดตามตัวนั้น จะคล้ายกับคดีเมกันลอว์ ของสหรัฐอเมริกา ที่ออกกฎหลังจากมีผู้ก่อเหตุคดีข่มขืน และถูกปล่อยตัวไปสู่สังคม แม้ถูกปล่อยตัวต้องใส่เครื่องติดตามตัวไปตลอดชีวิต ขณะที่มาตรการป้องกันกรณีดังกล่าวระยะยาว กระทรวงยุติธรรมและส.ส.จะร่วมผลักดันการออกกฎหมาย

ส่วนกรณีที่การปล่อยตัวนายสมคิดนั้น พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับการพิจารณาลดโทษดังกล่าวผิดพลาดนั้น ตนได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถว่าผลการตรวจสอบจะไปสู่การลงโทษด้วยวิธีการใดหรือไม่ ต้องรอฟังผลการตรวจสอบอีกครั้ง

ทั้งนี้ตนสนับสนุนแนวทางการประหารชีวิตนายสมคิด ตามที่กระแสสังคมเรียกร้อง แต่ต้องพิจารณาในรายละเอียดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตัดสินของศาล

ขณะเดียวกันการสังคายนาระเบียบของกรมราชทัณฑ์ต่อการพิจารณาลดโทษนักโทษที่มีพฤติกรรมร้ายแรงต่อเนื่องนั้น การสังคายนาระเบียบอาจใช้เวลานาน และอาจรื้อทั้งระบบไม่ได้ แต่ตนมองว่าการจัดกลุ่มนักโทษที่มีพฤติกรรมรุนแรงและร้ายแรง เป็นที่เรื่องที่ต้องดำเนินการในระยะสั้น เพื่อเป็นมาตรการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ด้าน นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า หากผู้ต้องคำพิพากษาที่มีโทษจำคุกถึงที่สุดกลับมากระทำผิดซ้ำอีกในการยื่นฟ้องคดี หากโจทก์ได้ระบุไว้ในคำฟ้องให้ศาลทราบถึงพฤติการณ์ดังกล่าว ศาลก็สามารถใช้ดุลยพินิจตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา92 บัญญัติว่า ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก และได้กระทำความผิดใดๆ อีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษก็ดี หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้น 1 ใน 3 ของโทษที่ศาลกำหนด สำหรับความผิดครั้งหลัง" 

"หมายความว่า หากจำเลยซึ่งเคยต้องคำพิพากษาในคดีหนึ่งมา และเคยรับโทษมาก่อนแล้ว ทำความผิดใหม่ ซึ่งความผิดใหม่นั้นอาจจะไม่ใช่ความผิดในข้อหาเดิมที่เคยถูกลงโทษ ศาลก็สามารถพิจารณาเพิ่มโทษในความผิดใหม่ได้อีก 1 ใน 3 ซึ่งมาตรานี้ เท่ากับว่าศาลไม่ได้ดูว่า ความผิดเก่ากับความผิดใหม่เป็นข้อหาลักษณะเดียวกันหรือไม่”

นอกจากนี้ใน ป.อ.มาตรา 93 ก็ได้บัญญัติว่า ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดซ้ำอีก ตามที่ได้จำแนกไว้ในอนุมาตราดังต่อไปนี้ ในระหว่างที่ยังต้องรับโทษก็ดี หรือภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษก็ดี ถ้าความผิดครั้งแรกเป็นความผิดซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่น้อยการ 6 เดือน หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลัง ถึงจำคุกก็ให้เพิ่มโทษได้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง