แถลงข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

แถลงข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดแถลงข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พุทธศักราช 2562

วันนี้ (11 ต.ค.62) เวลา 09.15 น. คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดแถลงข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พุทธศักราช 2562


ณ ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ กรุงเทพฯ โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พล.ร.อ.จงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ และ พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการยุทธศาสตร์ตำรวจ ร่วมแถลงข่าว พร้อมกับมีการสาธิตการเห่เรือและการแต่งกายของฝีพายโดยกองทัพเรือ

157077807356

นายวิษณุ เครืองาม ประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร หมายถึง การชมเมือง และเป็นโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมี ซึ่งการจัดด้วยวัตถุประสงค์เช่นนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2468 สมัยรัชกาลที่ 7 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งนั้นมีการเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารคและทางชลมารคเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 8 ไม่มีการจัดพิธีบรมราชาภิเษก ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 9 มีเหตุหลายประการไม่พร้อมในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและเสด็จฯ ไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัติประเทศไทยและประทับเป็นการถาวร มีการฟื้นฟูพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ซึ่งครั้งนั้นเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคแต่ไม่ใช่การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร จึงถือว่าว่างเว้นไว้ 94 ปี และจะมีพระราชพิธีเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 24 ต.ค.62 ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ขณะนี้รัฐบาลมีความพร้อมในการจัดงานพระราชพิธีทุกด้าน

157077810055

นายจุรินทร์ กล่าวว่า พี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศจะได้มีส่วนร่วมในพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ ด้วยการเฝ้าฯ รับเสด็จตลอดสองฟากฝั่งของลำน้ำเจ้าพระยาที่ขบวนเรือจะเคลื่อนผ่าน และเฝ้าฯ รับเสด็จชื่นชมพระบารมีตลอดเส้นทางที่ขบวนจะเสด็จผ่านในทางบก จึงนับเป็นโอกาสอันดีของประชาชนคนไทย จะได้ร่วมบันทึกไว้เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาตร์ชาติไทย นับเป็นพระราชพิธีที่สืบทอดตามแบบโบราณราชประเพณีที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนในทุกเรื่อง เกี่ยวกับความเป็นมาของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การจัดขบวนเรือ ความหมายของเรือหรือบทเห่ รวมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดจุดรับเสด็จ การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การจัดรถรับ-ส่ง การดูแลด้านสุขภาพ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ได้ทางเซ็บไซต์ www.phralan.in.th และเฟซบุ๊ก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หรือไลน์ @บรมราชาภิเษก พร้อมกันนี้หากประชาชนไม่สามารถเดินทางมารับชมได้ สามารถติดตามการถ่ายทอดสดได้ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 15.15 น." รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้าน นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ส่วนแรกกรุงเทพมหานครได้เตรียมพื้นที่สำหรับประชาชน โดยประดับตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับและปรับภูมิทัศน์ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ท่าวาสุกรี ท่าราชวดิฐ สวนหลวงพระราม 8 สวนสันติชัยปราการ อีกส่วนถนนที่มีการเสด็จพระราชดำเนินผ่าน ถนนราชดำเนินตลอดเส้นทาง จุดใหญ่ไป จะมีสะพานผ่านพิภพลีลา ผ่านฟ้าลีลาศ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ คาดจะตกแต่งแล้วเสร็จภายในวันที่ 21-22 ต.ค.62 นอกจากนี้ยังมีไฟประดับบริเวณถนน สะพานพระราม 8 ถนนราชดำเนินทั้งเส้น คาดว่าแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ต.ค.62 อีกทั้งก่อนหน้านี้มีการล้างทำความสะอาดทาสีเขื่อน ราวกั้นตกแม่น้ำ จัดเตรียมผ้าระบายสีเหลืองขาวตกแต่งเพื่อความสวยงาม ธงประดับอาคารบ้านเรือน ธงโบกแจกประชาชนซึ่งทุกคนจะได้รับที่จุดคัดกรอง การจัดเก็บวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้เป็นฤดูน้ำหลากทำให้มีวัชพืชค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ ช่วงการซ้อมย่อยทั้งหมด 10 ครั้ง จึงระดมเรือท้องแบน 130 ลำ เจ้าหน้าที่ 750 คน เพื่อจัดเก็บขยะ และผักตบชวา โดยวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา เก็บได้มากถึง 227 ตัน ซึ่งวันซ้อมใหญ่จะจัดเก็บต่อไป นับตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ขณะเดียวกันจะวางแพลูกบวบเก็บขยะ เพื่อกันไม่ให้ขยะมากีดขวางขบวนเรือพระราชพิธี

