‘สหรัฐ-จีน’ ฟื้นเจรจาเทรดวอร์

‘สหรัฐ-จีน’ ฟื้นเจรจาเทรดวอร์

แต่สิ่งที่ทรัมป์เคืองมากคือจีนไม่ยอมซื้อสินค้าเกษตรตามที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงรับปากไว้

หมางเมินกันมาระยะหนึ่งก็ถึงคราวที่สหรัฐและจีนต้องเจรจาการค้าระดับผู้ช่วยในวันที่ 12-13 ก.ย. เป็นการพบหน้าค่าตากันครั้งแรกในรอบเกือบ 2 เดือน เพื่อหาทางประสานจุดต่างหาทางออกให้กับสงครามการค้า

การเจรจาที่กรุงวอชิงตันรอบนี้ตั้งเป้าวางกรอบให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้เจรจากันต่อช่วงต้นเดือน ต.ค. เพื่อหาข้อสรุปว่า สองประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกจะเดินหน้าแก้ปัญหาสงครามการค้าหรือไม่ หรือจะเก็บภาษีกันต่อไป

“เหลี่ยวหมิน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจีน นำทัพเจ้าหน้าที่จีนราว 30 ชีวิต มาที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ใกล้กับทำเนียบขาว โดยเจฟฟรีย์ เกอร์ริช ผู้ช่วยยูเอสทีอาร์รอท่าอยู่แล้ว เริ่มต้นเจรจากันในเช้าวันพฤหัสบดี (19 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น เน้นหนักไปที่ภาคเกษตร รวมทั้งข้อเรียกร้องจากสหรัฐที่ต้องการให้จีนซื้อถั่วเหลืองและสินค้าเกษตรอื่นๆ จากสหรัฐให้มากขึ้น

ทั้ง 2 วันหารือกันเรื่องสินค้าเกษตร 2 รอบ มีเพียงรอบเดียวเท่านั้นที่มุ่งเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงเนื้อความ เพื่อให้จีนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเลิกบีบให้บริษัทสหรัฐถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับบริษัทจีน

แหล่งข่าวเผยว่า วาระว่าด้วยสินค้าเกษตรได้เวลาไปมาก โดยวาระหนึ่งเน้นไปที่ข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้จีนลดการส่งออกเฟนทานิล ยาในกลุ่มโอปิออยด์สังเคราะห์มายังสหรัฐ

ทรัมป์นั้นต้องการได้โอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรมาเอาใจเกษตรกร หนึ่งในฐานเสียงสำคัญที่ตอนนี้กำลังรับศึกหนักจากการที่จีนเก็บภาษีตอบโต้กับถั่วเหลืองและสินค้าเกษตรอื่นๆ ของสหรัฐ

ส่วนประเด็นค่าเงินก็นำมาเจรจากันด้วย ตามที่สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เคยเคียงข้างโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ รัฐมนตรีคลัง เจรจากับรองนายกรัฐมนตรีหลิวเหอ กล่าวว่า การเจรจารอบใหม่จะเน้นเรื่องค่าเงินด้วย

เดือนที่แล้วมนูชินถึงกับประกาศอย่างเป็นทางการว่าจีนเป็นประเทศปั่นค่าเงิน หลังจากเงินหยวนร่วงลงต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ มนูชินอ้างว่า รัฐบาลปักกิ่งอ่อนค่าเงินหยวนเพื่อให้ทำการค้าได้เปรียบ

แต่สิ่งที่ทรัมป์เคืองมากคือจีนไม่ยอมซื้อสินค้าเกษตรตามที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงรับปากไว้ตอนการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศจี 20 ที่นครโอซากาของญี่ปุ่น ที่ตอนนั้นทั้งสองฝ่ายต่างมีท่าทีเป็นมิตร อยากกลับมาเจรจากันอีกครั้งหนึ่ง แต่จีนปฏิเสธว่าไม่เคยรับปากอย่างที่ทรัมป์พูด

เมื่อจีนไม่ยอมซื้อสินค้าเกษตรตอนที่เจรจากันช่วงปลายเดือน ก.ค. ทรัมป์จึงรีบเก็บภาษี 10% จากสินค้าจีนที่เหลือทันที แต่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายเมื่อสัปดาห์ก่อน เมื่อผู้นำสหรัฐชะลอเก็บภาษีสินค้าจีนวงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ออกไปจากวันที่ 1 ต.ค. เป็น 15 ต.ค.จีนก็เลื่อนเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ ทั้งยารักษามะเร็ง ส่วนผสมอาหารสัตว์ และน้ำมันหล่อลื่นออกไปเช่นกัน

นอกจากนี้จีนยังต้องการให้สหรัฐผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรที่มีกับหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ที่ตอนนี้ถูกห้ามไม่ให้ซื้อสินค้าเทคโนโลยีอ่อนไหวส่วนใหญ่ของสหรัฐแล้ว

ตอนนี้สงครามการค้ายืดเยื้อมาถึง 14 เดือนแล้ว สั่นสะเทือนตลาดเงินทั่วโลก ผู้กำหนดนโยบายและนักลงทุนต่างหวั่นเกรงว่า ความขัดแย้งนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลงเป็นวงกว้าง

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอยกระตุ้นให้ธนาคารกลางทั่วโลก ผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) ธนาคากลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ระบุ เพื่อรองรับความเสี่ยงนานัปการที่ดำเนินอยู่ เช่น เศรษฐกิจโลกซบเซา และความตึงเครียดทางการค้าที่หวนกลับมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างสองยักษ์ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ทั้งในรัฐบาลวอชิงตันและปักกิ่ง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้การเจรจาในเดือน ก.ย.และต.ค.จะก่อให้เกิดข้อตกลงชั่วคราว ที่รวมถึงการซื้อสินค้าเกษตร และรามือกับหัวเว่ย แต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเคลื่อนเข้าสู่สมรภูมิการเมืองและอุดมการณ์ไปแล้วร้าวลึกยิ่งกว่าการเก็บภาษี และอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะแก้ไขได้

จอน ลีเบอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายภาษี บริษัทไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ กล่าวว่า ข้อตกลงชั่วคราวที่จะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค. แก้ไขความแตกต่างในหลักการของทั้งสองประเทศได้เพียงเล็กน้อย ถ้าจะให้ตลาดเชื่อมั่น สหรัฐและจีนต้องคุยกันอีกหลายรอบถึงแนวโน้มในระยะยาว

เควิน เบรดี ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน กล่าวเมื่อวันพุธว่า เขาไม่ค่อยมีความหวังกับการเจรจามากนัก แม้เขาไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษี แต่ทรัมป์ทำถูกแล้วที่ท้าทายวิธีการทำการค้าของจีนเสียบ้าง

“ภาษีเป็นศูนย์ดีที่สุดอยู่แล้ว แต่ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนปลงความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนในภาพรวมด้วย”

หลักฐานความเสียหายจากสงครามการค้าเห็นได้จาก หลายสำนักและหลายสถาบันต่างพากันปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ประจำปี 2562 และ 2563 ล่าสุดวานนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้จาก 3.2% เหลือ 2.9% ส่วนปี 2563 ลดจาก 3.4% เหลือ 3.0%

“ตัวเลขเหล่านี้คืออัตราการเติบโตรายปีที่ซบเซาที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงิน ขณะที่ความเสี่ยงขาลงยังพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ” โออีซีดีระบุ

แนวโน้มการเติบโตเกือบทุกประเทศในกลุ่มจี 20 ถูกปรับลด โดยเฉพาะประเทศที่ต้องเจอกับการค้าการลงทุนโลกถดถอย

“นโยบายการค้าตึงเครียดบานปลายส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนมากขึ้นทุกที ผนวกกับความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ล้วนมีผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดเงินและแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต”

โออีซีดีคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต 2.4% ลดลง 0.4% จากที่เคยคาดไว้ในเดือน พ.ค. และซบเซาลงอย่างมากจาก 2.9% ในปี 2561 ส่วนในปี 2563 โออีซีดีปรับลดคาดการณ์ลงอีกเหลือ 2.0%

ส่วนจีนก็อ่อนแรงลงเช่นกัน จีดีพีปีนี้น่าจะลดลงมาอยู่ที่ 6.1% หรือลดลง 0.1% จากที่เคยคาดไว้ ในปี 2563 คาดการณ์ไว้ที่ 5.7% ลดลงจากเดิม 0.3%

“ตอนนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ยุติการเก็บภาษีและการอุดหนุน ฟื้นฟูระบบที่โปร่งใสมีกฎเกณฑ์คาดการณ์ได้ ที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากภาคธุรกิจ” นี่คือเสียงเตือนจากโออีซีดี