'รถไร้คนขับ'ไทยเพิ่งเริ่ม แต่สิงคโปร์รุดไกลอันดับโลก

'รถไร้คนขับ'ไทยเพิ่งเริ่ม แต่สิงคโปร์รุดไกลอันดับโลก

จุฬาฯถอดความสำเร็จการขับเคลื่อนรถไร้คนขับในต่างประเทศ ระบุ 4 ปัจจัยความพร้อมนโยบายรัฐ ผู้ใช้ เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ชี้เนเธอร์แลนด์-สิงคโปร์ แชมป์โลกการพัฒนารถอัจฉริยะ

ผศ.นักสิทธ์ นุ่มวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างการสัมมนาอีวี เทค ฟอรั่ม 2019 หัวข้อ “ระเบียบข้อบังคับเบื้องต้นเกี่ยวกับยานยนต์ขับเคลื่อนอัติโนมัติ” จัดโดยสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์และ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ว่า เทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติพัฒนามาจากความต้องการด้านความปลอดภัยในการขับขี่

การพัฒนาเทคโนโลยีเริ่มจากการเสริมฟังก์ชั่น Active Safety ช่วยลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุในบางสภาวะได้ เช่น ระบบเบรกเอบีเอส ระบบเสริมศักยภาพของรถ จากนั้นมีการพัฒนาถึงขั้นที่เรียกว่า Advanced Driver Assistance systems หรือ ADAS เป็นระบบที่ช่วยให้คนขับควบคุมรถได้ปลอดภัยมากกว่าการขับขี่ทั่วไป โดยการทำงานผสานร่วมกันระหว่างผู้ขับขี่กับอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีในบางสภาวะที่การขับขี่ไม่ปลอดภัย อาทิ เซ็นเซอร์ควบคุมความเร็วให้เหมาะสม และเว้นระยะห่างที่ปลอดภัย

157607185081

ระบบนี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมาถึงจุดที่เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมการขับขี่แทนมนุษย์ โดยแบ่งเป็นระดับ 0-5 เริ่มตั้งแต่การที่ไม่มีระบบคอยช่วยเหลือ มนุษย์จะต้องสังเกตการขับขี่และตัดสินใจเอง ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในขั้นที่ 1 และ 2 ที่มีระบบ ADAS ช่วยการขับขี่ในการเร่งและเบรกในบางสภาวะที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ส่วนระดับ 3-5 มีความเป็นอัตโนมัติสูงขึ้น ระบบสามารถควบคุมรถโดยที่มนุษย์ไม่ต้องเหยียบคันเร่ง หรือสัมผัสพวงมาลัยแม้แต่น้อย โดยเป็นการขับขี่ที่รองรับสภาวะตามที่มนุษย์กำหนดขึ้นภายในพื้นที่เฉพาะเจาะจง นับเป็นการเปิดโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ต้องใช้มนุษย์ในการเทคแอคชั่นอีกต่อไป


“ระบบทุกอย่างล้วนมีข้อจำกัด ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรู้ตำแหน่งของรถจากเซ็นเซอร์ต่างๆ อีกทั้งรู้ว่ารอบตัวมีอะไรโดยผ่านการสแกน จากนั้นต้องมีการคาดการณ์การเคลื่อนที่ของสิ่งต่างๆ ที่เราตรวจสอบได้ ฉะนั้น ระบบต้องทำการประมวลผลที่แม่นยำ รวดเร็ว และฮาร์ดแวร์ต้องมีความสามารถสูง เพราะว่าดาต้าที่เกี่ยวข้องนั้นมีมากกว่า 100 กิ๊กกะไบต์ อีกทั้งเอไอก็จะเข้ามาเกี่ยวข้องในหลายส่วน รวมถึงแมชชีนเลิร์นนิ่งที่จะช่วยวิเคราะห์วัตถุที่ตรวจจับได้”



ขณะเดียวกันการพัฒนาการขับขี่แบบอิสระจำเป็นต้องมีการทดสอบ 3 ด้าน คือ 1.การทดสอบในพื้นที่ปิดที่ค่อนข้างปลอดภัยในการควบคุม 2.การทดสอบนำร่องในพื้นที่สาธารณะตามกำหนด อาทิ สิงคโปร์ทดสอบบนพื้นที่เกาะซานโตซ่า 3.เปิดกว้างในพื้นที่สาธารณะ อาทิ สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเกี่ยวข้องอื่นๆ ในการควบคุมด้านความปลอดภัย อาทิ คนเดินเท้า ยานพาหนะ ผู้โดยสาร สิ่งแวดล้อมและเดต้าที่จะต้องมีความปลอดภัยสูง

157607189136

ทั้งนี้ เมื่อ เม.ย. 2562 จุฬาฯ ร่วมกับเอไอเอสทำการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับคันแรกของไทย ที่เชื่อมต่อบนเครือข่าย 5G Live Network รถยนต์สามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย โดยไม่ต้องใช้คนขับ ถัดมาเดือน ส.ค. เอไอเอสลงพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ กสทช. ทดสอบศักยภาพของเทคโนโลยี 5G บนคลื่นความถี่ 28 กิกะเฮิร์ตซ ควบคุมรถไร้คนขับทางไกล ระยะทาง 950 กิโลเมตร ระหว่างกรุงเทพฯและ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา


ผู้ควบคุมรถไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในตัวรถ แต่สามารถบังคับรถให้เคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ต่างๆได้ตามความต้องการ ด้วยระบบการสั่งงานระยะไกลแบบเรียลไทม์บนเครือข่าย 5G ที่ข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งต่อผ่านระบบ Video Analytics และสามารถ Streaming Video ที่มีความละเอียดสูงกลับมาหาผู้ควบคุมซึ่งสวมใส่วีอาร์ ทำให้เกิดการตอบสนองทันที สามารถเคลื่อนที่ไปยังเป้าหมาย และหยุดได้แบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มความปลอดภัย

รถอัตโนมัติเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสาธารณชน แต่การที่จะนำมาใช้งานได้นั้นต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งจากภาครัฐ เอกชน ประชาชนและภาคการศึกษา ที่จะต้องศึกษาร่วมกันเพื่อวางแผนและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จะนำไปสู่การใช้งานบนพื้นฐานการแชร์ร่วมกันในสังคมไทย ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

157607209254

“สิงคโปร์”รุดหน้าอันดับ2โลก

ผศ.นักสิทธ์ กล่าวอีกว่า เมื่อต้นปี “เคพีเอ็มจี” บริษัทให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก เปิดเผยรายงานการจัดอันดับประเทศที่เตรียมพร้อมเรื่องยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติ ปี 2019 ระบุว่า “สิงคโปร์” เป็นชาติที่มีความพร้อมในด้านดังกล่าวเป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน รองจากเนเธอร์แลนด์จากทั้งหมด 25 ประเทศทั่วโลกที่ทำการสำรวจ โดยดัชนีวัดผลมาจาก 4 องค์ประกอบ ได้แก่ นโยบายของรัฐบาล แนวคิดที่คำนึงถึงการนำยานยนต์ไร้คนขับมาใช้งานในกิจการใดบ้าง โครงสร้างพื้นฐานและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในประเทศโดยรวม ฉะนั้น การที่จะให้ประเทศไทยพร้อมใช้เทคโนโลยีนี้ จึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบดังกล่าว


ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้ใช้รถยนต์ไร้คนขับแล่นบนถนนแล้วในบางพื้นที่ โดยจำกัดความเร็วไว้ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต้องมีผู้ขับขี่สำรองอยู่ในตัวรถด้วยเสมอ ขณะเดียวกันก็ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ เพื่อพัฒนาและทดสอบการใช้งานของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง อีกทั้งรองรับการเข้ามาของสตาร์ทอัพด้านนี้ด้วย โดยสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงขนาดกว่า 13 ไร่ ซึ่งมีทั้งถนนทดสอบที่เสมือนจริง สัญญาณไฟ ทางแยก ทางม้าลายและพายุฝนจำลอง โดยทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้รถยนต์ไร้คนขับสามารถใช้งานได้จริง