‘เลือกตั้ง’อังกฤษผ่าทางตันเบร็กซิท

‘เลือกตั้ง’อังกฤษผ่าทางตันเบร็กซิท

สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษเห็นชอบตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน จัดเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนดเพื่อผ่าทางตันวิกฤติเบร็กซิท ครั้งนี้พิเศษตรงที่ว่า เป็นการเลือกตั้งเดือน ธ.ค.ครั้งแรกในรอบเกือบ 100 ปี

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า มหากาพย์เบร็กซิทที่กำหนดเดิมสหราชอาณาจักรต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมาต้องยืดเยืื้อมาหลายรอบ ล่าสุดอียูเห็นชอบให้เลื่อนเป็นครั้งที่ 3 แต่รัฐบาล รัฐสภา และผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ยังเห็นไม่ตรงกันถึงวิธีการ หรือแม้แต่จะเดินหน้าเบร็กซิทหรือไม่

นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ที่เคยประกาศลั่นว่า อย่างไรเสียก็ต้องเบร็กซิทในวันที่ 31 ต.ค. ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตัดสินใจขอเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 12 ธ.ค. สภาเห็นชอบเมื่อวันอังคาร (29 ต.ค.) ด้วยคะแนน 438 ต่อ 20 เสียง

จอห์นสันกล่าวหลังจากประชุมกับ ส.ส.พรรคอนุรักษนิยม ระบุ “ถึงเวลาหลอมรวมประเทศให้เป็นหนึ่ง และทำเบร็กซิทให้แล้วเสร็จ”

นี่เป็นการเลือกตั้งใกล้คริสต์มาสครั้งแรกของอังกฤษนับตั้งแต่ปี 2466 และคาดการณ์ได้ยากมาก ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างเหนื่อยล้าและขุ่นเคืองกับเบร็กซิท พร้อมๆ กับบั่นทอนความภักดีที่เคยมีให้กับสองพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคอนุรักษนิยมและแรงงาน

นักการเมืองบางคนรู้สึกว่าการเลือกตั้งใกล้คริสต์มาสอาจรบกวนประชาชน สภาพอากาศหนาวเย็นในฤดูหนาวที่บ่ายแก่ๆ ก็มืดแล้วอาจเป็นอุปสรรคในการหาเสียงและออกไปลงคะแนน

ที่สุดแล้วผู้มีสิทธิต้องเลือกระหว่างจอห์นสัน ให้เดินหน้ากับดีลเบร็กซิท หรือรัฐบาลแนวซ้ายภายใต้การนำของเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงาน ให้ไปเจรจาข้อตกลงใหม่ก่อนลงประชามติอีกรอบ

ผลการเลือกตั้งน่าจะประกาศได้ตั้งแต่เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 13 ธ.ค. ถ้าไม่มีพรรคใดชนะเด็ดขาด ทางตันเบร็กซิทก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป

ชาวอังกฤษถกเถียงเรื่องเบร็กซิทมา 4 ปีแล้ว ถึงวันนี้นักการเมืองแทบทุกคนยอมรับว่า จำเป็นต้องจัดเลือกตั้งเพื่อสลายวัฏจักรแห่งความไม่คืบหน้าของเบร็กซิทที่ช็อกประเทศพันธมิตร เพราะครั้งหนึ่งอังกฤษเคยได้ชื่อว่า เป็นปราการอันมั่นคงของประชาธิปไตยและระบบทุนนิยมตะวันตก

ว่ากันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้ชี้ชะตาแค่เบร็กซิท แต่ยังรวมไปถึงนักการเมืองใหญ่ทั้งจอห์นสัน วัย 55 ปี และคู่แข่งอย่างคอร์บิน วัย 70 ปี

สมัยนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ คนก่อนหน้าจอห์นสัน ก็ใช้วิธีจัดเลือกตั้งก่อนกำหนดเมื่อปี 2560 ปรากฏว่าได้คะแนนน้อยลง กลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจนไม่สามารถทำให้สภาให้สัตยาบันข้อตกลงเบร็กซิทที่เธอทำกับอียูได้ สุดท้ายเธอต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผลการสำรวจคะแนนนิยมในเดือนนี้พบว่า พรรคอนุรักษนิยมมีคะแนนนำพรรคแรงงานอยู่ราว 10% แต่ทั้ง 2 พรรคก็ต้องต่อสู้ใน 3 แนวรบ กล่าวคือต้องแข่งกันเอง พร้อมกันนั้นก็ต้องสู้กับพรรคเบร็กซิทของไนเจล ฟาเรจ ที่พยายามดึงคะแนนเสียงจากกลุ่มที่เห็นด้วยกับการออกจากอียู ส่วนคู่แข่งอีกพรรคหนึ่งคือพรรคเสรีประชาธิปไตย ที่หวังคะแนนจากฝ่ายต่อต้านเบร็กซิท

“นี่น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่คาดการณ์ยากที่สุดที่เผมเคยเจอ จะเบร็กซิทหรือไม่ เราก็ไม่รู้ ประการที่ 2 การเลือกตั้งผันผวนมากที่สุดเท่าที่เคยมี และประการที่ 3 มีโอกาสของการโหวตเชิงยุทธศาสตร์ที่อาจผิดได้สูงมาก เนื่องจากเสียงแตกว่าจะอยู่กับอียูหรือออกจากอียู” อนันท์ เมนอน ผู้อำนวยการกลุ่มThe UK in a Changing Europe กล่าว

จอห์นสันหวังว่าจะชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากไปผลักดันดีลเบร็กซิทวินาทีสุดท้าย ที่เขาเพิ่งตกลงกับอียูได้ในเดือนนี้ ขณะที่คอร์บินต้องการตั้งรัฐบาลสังคมนิยมสุดโต่ง และจัดลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง

ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาไม่มีใครชนะขาด อนาคตเบร็กซิทคงจะเลื่อนลอยอีกครั้ง ส่วนทางเลือกมีตั้งแต่ออกไปแบบโนดีลซึี่งแน่นอนว่าเกิดความวุ่นวายตามมา ไปจนถึงการลงประชามติอีกรอบ ที่อาจทำให้ไม่มีเบร็กซิทเลยก็ได้

คอร์บินมองว่า การเลือกตั้งคือโอกาสของการเปลี่ยนแปลง พรรคแรงงานของเขาเป็นทางเลือกแนวสังคมนิยมแทนที่รัฐบาลจอห์นสันที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และใกล้ชิดกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐมาก

“รัฐบาลพรรคแรงงานจะยืนเคียงข้างคุณ ไม่เหมือนพรรคอนุรักษนิยมของบอริส จอห์นสัน ที่คิดว่าพวกเขาเกิดมาเพื่อปกครอง จึงดูแลเฉพาะอภิสิทธิ์ชนไม่กี่คนเท่านั้น” คอร์บินให้คำมั่นว่าจะดึงบริษัทรถไฟ ประปา และพลังงานมาเป็นของรัฐ เก็บภาษีผู้มีรายได้สูงมาดูแลบริการสาธารณะ

ด้านโรเบิร์ต ฮัลฟอน ส.ส.พรรคอนุรักษนิยม กล่าวว่า นอกจากประเด็นเบร็กซิทแล้วปัญหาในประเทศก็มีบทบาทสำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

“เราเพิ่งใช้วิธีนี้แก้ปัญหากันมาเอง ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเราโหวตในสภากันหลายครั้ง ผมคิดว่าการเลือกตั้งทั่วไปอาจเป็นหนทางทำให้ทุกอย่างชัดเจน” แมตต์ ฟินช์ วัย 36 ปี กล่าวกับรอยเตอร์ที่สถานีรถไฟชาริงคครอส ในกรุงลอนดอน

วานนี้ (31 ต.ค.) ที่เดิมอังกฤษต้องออกจากอียู กลายเป็นวันแรกที่จอห์นสันและคอร์บินหาเสียงด้วยวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ก่อนวันเลือกตั้งจะมาถึงในวันที่ 12 ธ.ค.

จอห์นสันกล่าวหาว่า คู่แข่งนักสังคมนิยมวัย 70 ปีทำให้อนาคตของประเทศต้องตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะมีแผนจะจัดลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง ตัดสินว่าอังกฤษควรอยู่ในอียูต่อไปหรือไม่ เผลอๆ อาจถึงขั้นลงประชามติเอกราชสก็อตแลนด์ด้วย

ด้านคอร์บินตอบโต้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิตที่จะขจัดพรรคอนุรักษนิยมออกไปแล้วสร้างประเทศขึ้นมาใหม่

“การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงกำลังมาถึง” คอร์บินประกาศกร้าว

ระหว่างหาเสียง จอห์นสัน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ของอังกฤษ จะเดินสายไปโรงเรียน โรงพยาบาล สถานตำรวจ ชี้แจงเหตุผลว่าพรรคต้องเดินหน้าเรื่องเบร็กซิท และลงทุนด้านบริการสาธารณะ

ส่วนคอร์บินชูนโยบายสังคมนิยมเข้มข้นสร้างอนาคตให้อังกฤษ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ด้วยการดึงกิจการรถไฟ ไปรษณีย์ และประปากลับมาเป็นของรัฐ

จะว่าไปแล้วพรรคแรงงานก็เกิดความแตกแยกภายในพรรคด้วย เจ้าหน้าที่ระดับสูงในพรรคหลายคนแนะว่า ควรเลือกหัวหน้าพรรคใหม่มานำทัพสู้ศึกเลือกตั้งรอบนี้ แต่คอร์บินใช้นโยบายสังคมนิยมดึงฐานเสียงคนหนุ่มสาวที่เกือบจะช่วยให้พรรคชนะเลือกตั้งเมื่อปี 60 มาแล้ว

อีก 2 พรรคคือเสรีประชาธิปไตยและชาตินิยมสก็อต (เอสเอ็นพี) มีท่าทีต่อต้านเบร็กซิทแข็งขันยิ่งกว่า พรรคเอสเอ็นพีนั้นมองด้วยว่า การเลือกตั้งเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มแรงสนับสนุนเอกราชสก็อตแลนด์

“คะแนนที่มอบให้เอสเอ็นพี คือเสียงที่จะผลักดันอนาคตของสก็อตแลนด์ให้อยู่ในมือสก็อตแลนด์ เรียกร้องสิทธิตัดสินอนาคตของเราเอง” นิโคลา สเตอร์เจียน หัวหน้าพรรคเอสเอ็นพีกล่าวกับสำนักข่าวพีเอ

ส่วนพรรคมาแรงอย่างเสรีประชาธิปไตย ใช้นโยบายง่ายๆ ว่า จะหยุดยั้งไม่ให้อังกฤษออกจากอียูทุกวิถีทาง ซึ่งพรรคเคยชูนโยบายนี้มาแล้วจนได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ชนิดที่ไม่มีใครคาดคิด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปเมื่อเดือน พ.ค.

ผลสำรวจความคิดเห็นจากบริเตนอีเล็คท์ส พบว่า พรรคอนุรักษนิยมมีคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง 35% พรรคแรงงาน 25% พรรคเสรีประชาธิปไตย 18% แต่โพลจากกลุ่มเบสท์ฟอร์บริเตน ซึ่งสนับสนุนยุโรป พบว่า พรรคเอสเอ็นพีมาเป็นอันดับสาม

ผลโพลออกมาในรูปนี้ชี้ว่า ทั้งพรรคเอสเอ็นพีและเสรีประชาธิปไตยจะเป็นขั้วที่ 3 กำหนดว่า ใครจะได้เป็นรัฐบาลใหม่ ส่วนพรรคเบร็กซิทของไนเจล ฟาเรจ ที่มีนโยบายต่อต้านยุโรป ได้คะแนนราว 11%