มีการให้บริการรถสุขาเคลื่อนที่ รวมทั้งได้ประสานร้านค้า บ้านเรือนบริเวณนั้น โดยจะนำสติ๊กเกอร์ไปติดไว้ว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านนี้ รวมทั้งการสร้างอัฒจันทร์และพื้นยกระดมรวม 6 จุด รองรับคนได้ 17,000 คน ด้านสถานที่เฝ้าฯ รับสเด็จ แบ่งเป็นสองเส้นทางจุคนได้ประมาณ 40,000 คน เชิญชวนประชาชนสวมเสื้อสีเหลืองมาเฝ้าฯ รับเสด็จ วันที่ 24 ต.ค.นี้ พื้นที่เฝ้าฯ รับเสด็จตามบ้านเรือริมแม่น้ำจุได้ 1,000 ค

สถานที่ราชการ เช่น องค์การยูนิเซฟ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมอู่ทหารเรือ จุได้ 4,000 คน สถานที่สาธารณะ 13 จุด เช่น ใต้สะพานพระราม 8 โดยฝั่งธนบุรีจะมีการสร้างอัฒจรรย์เพื่อการรับชม ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ริมทางเดินแม่นำ้เจ้าพระยา สวนสันติชัยปราการ สวนนาคราภิรมย์ จุได้ 15,600 คน

สถานที่เอกชน ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาลศิริราชและสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา จุได้ 6,000 คน พื้นที่เฝ้าฯ รับเสด็จ ในเส้นทางจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปท่าวาสุกรี ระยะทาง 1.1 กม.อีกส่วนเป็นถนนเส้นเสด็จฯ กลับ จากถนนหน้าพระลานไปยังพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ระยะทาง 3.4 กม.จุคนได้ 10,000 คน

ส่วนวัด 6 วัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร วัดสามพระยาวรวิหาร วัดบวรมงคลราชวรวิหาร และวัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร มีจะมีพิธีเจริญชัยมงคลคาถา โดยกรุงเทพมหานครสร้างแท่นอาสนะ โต๊ะหมู่บูชาให้พระสงฆ์ประกอบพิธีทางศาสนา ในระหว่างที่เรือพระที่นั่งเคลื่อนผ่าน พร้อมกับติดตั้งจอแอลอีดี 20 จุด จำนวน 28 จอ โดยกรมประชาสัมพันธ์จะเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสดตลอดงานพระราชพิธีดังกล่าว นอกจากนี้มีการตั้งโรงครัวพระราชทานแจกอาหารและน้ำดื่ม จำนวน 7 จุด แต่ละจุดเหมือนเป็นแก้มลิงพักได้ โดย กทม.รับผิดชอบ2 จุด ฝั่งธนบุรีที่วัดอมรคีรี และฝั่งพระนครที่ริมคลองหลอดวัดราชนัดดารามวรวิหาร

157077812960

พลเรือโทจงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ กล่าวถึงการจัดขบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค ว่า กองทัพเรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดขบวนเรือพระราชพิธีในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราชท2562 โดยกองทัพเรือได้เตรียมการฝึกมาตลอด1 ปีเต็ม โดยใช้เรือพระราชพิธีทั้งหมด 52 ลำ ใช้กำลังพลฝีพายจำนวน 2,200 นาย ความยาวของขบวนเรือประมาณ 1.2 กม.และระยะทางเสด็จพระราชดำเนินจากท่าวาสุกรี ถึง ท่าราชวรดิฐ ประมาณ 3.5 กม. โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยบทเห่เรือทั้งหมด3 องก์ ได้แก่ บทสรรเสริญพระบารมี (บทใหม่) บทชมเมือง และบทชมวัง ซึ่งประพันธ์ขึ้นใหม่ โดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย


