สั่งผู้ช่วยผบ.ตร. เร่งแก้ปัญหาพงส.ทำอัตวินิบาตกรรม4ราย

สั่งผู้ช่วยผบ.ตร. เร่งแก้ปัญหาพงส.ทำอัตวินิบาตกรรม4ราย

"จักรทิพย์" สั่งผู้ช่วยผบ.ตร.เร่งสำรวจและแก้ไขปัญหา "พนักงานสอบสวน" ทำอัตวินิบาตกรรม พร้อมเปิดโอกาสให้สมัครใจโยกย้ายไปในสายงานที่ถนัดได้

จากกรณีการทำอัตวินิบาตกรรมของพนักงานสอบสวน ช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา คือ 1.ร.ต.อ.พิเชษฐ์ สุชาติพงษ์ รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรมาบอำมฤต จังหวัดชุมพร , 2.ร.ต.อ.สุรศักดิ์ สุวรรณศักดิ์ รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ , 3.ร.ต.อ.ทรงศักดิ์ ใจฉกรรจ์ รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมืองสิงห์บุรี ที่กำลังอบรมหลักสูตรวิชาชีพงานสอบสวน และ 4.ร.ต.อ.สุพจน์ สุขเกษม รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดช่วงเช้าที่ผ่านมา (23 กันยายน) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชานิ(ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยถึงเหตุการณ์พนักงานสอบสวนทำอัตวินิบาตกรรม ว่า ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ฝากแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิต จากปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้มีการสำรวจอัตรากำลังของพนักงานสอบสวน พบว่า ตำรวจมีอัตราพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ 17,500 ราย แบ่งเป็นพนักงานสอบสวนชาย 11,000 ราย พนักงานสอบสวนหญิง 550 ราย มีตำแหน่งที่ว่าง 5,900 กว่าราย ในการแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนที่เกิดขึ้น ปริมาณงานที่อาจจะล้นมือ หรือการแต่งตั้งที่ผิดฝั่งผิดฝา เอาบุคคลที่ไม่มีความชำนาญมาปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว ทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้สั่งการไปยัง พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และได้กำหนดกรอบการแก้ไขปัญหาในด้านนี้ออกเป็น 3 มิติ

คือ 1.การแต่งตั้งในรอบ รอง ผบก.-สว. วาระประจำปี 2562 ที่จะถึงนี้ ก็เปิดโอกาสให้ข้าราชการตำรวจที่มีความประสงค์ขอย้ายกลับภูมิลำเนา หรือขอย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่ตนเองคิดว่าน่าจะมีความถนัดมากกว่า ก็สามารถทำเรื่องสมัครใจขอย้ายได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาในลำดับต่อไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกท่านที่ขอมาจะได้รับการตอบสนองทุกคน การบริหารงานผู้ที่มีหน้าที่แต่งตั้ง หรือผู้บังคับบัญชาต้องไปดูอัตราส่วนที่มีความเหมาะสมด้วย

2.มีการสำรวจผู้ที่จบ นรต. หรือผู้ที่จบปริญญาตรี มีคุณวุฒิทางด้านกฎหมาย สามารถไปดำรงตำแหน่งที่ทำหน้าที่สอบสวนได้ โดยจะมีการสอบถามความสมัครใจ เพื่อแต่งตั้งไปลงตำแหน่งดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาทราบว่าการสอบสวนเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะฉะนั้นจะมีการแต่งตั้งเพื่อที่ทำให้เกิดความยุติธรรมให้มากที่สุด

และ3.การเพิ่มเจ้าหน้าที่ธุรการทางคดี หรือผู้ช่วยพนักงานสอบสวน เพื่อช่วยงานพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ การกำหนดเงินค่า ตำแหน่งที่ทำหน้าที่สอบสวน เราได้ให้ตามที่พึงมีพึงได้ การกำหนดเงินเพิ่ม สำหรับรองสารวัตร ได้รับเพิ่ม 1,2000 บาท ตำแหน่งสารวัตร ได้รับ 14,400 บาท ตำแหน่งรองผู้กำกับการ ได้เงินเพิ่ม 17,300 บาท ตำแหน่งผู้กำกับการ ได้เงินเพิ่ม 20,800 บาท ตำแหน่งรองผู้บังคับการ ได้เงินเพิ่ม 25,000 บาท ก็ถือว่าเป็นเงินเพิ่มผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสายสอบสวน เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า สำหรับสาเหตุการทำอัตวินิบากรรมของพนักงานสอบสวนที่เกิดขึ้นนั้น หากบอกว่าเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในสายสอบสวนคงไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด ก็มีหลายท่านที่เคยผ่านงานสอบสวนมาก็บอกว่าไม่ได้แย่อย่างที่คิด มันขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเวลาของ ตนเอง เมื่อไปดูภูมิหลังของแต่ละบุคคล มักไม่ใช่งานสอบสวนเป็นหลัก บางรายอาจจะมีโรคประจำตัว โรคซึมเศร้า หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาส่วนตัวได้ ซึ่งต้องให้ผู้ใกล้ชิด รวมถึง ผู้บังคับบัญชาคอยดูแลในลักษณะพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิดด้วย

พ.ต.อ.กฤษณะ ยังกล่าวอีกว่า การแต่งตั้งโยกย้ายในแต่ละปีต้องยอมรับว่า ผู้ที่ทำหน้าที่แต่งตั้งคงไม่สามารถตอบสนองได้ทุกราย การแต่งตั้งก็ต้องมองในภาพรวมว่า ในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากร 2 แสนกว่าคน การแต่งตั้งคงไม่สามารถทำตามใจผู้ที่มีความประสงค์ได้ทั้งหมด แต่ต้องดูในภาพรวมว่าจะต้องเอาคนกลุ่มนี้ไปวางในกลุ่มไหน สายงานใด และฝ่ายที่กรองอัตรากำลังก็ต้องวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด ว่าการเจริญเติบโตในอนาคตของกลุ่มคนสายงานเหล่านี้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการวิจารณ์ว่า การยุบแท่งพนักงานสอบสวน ทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายหรือไม่ พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า การขยายงานสายหนึ่ง และยุบงานสายหนึ่ง ก็คงเป็นนโยบายของผู้บังคับบัญชาในยุคนั้นๆ คงมีการผ่านกระบวนการ ผ่านการกลั่นกรองมาพอสมควรแล้ว จึงตกผลึกว่าในยุคใด ห้วงเวลาใดมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร