‘ขยะพลาสติกในทะเล’ปัญหาวิกฤตข้ามพรมแดน

‘ขยะพลาสติกในทะเล’ปัญหาวิกฤตข้ามพรมแดน

‘ขยะพลาสติกในทะเล’ปัญหาวิกฤตข้ามพรมแดนที่ประชาคมโลกต้องร่วมมือฝ่าวิกฤตไปด้วยกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ทุกภาคส่วนของสังคม และปรับปรุงระบบจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ในภูมิภาคอาเซียนมีขยะไหลลงสู่ทะเลมากเป็นแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งในรายงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (จีไอแซด) ระบุว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) มีความตื่นตัวกับระบบจัดเก็บขยะและรีไซเคิลพลาสติก

ขณะเดียวกันก็มีการส่งออกขยะพลาสติกมายังเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการขยะพลาสติก

อียู และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนาของเยอรมนี ผนึกความร่วมมือกับ 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เปิดตัว "โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทุกภาคส่วนของสังคม และปรับปรุงระบบจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น สู่การเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

“เปียร์ก้า ตาปิโอลา” เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า อียู มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือภายใต้โครงการฯ ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนและยุทธศาสตร์ยุโรปเพื่อจัดการพลาสติก พร้อมกับสนับสนุนงบประมาณจำนวน 10 ล้านยูโร ผ่านการดำเนินงานระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562 - 2565

โครงการฯนี้ มุ่งป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล โดยถ่ายทดองค์ความรู้เพื่อการปรับปรุงระบบจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการจัดเก็บคัดแยกขยะ ลดจำนวนพลาสติกใช้ครั้งเดียว พัฒนาระบบการผลิตพลาสติกที่ย่อยสลาย ควบคู่กับการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน และรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่

"โครงการนี้ หวังจะส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมมือปฏิบัติภารกิจระดับโลก เพราะปัญหาขยะพลาสติกในทะเลได้ถูกยกให้เป็นปัญหาข้ามพรมแดน ที่ประชาคมโลกต้องร่วมมือฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน" ตาปิโอลา กล่าว

ด้าน “เกออร์ค ชมิดท์” เอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุหลักๆ ของปัญหาขยะในทะเลเกิดจากระบบการจัดการขยะบนพื้นดินยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอ ทำให้ขยะไหลลงสู่ทะเล ซึ่งโครงการนี้จะเน้นใช้เทคโนโลยีมาจัดการกับปัญหาขยะในทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเชื่อว่า หากทุกประเทศมีความมุ่งมั่นและร่วมมือกันแข็งขัน จะสามารถลดปริมาณขยะจากพื้นดินไหลลงสู่ทะเลในระยะ 3 ปีอย่างแน่นอน

"อียูเป็นตลาดเทคโนโลยีและมีนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงอยากให้สปอร์ตไลน์ที่ส่องอาเซียนเลื่อนมาส่องอียู เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถทางเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน" ชมิดท์ กล่าวพร้อมกับยกตัวอย่าง

ปัจจุบัน เยอรมนีได้ออกกฎระเบียบแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียว และจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ในเรื่องการผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรีไซเคิลพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกจากเดิม 30% เป็น 60% ในปี2562

เอกอัครราชทูตเยอรมนี ย้ำว่า พลาสติกไม่ใช่ตัวการร้าย เพราะเราสามารถผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม ไม่สามารถเลิกหรือหยุดใช้ได้ เพราะพลาสติกยังมีความจำเป็นอยู่ อย่างเช่นในวงการแพทย์ สิ่งสำคัญต้องมีระบบบริหารจัดการพลาสติกที่ดี จึงจะควบคุมปัญหาขยะพลาสติกได้

ขณะที่ "อาวาโร ซุริตา" ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเลของจีไอแซด ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการร่วมกับ Expertise France กล่าวว่า โครงการนี้ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและดำเนินกิจกรรมครอบคลุมการจัดการขยะพลาสติก การบริโภคและการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน และลดปริมาณขยะในแหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเล เช่น ขยะพลาสติกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตาหกรรมประมง

ดูจากสถิติจะพบว่า ประเทศที่ประสบปัญหาขยะในทะเลมากที่สุดคือประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ศรีลังกา อียิปต์ ไทย มาเลเซีย ไนจีเรีย บังกลาเทศ บราซิล และสหรัฐ นับเป็นความท้าทายระดับโลก และต้องการแรงสนับสนุนจากทั่วโลก

โครงการนี้ มุ่งดำเนินงานใน 4 ด้านได้แก่ 1.สนับสนุนให้มีการหารือเชิงนโยบายระหว่างอียูกับและประเทศภาคีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกี่ยวกับการผลิตและการจัดการพลาสติกในด้านสิ่งแวดล้อม การประมง และอุตสาหกรรม 2.ดำเนินงานเกี่ยวกับกิจกรรมการจัดการขยะพลาสติก โดยผลักดันให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ (EPR) และผลิตพลาสติกเพื่อให้นำกลับมาคืนตามลำดับขั้นตอนการจัดการขยะ

3.มุ่งผลักดันให้เกิดการบริโภคและผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำมากลับมาใช้ และหมุนเวียน ด้วยการสร้างมาตรฐานสำหรับพลาสติกที่จะนำกลับมารีไซเคิล รวมทั้งเพิ่มทางเลือกทดแทนการใช้พลาสติก และการใช้ไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์ และ4.ส่งเสริมลดปริมาณขยะในแหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเล เช่น ท่าเรือ การเลี้ยงสัตว์น้ำและอุปกรณ์จับปลา

ซุริตา กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศที่มีระบบจัดการพลาสติกที่ดี จะมีโอกาสพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญของการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(เอสดีจี) ของสหประชาชาติ