“หญิงหูหนวก”เสียงที่ไม่ได้ยิน สุ่มเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ

“หญิงหูหนวก”เสียงที่ไม่ได้ยิน สุ่มเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ

อคติทางความคิดที่ว่า “คนพิการไม่จำเป็นต้องรู้ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์” ความรู้เรื่องเพศศึกษาเสมือนถูก“ปิด”จากกลุ่มผู้หญิงหูหนวก ด้วยข้อจำกัดทางการได้ยินจึงเข้าไม่ถึงข้อมูลเรื่องเพศเชิงบวก สุ่มเสี่ยงที่จะถูกเอาเปรียบและล่วงละเมิดทางเพศ

        ในเวทีสรุปบทเรียนโครงการพัฒนารูปแบบและกระบวนการในการดูแลส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศสำหรับผู้หญิงพิการ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) บริษัท อินคลูซีฟ คอมมูนิเคชัน จำกัดและภาคี นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ให้ข้อมูลว่า การสำรวจความคิดเห็นต่อเรื่องเพศของนักเรียนหญิงหูหนวกมัธยมปลายโรงเรียนโสตศึกษาชลบุรี และโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆแบบ focus group จำนวน 24 คน และกระบวนการอบรมแกนนำนักเรียน จาก 4 สถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียนโสตศึกษาชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคบางแสน โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ และวิทยาลัยดอนบอสโก

         พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เด็กหูหนวกกว่าครึ่งมีมุมมองต่อตนเองที่ไม่ค่อยดี รู้สึกอายที่ต้องใช้ภาษามือ กลัวคนอื่นจะมองหรือพูดถึงตนเองในทางที่ไม่ดี ส่วนของเรื่องสุขภาวะทางเพศ พบว่า กรอบคิดเรื่องเพศของเด็กหูหนวกมีจำกัด มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย เด็กหูหนวกมีความรู้เรื่องเพศอยู่บ้าง แต่เป็นความรู้แบบรู้ไม่ครบ รู้คลาดเคลื่อน เช่นเชื่อว่า หากทานยาคุมกำเนิดมากเกินไปจะทำให้เป็นบ้า หรือเชื่อว่า นั่งติดกับคนมีเชื้อโรคเอดส์จะทำให้ติดเอดส์ได้ และเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันจะไม่ทำให้ติดโรคเอดส์ และด้วยข้อจำกัดทางการได้ยิน ทำให้เด็กหูหนวกเข้าไม่ถึงข้อมูลเรื่องเพศเชิงบวก ขาดประสบการณ์ และข้อมูลเรื่องเพศที่ถูกต้อง เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพทางเพศ เสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบและล่วงละเมิดทางเพศ

          "น้องๆ หูหนวกที่ทำการสำรวจ ยังขาดความรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ทำให้มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย เด็กเกือบทุกคนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน บางครั้งมีเพศสัมพันธ์แบบไม่พร้อม เช่น การหลั่งนอก ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ด้วยเหตุผลเพราะเชื่อใจคนรัก หรือบางครั้งไม่ได้เตรียมไว้ หรือคนรักไม่ชอบใส่ถุงยางอนามัย โดยช่องทางการสื่อสารสร้างความรอบรู้ที่มีประสิทธิภาพ ที่เด็กหูหนวกให้ความสนใจ ไม่ใช่หนังสือ แผ่นพับ หรือคู่มือ แต่เป็นสื่อวีดีโอภาษามือ รองลงมาคือเพื่อนหูหนวก พ่อแม่ และคนหูดีที่ให้คำปรึกษาได้” นางภรณีกล่าว

157235305634

         สอดรับกับ น.ส.นิรัชดา มะกาเจ กรรมการบริหารสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ที่สะท้อนว่า คนหูหนวกพบปัญหาสุขภาวะทางเพศอย่างมาก บางคนอายุ 13 ปีมีประจำเดือนก็ยังไม่รู้ เนื่องจากไม่ได้มีการให้ความรู้หรือสอนว่าประจำเดือนคืออะไร

       อย่างไรก็ตาม ในการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศจะต้องมุ่งไปที่ครอบครัวด้วยเพราะเป็นกลุ่มแรกที่จะให้ความรู้กับลูก ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวที่มีลูกหูหนวกจะเก็บเด็กไว้ที่บ้าน หรือหวงลูก ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมหรือรับความรู้ใดๆ จากการที่ครอบครัวขาดความเข้าใจ ทำให้คนหูกหนวกจำนวนมากเข้าไม่ถึงวความรู้และประสบการณ์การใช้ชีวิตในสังคม ส่งผลให้เมื่อต้องเผชิญปัญหา จึงไม่รู้วิธีการรับมือ เช่น หากตั้งครรภ์ไม่รู้วิธีการดูแลและเข้าไม่ถึงบริการของภาครัฐ

        

       สสส จึงสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบและกระบวนการในการดูแลส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศสำหรับผู้หญิงพิการ เพื่อพัฒนาเครื่องมือในการสร้างความรอบรู้ในการส่งเสริมสุขภาวะทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ให้เด็กหญิงหูหนวก โดยการมีส่วนร่วมของแกนนำนักเรียน แกนนำผู้ปกครอง ล่ามภาษามือ และสถานศึกษา รวมถึง พัฒนา “สื่อใจวัยรุ่น” ที่เป็นคลิปวิดีโอภาษามือเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ จำนวน 4 คลิป ครอบคลุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เพศสัมพันธ์มีเมื่อพร้อม เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และทุกปัญหามีทางออก รวมถึง การฝึกอบรมให้กับล่ามภาษามือ ครู และนักเรียนแกนนำ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้หญิงหูหนวก