พลเรือโทจงกล มีสวัสดิ์ กล่าวถึงการฝึกซ้อมย่อยทั้ง 10 ครั้งที่ผ่านมาว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถึงแม้บางครั้งการฝึกซ้อมจะต้องเผชิญกับอุปสรรคทางธรรมชาติบ้าง แต่ก็เป็นการฝึกความแข็งแกร่งให้กับฝีพายทุกนาย และในวันเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กองทัพเรือประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน อาทิ กรุงเทพมหานคร กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยา ในการคำนวณสภาพดินฟ้าอากาศและกระแสน้ำเพื่อนำมาประมวลผล เพื่อให้ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นไปด้วยความเรียบร้อยสมพระเกียรติ

สำหรับการฝึกซ้อมใหญ่เสมือนจริงที่จะมีขึ้นในวันที่ 17และ 21 ตุลาคมนี้ พลเรือโทจงกล กล่าวว่า ฝีพายเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำจะแต่งกายเหมือนวันจริงทุกประการ จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่ามาร่วมเข้าเฝ้าฯทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี และชื่นชมความงดงามของขบวนเรืออย่างพร้อมเพรียงกัน

พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการยุทธศาสตร์ตำรวจ กล่าวว่า การอำนวยความสะดวกประชาชนในต่างจังหวัดที่จะการเดินทางเข้าร่วมงานพระราชพิธี โดยการรถไฟจัดขบวนพิเศษเพิ่มโบกี้เข้ากรุงเทพมหาราชการ โดยมีจุดบริการ 4 ทิศ ได้แก่ ทิศตะวันตก จ.นครปฐม ทิศเหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา และทิศใต้ จ.สมุทรสาคร โดยให้บริการฟรี เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ มีรถชัตเตอร์บัสบริการประชาชนเข้าพื้นที่พระราชพิธี

สถานที่จุดส่งลงชัตเตอร์บัส มี6 โซน ได้แก่

โซนที่ 1 มทร.พระนครและใต้สะพานพระราม 8ฝั่งพระนคร

โซน2 ลานจอดรถกองสลาก สนามหลวงฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และใต้สะพานพระปิ่นเกล้า (ฝั่งพระนคร)

โซน 3 แยกท่าเตียน

โซน 4 ถนนอรุณอมรินทร์ 36 (ใต้สะพานพระราม8)

โซน 5 สถานีรถไฟธนบุรี และโซน 6 วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร

1570778158100

พล.ต.ท.ไกรบุญ กล่าวต่อว่า สำหรับจุดจอดรถรอบนอกและกรุงเทพฯ ชั้นกลาง จัดเตรียมพื้นที่รวม 24 จุด รองรับได้ 26,000 คัน ทิศเหนือ เมืองทองธานี ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และสโมสรตำรวจ ทิศใต้ ลานพุทธมณฑล สาย 5 เซ็นทรัลศาลายา เซ็นทรัลพระราม 2 ร.ร.บางมดวิทยา และวิทยาลัยทองสุข ทิศตะวันออก พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เมกะบางนา อีเกียบางนา และไบเทคบางนา ทิศตะวันตก เซ็นทรัลเวสต์เกต และอาคารจอดรถบางรักน้อยท่าอิฐ ขณะที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง ประชาชนจอดรถได้ที่อู่จอดรถบรมราชชนนี สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลอาญารัชดา อาคารจอดรถไฟฟ้าใต้ดิน รัชดา ลานจอดรถไฟฟ้าใต้ดิน รัชดา สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ แอร์พอร์ตลิ้งค์มักกะสัน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 และท่าเรือคลองเตย


พล.ต.ท.ไกรบุญ กล่าวว่า ประชาชนที่จะเข้าชมขบวนเรือจะต้องใช้บัตรประชาชนเพื่อผ่านจุดคัดกรอง รวม 19 จุดคัดกรอง ได้แก่ มทร.พระนคร ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งพระนคร พิพิธบางลำพู ทางเข้าม.ธรรมศาสตร์ พระแม่ธรณีบีบมวยผม สนามหลวง ด้านม.ธรรมศาสตร์ สนามหลวงด้านศาลฎีกา ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร ท่ามหาราช ท่าช้าง แยกท่าเตียน หน้าวังสราญรมย์ ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี ทางเข้าท่ารถไฟ อุทยานสถานพิมุข ท่าเรือวังหลัง หน้าวัดระฆังโฆษิตาราม หน้าวัดกัลยาณมิตร วรวิหาร นอกจากนี้ ยังมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 120 ชุด กระจายตามพื้นที่ต่างๆ และจุดบริการทางแพทย์ 35 จุด จัดบริการในแต่ละพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนให้มากที่สุด

157077856942