เศรษฐีฮ่องกงแห่ซื้ออสังหาฯต่างแดนแลกสิทธิพลเมือง

เศรษฐีฮ่องกงแห่ซื้ออสังหาฯต่างแดนแลกสิทธิพลเมือง

ความวุ่นวายทางการเมืองในฮ่องกงที่นอกจากจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของเกาะนี้แล้ว ยังทำให้ชาวฮ่องกงที่มีฐานะเริ่มหาทางย้ายถิ่นพำนักไปประเทศอื่น แต่เพื่อให้ได้วีซ่าพำนักในต่างประเทศแบบถาวร เศรษฐีทั้งหลายเลือกใช้วิธีเข้าไปลงทุนอสังหาริมทรัพย์

สื่อดังของฮ่องกงอย่างเซาท์ไชนา มอร์นิง โพสต์ รายงานว่า สถานการณ์ความไม่สงบในฮ่องกงทำให้มีชาวฮ่องกงจำนวนมากมีความคิดว่าอยากจะย้ายประเทศ โดยเฉพาะคนรวยในฮ่องกง บางคนอาจไม่ได้ต้องการเปลี่ยนสัญชาติหรือย้ายออกจากฮ่องกงแบบถาวร แต่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศต่างๆ ถือเป็นใบเบิกทางที่ดีสำหรับการขอวีซ่าแบบพำนักถาวร หรือแม้แต่การขอสัญชาติในประเทศนั้นๆ

จอห์น ฮู ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาเรื่องการย้ายถิ่นฐานเล่าว่า บ้าน ถือเป็น วีซ่าทอง ด้วยเหตุนี้หลายประเทศจึงพยายามดึงดูดนักลงทุนชาวฮ่องกงที่ต้องการหาแผนสำรองในชีวิต และชาวฮ่องกงที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งพอ สามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รับเงินค่าเช่า และยังมีทางเลือกว่าในอนาคตอาจย้ายไปอยู่อย่างถาวรได้ด้วย

ทุกวันนี้ มีอย่างน้อย 20 ประเทศและเขตการปกครอง ที่ให้สัญชาติ หรือวีซ่าพำนักถาวรแก่นักลงทุน แต่เงื่อนไขของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป และการเข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะได้พาสปอร์ตของประเทศนั้นทันที ซึ่งประเทศที่ชาวฮ่องกงสนใจจะไปลงทุนมากที่สุด คือ ไอร์แลนด์และโปรตุเกส

ผู้ที่จะได้รับสัญชาติจะต้องผ่านการทดสอบด้านภาษา ยกเว้นไซปรัสและบัลแกเรีย ที่ไม่ต้องผ่านการสอบด้านภาษา และมีบางประเทศ ระบุว่า ชาวต่างชาติที่ต้องการขอสัญชาติจะต้องอาศัยอยู่ในประเทศนั้นไม่ต่ำกว่าระยะที่กำหนด เช่น ไอร์แลนด์ กำหนดว่าจะต้องอาศัยอยู่ที่นั่นอย่างน้อย 1 วันต่อปี เพื่อที่จะรักษาสถานะวีซ่าพำนักถาวร

ส่วนอังกฤษ กำหนดว่าจะต้องอาศัยอยู่ในอังกฤษมากกว่า 50% ในช่วง 5 ปีแรกก่อนจะยื่นเรื่องของพำนักถาวร และสหรัฐ กำหนดว่าจะต้องอยู่นานกว่า 5 ปีถึงจะยื่นขอสถานะพลเมือง และจะต้องไม่ออกจากสหรัฐติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 6 เดือนเพื่อรักษาสถานะนี้ไว้

อเล็กซานเดอร์ วอก์น ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลูคัส ฟ็อกส์ บอกว่า ชาวฮ่องกงอยากอยู่ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) เพราะเดินทางภายในยุโรปได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า และยังส่งลูกหลานเรียนในระบบการศึกษาของยุโรปที่มีมาตรฐานสูงได้ด้วย โดยกรีซ เป็นอีกประเทศที่ชาวฮ่องกงสนใจ เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์ขั้นต่ำถูกกว่าหลายประเทศ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 250,000 ยูโร ทั้งยังไม่มีกำหนดว่าจะต้องอยู่ในประเทศนานเท่าไหร่ เพื่อรักษาสถานะการพำนักถาวร แต่หากจะยื่นขอสัญชาติ บุคคลนั้นต้องอยู่ในกรีซเกิน 7 ปี และผ่านการทดสอบด้านภาษา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอังกฤษขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้สถานะพำนักถาวรและให้สัญชาติยากประเทศหนึ่ง และมีกำหนดการลงทุนขั้นต่ำที่ 2 ล้านปอนด์ แต่คนฮ่องกง ที่มีฐานะดีจำนวนมากก็สนใจที่จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษมาก และถึงแม้ว่า ขณะนี้อังกฤษจะเผชิญวิกฤตเบร็กซิท แต่คนฮ่องกงมองว่า อังกฤษเป็นประเทศที่น่าอยู่ เหมาะที่จะเข้าไปลงทุน และเหมาะที่จะส่งลูกหลานมาเรียน เนื่องจากอังกฤษมีสถาบันการศึกษาที่ยอดเยี่ยมหลายแห่ง เป็นโอกาสที่ดีของลูกหลานที่จะมีอนาคตที่ดี

จอร์จ ชมีล ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)จูไวดอทคอม ให้ความเห็นวว่า ชาวฮ่องกงจำนวนมากพยายามขอวีซ่าทอง โดยไตรมาสแรกของปีนี้ มีชาวฮ่องกงประมาณ 5% ที่ขอวีซ่าทอง ก่อนที่สัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 10% ในไตรมาสที่ 2 และมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อนาคตของฮ่องกงขึ้นอยู่กับจีนแผ่นดินใหญ่ แม้จะใช้นโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ แต่ฮ่องกง ซึ่งเป็นแค่เมืองอันดับ 2 และสถานะเริ่มลดความสำคัญลงเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นประตูไปสู่การค้าและการลงทุนในจีน ขณะนี้ นักลงทุนพากันไปลงทุนโดยตรงที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น หรือเมืองอันดับ 2 หรือ 3 อย่างต้าเหลียน ซูโจวและซูไห่ ส่วนตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ยังตามหลังเสิ่นเจิ้น และถ้าการประท้วงทำให้ฮ่องกงตกต่ำถึงขีดสุด จีน ก็จะปล่อยให้ฮ่องกงเหลือแต่เถ้าถ่านแล้วจึงค่อยกลับมาบูรณะเกาะนี้ขึ้นมาใหม่ หลังจากปี 2590

ขณะที่บรรดานักวิชาการจีนส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า การประท้วงในฮ่องกงที่ถูกผลักดันด้วยความคิดผิดๆ ว่าเหนือกว่าไม่สามารถยั่วยุให้ผู้นำจีนตอบโต้ด้วยความรุนแรงอย่างที่คิดได้ และรัฐบาลจีน ไม่มีเหตุผลที่ต้องกลัวการประท้วงบานปลาย เพราะชาวจีนแผ่นดินใหญ่ยังเชื่อมั่นในรัฐบาลและมองอนาคตในแง่ดี ส่วนคนฮ่องกง ถูกมองว่าดูหมื่นดูแคลนจีนแผ่นดินใหญ่ และประชาชน เพราะภูมิใจที่มีรายได้สูงกว่าและยังผูกพันกับอดีตเจ้าอาณานิคม อยากจะเป็นคนอังกฤษมากกว่าจีน