สองมือหญิงฟื้นโลกภาพยนตร์อัฟกานิสถาน

สองมือหญิงฟื้นโลกภาพยนตร์อัฟกานิสถาน

ที่สำนักงานในกรุงคาบูล สารคดีสำคัญหลายเรื่องถูกทิ้งลงถังขยะ ทีมงานชายล้วนที่บางคนเคยซุกซ่อนฟิล์มอันทรงคุณค่าให้รอดพ้นเงื้อมมือตาลีบัน บัดนี้กลับทำงานอย่างเงื่องหงอยไร้แรงจูงใจ

วงการภาพยนตร์อัฟกานิสถาน ไม่แตกต่างจากหลายประเทศที่เคยผ่านยุครุ่งเรือง และต้องล่มสลายด้วยการปกครองในระบอบเผด็จการ คลั่งศาสนา ปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้พบกับความบันเทิง แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งที่รับหน้าที่นำความเรืองรองของภาพยนตร์ให้ฟื้นคืนมา

ณ สำนักงานคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติอัฟกานิสถานที่เก่าคร่ำคร่า ม้วนฟิล์มเก่าวางซ้อนกันในถังสนิมเขรอะ ซาห์รา คาริมี รับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน นำทัพทีมงานชายทั้งหมดที่เธอหวังว่าจะช่วยนำอุตสาหกรรมภาพยนตร์อัฟกานิสถานพ้นจากฝันร้ายแห่งตาลีบัน

“เป็นตำแหน่งที่ยากมากๆ ฉันมาอยู่ในออฟฟิศที่ถูกทำลายจนแทบไม่เหลืออะไร ฉันต้องสร้างใหม่ทั้งหมด” คาริมี ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงวัย 36 ปีกล่าว ผลงานเรื่อง“Hava, Maryam, Ayesha” ที่กล่าวถึงเรื่องราวของผู้หญิง เพิ่งฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิสไปเมื่อไม่กี่วันก่อน

ย้อนกลับไปช่วงวันชื่นคืนสุขในทศวรรษ 70 อุตสาหกรรมภาพยนตร์อัฟกานิสถานรุ่งเรืองมาก ผลิตภาพยนตร์มากมายหลายเรื่อง รวมทั้งผลงานดัง“Mardha Ra Qawl Ast” (ผู้ชายรักษาสัญญา) เนื้อหาเน้นเรื่องรัก โรแมนติก และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

แต่ทุกอย่างยุติเมื่อสหภาพโซเวียตเข้ารุกรานในปี 2522 ผู้สร้างถูกบังคับให้ทำภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ ครั้นตาลีบันเข้ามาปกครองระหว่างปี 2539-2544 ก็ยิ่งหนักข้อ สั่งห้ามผลิตภาพยนตร์และดนตรี กลุ่มสุดโต่งตั้งใจทำลายฟิล์มภาพยนตร์และเทปเพลง ทุบเครื่องรับโทรทัศน์ จับคนดูภาพยนตร์ไปลงโทษอย่างรุนแรง รวมทั้งถูกเฆี่ยน

เมื่อตาลีบันถูกโค่น คณะกรรมการภาพยนตร์อัฟกานิสถานที่เคยรุ่งเรืองก็กลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่เข้มแข็งเหมือนเก่า ส่วนใหญ่ถูกมองข้ามผู้กำกับและผู้นำหลายคนมองว่า คณะกรรมการไร้สมรรถภาพ

ที่สำนักงานในกรุงคาบูล สารคดีสำคัญหลายเรื่องถูกทิ้งลงถังขยะ ทีมงานชายล้วนที่บางคนเคยซุกซ่อนฟิล์มอันทรงคุณค่าให้รอดพ้นเงื้อมมือตาลีบัน บัดนี้กลับทำงานอย่างเงื่องหงอยไร้แรงจูงใจ

“เป็นงานที่ท้าทายมากเลยล่ะ แต่ฉันไม่ใช่คนชอบความท้าทาย” คาริมีเล่าถึงบทบาทของเธอในการเริ่มต้นเทศกาลภาพยนตร์อัฟกานิสถานเมื่อเดือน พ.ค. เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นมากุมบังเหียนสำนักงานคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ

ตั้งแต่รับตำแหน่งคาริมีผลักดันหลายโครงการ หวังนำอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เคยคึกคักของอัฟกานิสถานให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

หนึ่งในนั้นคือเทศกาลภาพยนตร์อัฟกานิสถานครั้งแรก ฉายภาพยนตร์ทั่วไปและภาพยนตร์สารคดี รวมทั้งผลงานของอัฟกานิสถานรวมราว 100 เรื่อง ในโรงภาพยนตร์ 4 แห่งทั่วกรุงคาบูลตลอด 10 วัน

เทศกาลเปิดโอกาสให้ชาวอัฟกันหลายร้อยคน ได้ชมผลงานคลาสสิกของประเทศ หลายคนเพิ่งเคยชมภาพยนตร์ครั้งแรกด้วยซ้ำ

“การจัดเทศกาลภาพยนตร์เป็นความคิดสุดยอด โรงภาพยนตร์ถูกปิดมานานแล้ว ไม่มีการสร้างผลงานดีๆ ออกมาเลย” อติฟา เอสซารี ผู้ร่วมเทศกาล วัย 21 ปี เผยความรู้สึก

“เราไม่รู้จักผู้สร้างของเรา เพราะส่วนใหญ่อยู่เมืองนอก การได้ชมภาพยนตร์อัฟกันในอัฟกานิสถานจึงเจ๋งมาก”

นอกจากนี้งานเทศกาลยังรวบรวมฟุตเทจภาพยนตร์และสารคดีที่ยังไม่ถูกทำลายความยาวหลายร้อยชั่วโมงเข้าสู่ระบบดิจิทัล

คาริมี ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านภาพยนตร์ เผยว่า คณะกรรมการภาพยนตร์จะต้องมีบทบาทนำในการปลุกชีพภาพยนตร์อัฟกานิสถาน

“ฉันบอกพวกเขาว่า พวกคุณไม่จำเป็นต้องนั่งในออฟฟิศตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น คุณควรออกไปข้างนอก ไปนั่งใต้ต้นไม้ ไปนั่งคุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ไอเดียบรรเจิด”

ผู้กำกับรายนี้เปิดร้านกาแฟขึ้นที่สนามหญ้าหน้าสำนักงาน เพื่อใช้เป็นที่ระดมสมองทีมงานให้คนอื่นดูเป็นตัวอย่าง

ภาพยนตร์ของคาริมีที่ไปฉายที่เวนิส ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงอัฟกัน 3 คน ผู้มีภูมิหลังแตกต่างหลากหลาย ต้องเผชิญกับทางเลือกอันยากลำบากได้รับคำชมเชยจากแองเจลินา โจลี ตัวแม่แห่งฮอลลีวูด

กระนั้น ชาวอัฟกันไม่ว่าในกรุงคาบูลหรือที่อื่นๆ หลายคนยังไม่กล้าเสพเสรีภาพที่เคยเป็นเรื่องต้องห้ามมานาน

ชาวอัฟกันหลายคนถูกหว่านล้อมให้เชื่อว่า ตาลีบันจะกลับมามีอำนาจอีก

“พวกเขาจะกลับมา แต่เราไม่ยอมแพ้ เราจะสู้” คาริมีให้คำมั่นถึงจุดมุ่งหมายเพื่อภาพยนตร์อัฟกานิสถาน