       น.ส.ปรียากมล น้อยกร กลุ่มแบ่งฝันปันใจ ในฐานะวิทยากรโครงการการส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธ์ของผู้หญิงพิการ กล่าวว่า การจัดอบรมเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงพิการให้กับล่าม ครู และนักเรียนแกนนำ ต้องเริ่มด้วยทัศนคติที่ว่าทุกคนล้วนเป็นมนุษย์มีความต้องการพื้นฐานในชีวิตเหมือนกัน ทว่าแต่ละคนมีความต่างบางอย่างที่เป็นข้อจำกัดการเรียนรู้อและการใช้ชีวิต ซึ่งพบว่ามิติเรื่องเพศไม่สามารถใช่วิธีการเรียนรู้เกียวกันได้กับทุกกลุ่ม โดยในเด็กหูหนวก ในการเรียนรู้เรื่องเพศนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการย่อยข้อมูลอย่างละเอียด ง่าย และสื่อได้อย่างชัดเจนมากกว่าทั่วไป

       การจัดกิจกรรมเรียนรู้เพศจึงต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพราะเรื่องเพศไม่สามารถอ่านหนังสือ 1 เล่มแล้วเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของตนเองและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนอื่น เพื่อให้ค้นพบว่าตนเองทำอะไร ส่งผลอย่างไรต่อชีวิต และหากต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำสามารถเรียนรู้ทางเลือกใหม่ๆได้จากประสบการณ์ใหม่ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนกับคนอื่น

       ขณะที่ น.ส.มัทนา ทองญวณ ล่ามภาษามือโครงการฯ ยอมรับว่า ก่อนเข้าร่วมอบรมมีทัศนคติส่วนตัวว่าเรื่องเพศน่าอาย หากต้องเป็นล่ามแปลเรื่องนี้ให้กับคนหูหนวก เกรงว่าคนหูดีจะมองล่ามว่าทำท่ามือน่าเกลียด เพราะภาษามือที่สื่อถึงเรื่องเพศยังมีท่ามือที่จำกัด ทำให้ภาพลักษณ์ล่ามไม่ดี บวกกับไม่มีความรู้ที่เพียงพอเกรงว่าจะสื่อสารผิด จะทำให้คนที่รับสารเข้าใจผิดด้วย จึงมักจะปฏิเสธงานที่เกี่ยวกับการเป็นล่ามภาษามือเรื่องเพศ แต่หลังเข้ารับการอบรมทำให้เปลี่ยนทัศนคติตัวเอง ทำให้มองเรื่องเพศเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เป็นความต้องการพื้นฐาน เรื่องปกติที่คุยได้ ไม่น่าอาย ส่งผลให้การแปลเรื่องนี้สื่อสารออกมาเป็นท่ามืออย่างมั่นใจ ไม่อาย และกล้าที่จะแปลเรื่องนี้

        157235301217
     น.ส.ปริญาดา มาตย์มาลี นักเรียนแกนนำโครงการฯ ร.ร.โสตศึกษาจ.ชลบุรี บอกว่า เมื่อก่อนไม่มีความรู้เรื่องเพศ และใครเข้ามาคุยเรื่องนี้ก็จะไม่คุยด้วย ไม่เข้าใจเรื่องเพศ หรือเพศสัมพันธ์ แต่หลังเข้ารับการอบรมทำให้มีความรู้มากขึ้น รู้วิธีการป้องกันตนเอง และได้นำความรู้มาถ่ายทอดต่อสู่เพื่อนๆที่หูหนวก ด้วยการนำสื่อภาษามือมาประกอบ เพราะเป็นความรู้ความเข้าใจที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิจและป้องกันตนเอง เช่น รู้จักการป้องกันตนเองด้วยการใช้ถุงยางอนามัย การใช้ยาคุม เป็นต้น เพราะหลายคนไม่มีความรู้เกี่ยวกับยาคุมว่ามีกี่แบบ และใช้อย่างไร

       “การสอนเรื่องเพศให้กับเด็กหูหนวก เวลาอยู่ในโรงเรียนเพียนงแค่เด็กมีแฟนก็จะโดนครูจับผิดแล้ว จึงอยากให้ผู้ใหญ่เปิดใจเรื่องนี้ ใจดี อย่าใช้อารมณ์ตัดสินเขาก่อนด้วยการแสดงสีหน้ากราดเกรี้ยวเมื่อเขาจะพูดหรือปรึกษาเรื่องนี้ เพราะจะทำให้เขากลัวไม่กล้าเข้าหาครู”น.ส.ปริญาดากล่าว

      ในแง่ของการบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมป้องกันโรค นายศิริศักดิ์ เผือกวัฒนะ เจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 6 ระยอง กล่าวว่า การรับบริการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การรับถุงยางอนามัย หรือยาคุมกำเนิด ผู้พิการสามารถขอรับได้ที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.) กรณีที่ต้องการทำหมัน ฝังยาฝังคุมกำเนิด สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ นอกจากนี้ หากตั้งครรภ์สามารถรับบริการได้ทั้งการทำแท้งและการฝากครรภ์คุณภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

         เพราะทุกคนมีความต้องการพื้นฐานที่ไม่แตกต่าง ผู้หญิงพิการก็ควรที่จะเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับตนเองไม่แตกต่างกัน